เฟซบุ๊กขยับใหญ่สู่ “เมตาเวิร์ส” แนะธุรกิจปรับตัวรับโอกาสใหม่โลกเสมือน

พลันที่เจ้าพ่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” แห่งเฟซบุ๊กพูดถึงวิสัยทัศน์ใหม่ที่จะมุ่งไปสู่ “เมตาเวิร์ส” พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “เมตา” (Meta) เมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้งคำ และความเกี่ยวกับ “เมตาเวิร์ส” ก็ฮอตขึ้นมาทันที

ในมุมมองของเจ้าพ่อเฟซบุ๊ก เมตาเวิร์สคือยุคต่อไปของการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือที่จะมอบประสบการณ์การใช้โซเชียลมีเดียในปัจจุบันในรูปแบบไฮบริด

โดยจะเป็นการขยายประสบการณ์สู่รูปแบบสามมิติหรือมีการแสดงภาพสู่โลกแห่งความจริงที่เปิดโอกาสให้ผู้คนแชร์ประสบการณ์โลกเสมือนจริงแก่ผู้อื่นได้แม้ในขณะที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน รวมไปถึงการทำกิจกรรมที่ไม่สามารถทำร่วมกันในโลกความจริงได้

นับแต่นั้นถนนทุกสายก็เริ่มเบนเข็ม-ปรับทิศไปยังธุรกิจในโลกเสมือนจริง

ย้ำจุดเปลี่ยนโลกโซเชียล

“แพร ดํารงค์มงคลกุล” Country Director ของ Facebook ประเทศไทย ขยายความว่า โลกเทคโนโลยีมักมีจุดเปลี่ยนสำคัญ ๆ ทุก 5-10 ปี เช่นกันกับการมาถึง “เมตาเวิร์ส” ที่จะทรานส์ฟอร์มโลกไปสู่สิ่งใหม่ เป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของเทคโนโลยี “โซเชียล”

ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบริษัทในฐานะบริษัทด้านโซเชียล ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มประสบการณ์การเชื่อมต่อ สร้างพื้นที่ในชุมชนบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก, ไอจี, เมสเซนเจอร์ ภายใต้แนวคิดที่จะพัฒนาคอร์โปรดักต์อย่างต่อเนื่อง และวางพื้นฐานเมตาเวิร์สที่จะเป็นแพลตฟอร์มในอนาคตด้วย

“เมตา” คือการรวบรวมแอปพลิเคชั่นในเครือเฟซบุ๊กให้มาอยู่รวมกันภายใต้ชื่อใหม่ของบริษัท เพื่อผลักดัน “เมตาเวิร์ส” ไปสู่การใช้งานในชีวิตจริง ภายใต้พันธกิจที่มุ่งช่วยเหลือผู้คนให้เชื่อมต่อและผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้ดีขึ้น

“เมตา” มาจากภาษากรีก แปลว่า “บียอนด์” ผลักดันให้บริษัทก้าวข้ามไปอีกขั้นของเทคโนโลยีสู่โอกาสในอนาคต สะท้อนถึงสิ่งที่กำลังจะเดินไป และอนาคตที่กำลังจะสร้างขึ้น

เฟซบุ๊กเป็นชื่อเหมือนฮีโร่โปรดักต์ คือเฟซบุ๊กแอปพลิเคชั่น แต่หลังเปิดมาเกือบ 20 ปี และเป็นมากกว่าหนึ่งแบรนด์ หรือหนึ่งแอปพลิเคชั่น ใน “เมตา” จะมีส่วนประกอบต่าง ๆ รวมไปถึง “เวอร์ชวลแพลตฟอร์ม” ที่มีอยู่แล้วก็จะเป็นแพลตฟอร์มบนแบรนด์ “ฮอไรซั่น” (Horizon)

“การจะอินทิเกรตกับเฟซบุ๊ก, ไอจี จะเป็นการสร้างสะพานเชื่อม เช่น ถ้าอยากชวนเพื่อนเข้ามาดูโลกของเราก็อาจโทร.ผ่านวิดีโอคอล เมตากับเมสเซนเจอร์หรือดูฟีดอยู่แล้วไปเจอร้านค้าที่ชอบบนมือถือก็จะมีวิธีพอร์ตเข้าสู่ร้านนั้นแบบอิมเมอร์ซีฟ 3 มิติ หรือเออาร์ขึ้นมาในบ้านของเรา เป็นต้น”

อันที่จริงคอนเซ็ปต์ของ “เมตาเวิร์ส” จะคล้าย “อินเทอร์เน็ต” คือการคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีการเชื่อมต่อกันมากที่สุด สิ่งสำคัญจึงต้องเริ่มจากโครงสร้างพื้นฐานที่ต้อง “โอเพ่น” ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบนอุปกรณ์ เทคโนโลยีใดเพื่อให้ทุกคน-ทุกแพลตฟอร์มเชื่อมต่อกันได้

เดินหน้า 4 ภารกิจคู่ขนาน

อย่างไรก็ตาม “แพร” บอกว่า การสร้าง “เมตาเวิร์ส” อย่างมีความรับผิดชอบจะต้องรับมือกับความท้าทาย และการแก้ไขในประเด็นต่าง ๆ โดยจะมุ่งใน 4 ด้าน คือ 1.ด้านความปลอดภัย และการรักษาความเป็นส่วนตัว (ดาต้าไพรเวซี) 2.สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ 3.การช่วยเหลือธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ไอจี และเมสเซนเจอร์ และ 4.เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างสังคมที่ดี

แม้ “เมตาเวิร์ส” จะเป็นการสร้างประสบการณ์ในโลกเสมือนก้าวข้ามข้อจำกัดด้านกายภาพ เช่น ในไทยมีการนำเออาร์ (AR), แมชีนเลิร์นนิ่งมาเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงของกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มผู้พิการ

“เมตาเวิร์สไม่ได้สร้างขึ้นได้โดยบริษัทเดียว แต่มีความหลากหลาย ทั้งคอนเทนต์ครีเอเตอร์, ผู้ผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆที่มาร่วมสร้างประสบการณ์ใหม่ เราอยากเห็นเมตาเชื่อมต่อและทำงานกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ เป็นโอเพ่นแพลตฟอร์ม ที่จะเข้ามาปลดล็อกครีเอทีฟอีโคโนมี และดิจิทัลอีโคโนมีไปสู่สเกลที่ใหญ่ขึ้น”

“แพร” ย้ำว่า สิ่งที่ต้องทำคือการสร้าง“อินฟราสตรักเจอร์” โดยร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชน ทั้งในเรื่องการกำหนดนโยบาย และการสร้างโอกาสทางธุรกิจ

“เราลงทุนกว่าหมื่นล้านเหรียญใน Reality Labs สร้างเทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และอีกกว่า 50 ล้านเหรียญ ทำวิจัย และโครงการต่าง ๆ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ นักวิชาการ และอุตสาหกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงและพัฒนางานให้ถูกต้อง และปลอดภัยตั้งแต่แรกเริ่ม รวมถึงด้านไพรเวซี่ โดยในเอเชียเราทำงานกับมหา’ลัยทั้งในฮ่องกง, สิงคโปร์ และโซล”

“เอเชีย-ไทย” เปิดรับสิ่งใหม่

หากขยับมายังประเทศไทย “ผู้บริหาร” เมตาบอกว่า ที่ผ่านมาภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยเปิดรับการใช้เทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การก้าวเข้าสู่“เมตาเวิร์ส” จึงไม่ไกลเกินเอื้อม ดังจะเห็นหลายธุรกิจ ๆ เปิดรับการนำเทคโนโลยีเออาร์, วีอาร์ สร้างประสบการณ์เสมือนจริง ซึ่งเดิมจำกัดในวงการเกม แต่ปัจจุบันมีหลากหลายขึ้นมาก

“เรากำลังสร้างสะพานเชื่อมจากสองมิติไปสามมิติ ลองจินตนาการดูว่าร้านค้าออนไลน์ที่เราไถฟีดบนเฟซบุ๊กหรือไอจีในอนาคตจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ในโลกเสมือน เป็นเวอร์ชวลบนเมตา โต้ตอบกับแบรนด์ของธุรกิจนั้น ๆ ได้โดยไม่ต้องออกจากบ้านหรือในครีเอเตอร์คอมมิวนิตี้อาจออกแบบสินค้าดิจิทัลเพื่อโปรโมตไปกับการเปิดตัวในโลกฟิสซิคอลหรือสร้างแบรนด์ลอยัลตี้ในเมตาเวิร์ส หรือในธุรกิจบริการที่ใช้เออาร์, วีอาร์ ออกแบบจัดวางเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น”

รวมไปถึงการทำงานยุคนิวนอร์มอลที่หลายบริษัทเริ่มปรับสู่โหมดการทำงานผสมผสานทั้งที่ทำงานและที่บ้าน ก็สามารถทำงานบนแพลตฟอร์มที่เรียกว่า “ฮอไรซั่นเวิร์กรูม” ที่เป็นมิกซ์เรียลิตี้เข้าด้วยกันได้

อีกทั้งยังเชื่อด้วยว่า เมตาเวิร์สจะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของธุรกิจในยุคนี้ ตั้งแต่มีการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต และโมบายอินเทอร์เน็ต และจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการนำมาใช้ในหลายวงการทั้งการศึกษา, การแพทย์, บันเทิง, กีฬา และเกม แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุด คือการช็อปปิ้ง และการค้าขาย

“เมตาเวิร์สจะสร้างดิจิทัลอีโคโนมีเพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ สร้างเศรษฐกิจสำหรับครีเอเตอร์ สร้างงาน และอาชีพใหม่ ๆ ในอนาคต อย่างที่รู้กันว่าเอเชีย-แปซิฟิกเป็นผู้นำในเรื่องการเปิดรับเทคโนโลยี”

แนะธุรกิจปรับตัวเตรียมพร้อม

ผู้บริหาร เฟซบุ๊ก ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันธุรกิจที่ใช้เฟซบุ๊ก และไอจีกว่า 80% เป็นธุรกิจขนาดเล็ก เริ่มจากซื้อขายของ ซึ่งในอนาคตหากจะมุ่งไปสู่“เมตา” ก็จะสร้างประสบการณ์ที่เสมือนจริงมากขึ้นทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้มากขึ้น โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ร้านจริง ๆ

สิ่งที่ธุรกิจต่าง ๆ ควรเตรียมความพร้อมมี 4 ด้าน คือ 1.ออมนิแชนเนล หรือการมีช่องทางการขาย และการบริการที่หลากหลาย ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยจะต้องดูบทบาทของออฟไลน์และออนไลน์ว่าจะเชื่อมโยงกันได้ยังไง เพื่อส่งทราฟฟิกไปทั้ง 2 ด้าน ด้านที่ 2 การทำงานกับครีเอเตอร์จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

สิ่งที่ธุรกิจทำได้คือให้ดูว่าอะไรคือบทบาทของครีเอเตอร์ที่จะมาร่วมงานด้วย ช่องทางไหนจะร่วมมือกันและส่งต่อไปถึงลูกค้าได้ เช่น การเล่าเรื่องแบรนด์ เป็นต้น

ด้านที่ 3 เกี่ยวกับ “สินค้าดิจิทัล” ซึ่งต้องดูว่าแต่ละแบรนด์จะนำสินค้าดิจิทัลมาสร้างความตื่นเต้นในการเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ ๆ หรือสร้างความภักดีในแบรนด์ได้อย่างไร

และ 4.การเตรียมรูปแบบการทำงานในอนาคตที่ผสมผสานระหว่างเวิร์กฟรอมโฮม และเวิร์กฟรอมออฟฟิศ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานได้จากทั่วโลก และเทคโนโลยีไหนที่จะนำมาใช้ทำให้ทีมมีส่วนร่วมกันได้ เป็นต้น

“โลกเมตาเวิร์สเป็นพื้นที่สำหรับครีเอเตอร์ อยากให้ครีเอเตอร์เปิดรับเทรนด์ และเริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแฟชั่น ศิลปะเรื่องเอ็นเอฟทีอะไรต่าง ๆ เราคิดว่าวงการครีเอเตอร์จะเติบโตมาก สร้างรายได้ในอนาคต โดยภายใน 2030 ถ้าบริษัทต่าง ๆ มีการลงทุนกับเออาร์, วีอาร์ ร้อยละ 10 ก็แปลว่าจะเห็นเงินเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สร้างงานสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต”