ธุรกิจเกาะกระแส “ยูทิลิตี้โทเค็น” รับคนรุ่นใหม่เปิดพอร์ตทะลุ 2 ล้านบัญชี

เทรนด์ลงทุน “สินทรัพย์ดิจิทัล” ปีเสือยังคึกคัก หลังคนไทยแห่เปิดพอร์ตทะลุ 2 ล้านบัญชี โตก้าวกระโดด เกินครึ่งเป็นรายย่อยเน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” ลงทุนระดับ “500-2,500 บาท” ฟากธุรกิจแห่ผุด “ยูทิลิตี้โทเค็น” พรึ่บ “เจเวนเจอร์” ผนึกกลุ่มบีทีเอส สยายปีก “เจฟินคอยน์” ต่อยอดธุรกิจ ชูสิทธิพิเศษเสริมแกร่ง “อีโคซิสเต็ม”

นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยในปี 2564 ที่ผ่านมาถือว่าคึกคักเป็นอย่างมาก โดยอัตราการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีผู้เปิดพอร์ต 3 แสนบัญชี เพิ่มเป็นกว่า 2 ล้านบัญชีในสิ้นปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปีนี้ก็น่าจะยังมีการเติบโตต่อเนื่อง

แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น เป็นกลุ่มใหญ่สุดมีสัดส่วนถึง 60% ที่อยากทดลองอะไรใหม่ ๆ เป็นรายย่อยที่มีการลงทุนเฉลี่ย 500-2,500 บาท กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ซื้อเพื่อเก็บออมมองผลประโยชน์ระยะยาว และกลุ่ม 3 คือ กลุ่มที่ทำฟาร์มเหรียญ โดยนักลงทุนกลุ่มนี้จะเข้าไปซื้อเหรียญในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วนำเหรียญคริปโทที่ตนเองถืออยู่ไปฝากไว้กับผู้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้บริการ DeFi (decentralized finance) ต่าง ๆ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นต้น

“การลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีไม่ได้เพิ่งเกิด ถ้านับบิตคอยน์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2551 แต่ในไทยเริ่มเป็นกระแสในปี 2560 ตอนนั้นราคาคริปโทขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีนักลงทุนติดดอยจำนวนมาก และเพิ่งมาบูมแบบติดลมบนในปี 2561 เพราะไทยเพิ่งมีกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล ตอนนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่าตลาดบ้านอยู่ในช่วงไหน เนื่องจากเป็นวงจรที่มีคนเข้าออกตลอดเวลา”

นายศุภกฤษฎ์กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมามีกลุ่มผู้นำด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นนายอีลอน มัสก์ (เจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ไร้คนขับเทสลา) หรือผู้ที่อยู่ในตลาดทุนของประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจ และมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ในช่วงแรก ๆ ราคามีการขึ้นและลงอย่างรวดเร็ว แต่เชื่อว่าเป็นช่วงที่ตลาดยังค้นหาวงจรของตนเอง

“สำหรับบิตคอยน์ก็คงเหลือแต่ว่าจะเป็น mainstream adoption เมื่อไร แต่ต้องบอกว่า บิตคอยน์ไม่ใช่ทั้งหมดของคริปโทเคอร์เรนซี ตลาดคริปโทคงฟูขึ้นมาชั่วคราว และจะถึงรอบที่คนจะค้นพบว่าประโยชน์จริง ๆ คืออะไร”

ด้านนายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นด้านฟินเทคในเครือเจมาร์ท กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก สะท้อนได้จากการที่หลายธุรกิจประกาศนำคริปโทเคอร์เรนซีเข้ามาใช้แลกเปลี่ยนสินค้าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านกาแฟ, ธุรกิจค้าปลีก แต่ยังต้องผ่านตัวกลาง คือ แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแปลงอัตราแลกจากสกุล “ดิจิทัล” เป็น “เงินบาท” และคาดว่าในปี 2565 หลาย ๆ ธุรกิจ จะทยอยออก “ยูทิลิตี้โทเค็น” ของตนเองออกมาเรื่อย ๆ

“กระแสการออกโทเค็นจะแรงกว่านี้อีก ทุกธุรกิจจะออกโทเค็นของตัวเอง เพื่อเอามาใช้ในอีโคซิสเต็มของตัวเอง เช่น กลุ่มห้างอาจให้แปลงพอยต์ที่ได้จากการสะสมแต้มมาเป็นโทเค็น และใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า หรือการให้สิทธิพิเศษที่มากขึ้น แต่ท้ายที่สุด เชื่อว่าทุกคนจะมีกระเป๋าที่เรียกว่า คริปโทเคอร์เรนซีวอลเลต ที่มีโทเค็นเต็มกระเป๋า”

ปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนออกโทเค็นได้ 2 บริษัท คือ เจ เวนเจอร์ส และบิทคับ โดยในปีนี้มีหลายธุรกิจติดต่อเข้ามาให้บริษัทออกโทเค็นให้ ซึ่งคงไม่สามารถรับลูกค้าได้ทั้งหมด เพราะไม่ใช่แค่การสร้าง “โทเค็น” แต่ต้องเข้าไปทำความเข้าใจธุรกิจของลูกค้า เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มให้แข็งแรงขึ้น

“ปีนี้เราจะนำโทเค็นของเรา คือ เจฟินคอยน์ เข้าไปใช้กับกลุ่มบริษัทบีทีเอส (กลุ่มบีทีเอสเข้ามาถือหุ้น 24.9% ในเจมาร์ท) โดยคาดว่าจะได้เห็นในเดือนมกราคม ซึ่งจะมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับลูกค้า ปีนี้จะเป็นปีที่เราเริ่มขยายอีโคซิสเต็มของเจฟินคอยน์ให้ใหญ่ขึ้น เฉพาะเจมาร์ทมีบริษัทในเครือ 10 แห่ง และกลุ่มบีทีเอส มีประมาณ 100 บริษัท ทั้งเจมาร์ทและบีทีเอส ยังมีบริษัทในเครือที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกราว 10 แห่ง ถ้าเริ่มนำเจฟินคอยน์เข้าไปใช้เฉพาะแค่บริษัทที่อยู่ในตลาด ไม่นับรวมพาร์ตเนอร์ที่เปิดตัวแล้ว อย่างเดอะมอลล์ ก็ถือว่าอีโคซิสเต็มของเจฟินคอยน์ จะใหญ่ขึ้นมาก ๆ จากเดิมที่ใช้เฉพาะในเครือเจมาร์ท เช่น การแลกส่วนลด และแลกมือถือต่าง ๆ เท่านั้น”

นายธนวัฒน์กล่าวต่อว่า ภาคธุรกิจทั้งผู้ลงทุนและผู้ใช้คริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย อาจต้องเรียนรู้วิถีของบล็อกเชนมากขึ้น และพื้นฐานของคริปโทเคอร์เรนซีแต่ละสกุลอีกมาก ซึ่งทุกวันนี้ยังถือว่ามีความรู้ไม่มาก เสมือนอยู่ในช่วงเริ่มต้น เช่นกันกับการเล่นหุ้นในยุคแรก ๆ เปรียบตลาดคริปโทเคอร์เรนซี เหมือนตลาดหุ้นที่เพิ่งเริ่มต้น ทำให้ “ราคา” อาจเหวี่ยงขึ้น-ลงเร็ว จึงเป็นข้อเสีย และความเสี่ยงของผู้ใช้คริปโทเคอร์เรนซี


“เป้าหมายของการใช้คริปโทเคอร์เรนซีในวันนี้ เป็นการลงทุนมากกว่าใช้ซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ คริปโทเคอร์เรนซี เสมือนสินค้าเพื่อการลงทุน ไม่ได้เอามาเพื่อแลกของ หรือจับจ่ายใช้สอย แต่ที่ภาคธุรกิจประกาศรับคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ากำลังดิสรัปต์ตนเอง หรือเป็นกิมมิกทางการตลาดมากกว่าคาดหวังที่จะกระตุ้นให้คนหันมาใช้คริปโทเคอร์เรนซีซื้อสินค้าบริการ”