ยักษ์ชนยักษ์ “บิทคับVSไบแนนซ์” เกมซินเนอร์ยี “กัลฟ์-SCB” เขย่าสมรภูมิคริปโท

เรียกเสียงฮือฮาทั่วสารทิศเขย่าแวดวงคริปโทเคอร์เรนซีไทย เมื่อ “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” ของ สารัชถ์ รัตนาวะดี เศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 1 ประกาศความร่วมมือกับกลุ่มไบแนนซ์ (Binance) แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ที่สุดของโลก ผ่านบริษัทลูก (กัลฟ์ อินโนวา) เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย

เพราะทั้ง “กัลฟ์ และไบแนนซ์” ครบเครื่องทั้งคู่ในแวดวงของตัวเอง ทั้งกำลังเงิน, โนว์ฮาว และโนว์ฮู

โดย “กัลฟ์” ระบุว่าความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจ และความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

แค่ทั้งคู่ประกาศจับมือร่วมทางกันยังไม่เริ่มก้าวแรกก็สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่ว โดยเฉพาะกับสตาร์ตอัพยูนิคอร์นดาวรุ่งของไทย “บิทคับ” (Bitkub) เพราะเท่ากับเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดของบิทคับโดยตรง

อย่างไรก็ตาม “บิทคับ” เองก็มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ไบแนนซ์” นั่นก็คือ “กลุ่ม SCBX” ที่เพิ่งประกาศดีลไปเมื่อปลายปี โดยทุ่มเงินกว่า 1.78 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้น 51% ในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด เพื่อเปิดเกมรุกในสมรภูมิฟินเทค

ระหว่าง “บิทคับ และไบแนนซ์” จึงมี SCBX และกัลฟ์ รวมอยู่ด้วย

“กัลฟ์-ไบแนนซ์” เขย่าวงการ

แหล่งข่าวในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแข่งขันในตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีในไทยจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

จากที่บิทคับครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% ขณะที่โครงสร้างธุรกิจของไบแนนซ์ และบิทคับ มีหลายส่วนคล้ายกัน เช่น นอกจากมีธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลเหมือนกันแล้ว ยังมี native token และบล็อกเชนของตนเอง โดยไบแนนซ์มี BNB และ Binance Smart Chain ส่วนบิทคับมีเหรียญ KUB และ Bitkub Chain

“กัลฟ์มีกระแสเงินสดในมือมาก มีคอนเน็กชั่นที่ดี รวมถึงเข้าไปลงทุนในอินทัช บริษัทแม่เอไอเอส ที่มีฐานลูกค้ามือถือ และอินเทอร์เน็ตบ้านรวมกว่า 44 ล้านราย จึงถือว่าครบเครื่องมาก ๆ ทั้งยังช่วยปิดจุดอ่อนในการเข้ามาขอไลเซนส์ ซึ่งต้องดีลกับหน่วยงานที่กำกับดูแลในประเทศ”

ขณะที่ “ไบแนนซ์” เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการคริปโทโลกที่มีของครบ และหลากหลายระดับ “โกลบอลอีโคซิสเต็ม” หากเข้ามาเปิดบริการในประเทศไทยได้ก็จะช่วยสร้างอีโคซิสเต็มนี้ในไทยให้แข็งแรงมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดของ BNB Coin (marketcap) ปัจจุบันเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก BTC (Bitcoin) และ ETH (Ethereum)

ขณะที่ในโลก DeFi มีการใช้ Binance Smart Chain รองจาก ETH ขณะที่ Decentralised Applicationd บน KUB ยังไม่ค่อยเห็นการใช้งานจริง

“ต่างแน่ ๆ คือค่าธรรมเนียมการเทรด บิทคับคิด 0.25% ถือว่าสูงสุดในโลก ขณะที่ไบแนนซ์คิดที่ 0.1% ก็ต้องจับตาว่าเมื่อเข้ามาในไทย ทำตาม กม.ไทย ไบแนนซ์จะคิดค่าธรรมเนียมการซื้อขายเท่าไร”

มองเกมซินเนอร์ยียกเครือ

นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดีลนี้อาจไม่ได้ทำให้การแข่งขันของแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทในประเทศไทยเพิ่มดีกรีขึ้น แม้ผู้เล่นรายเดิมที่อยู่มาก่อนจะมีฐานแข็งแรง เพราะตลาดไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากในหลายส่วน เช่น ในมุมของผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (ICO portal) เป็นต้น แต่เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมนี้ ส่วนใหญ่จะนึกถึงเฉพาะแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทซึ่งเป็นแค่ประตูแรกเท่านั้น

“สิ่งที่น่าตื่นเต้นของดีลนี้คือ การนำจุดแข็งที่ทั้งกัลฟ์ และไบแนนซ์ มาต่อยอดธุรกิจ เช่น คริปโทโดนโจมตีเรื่องพลังงานสะอาด หากจับมือกับกัลฟ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงาน แล้วมีการทำเหมืองขุดบิตคอยท์ ภาพลักษณ์ของคริปโทก็อาจจะดีขึ้น

“อย่างไรก็ตาม หลายคนเริ่มกังวลเรื่องการผูกขาด เพราะกัลฟ์กำลังคืบคลานเข้าไปหลาย ๆ อุตสาหกรรม ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า กัลฟ์เป็นบริษัทที่มีเครดิตดี มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ทั้งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอินทัช บริษัทแม่ของเอไอเอส จึงน่าจะซินเนอร์ยีธุรกิจร่วมกันได้หมด”

เชื่อว่าเมื่อซินเนอร์ยีกันแล้ว จะได้โปรดักต์ใหม่ ๆ อีกหลายอย่างที่น่าสนใจ

ส่วนประเด็นที่นักลงทุนคริปโทกังวล กรณีไบแนนซ์เข้ามาเปิดบริการในไทยจะทำให้ข้อมูลในไบแนนซ์เดิมจะโดนเปิดเผยข้อมูลหรือไม่นั้น ก็อาจทำให้เกิดการย้ายจากไบแนนซ์ไปยังศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่น ๆ แต่ท้ายสุดแล้วประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาบริการที่ดีขึ้น จะตกอยู่กับผู้บริโภคมากกว่า

“อินทัชยังมีความร่วมมือกับสิงเทล ทำดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะที่เอไอเอสถือหุ้นในซีเอสแอลที่มีดาต้าเซ็นเตอร์อยู่แล้ว รวมเข้ากับฐานลูกค้าที่มีอยู่ทั้งอินเทอร์เน็ตบ้าน และมือถืออีก ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเจาะเข้าไปยังลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มเติมได้อีก”

ทางลัด กัลฟ์บุก ตปท.

ยังไม่นับว่าเอไอเอสมีความร่วมมือในธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล กับ “เอสซีบี” ผ่านบริษัทร่วมทุน “AISCB” ทั้งหมดยังสามารถนำมาต่อยอดได้อีก

“ถ้ามองให้สุด ต่อไปอาจจะนำคริปโทมาปล่อยสินเชื่อก็ได้ มวยคู่นี้จึงถือเป็นศึกยักษ์ล้มยักษ์ มองว่าเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะได้โอกาสจากการแข่งขันที่เกิดขึ้น”

นอกจากนี้ ยังทำให้กัลฟ์กับไบแนนซ์มีช่องสมประโยชน์กันหลายเรื่อง โดยไบแนนซ์ถือว่าอยู่ยากบนโลกคริปโท เพราะไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นมิตรกับประเทศไหนที่มีผู้กำกับดูแลแรง ๆ จึงต้องการใช้ “กัลฟ์” เป็นสะพานเชื่อม

ขณะที่กัลฟ์ก็จะรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ในโลกการเงินดิจิทัลได้เร็วขึ้น เพราะไบแนนซ์มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีจำนวนมาก ทั้ง exchange และ LAB พัฒนาโปรดักต์ใหม่ ๆ ถ้า “กัลฟ์” จะเปลี่ยนตัวเองเป็นแบงก์ยุคใหม่ก็ทำได้ และไม่จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่หมายถึงการขยายในต่างประเทศด้วย

บิทคับเร่งเกมผนึกพันธมิตร

ด้าน นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือบิทคับ (Bitkub) ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับดีลดังกล่าวและว่า ความร่วมมือดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ โดยกล่าวถึงภาพรวมตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในปัจจุบันว่าเปลี่ยนไปมาก จาก 8 ปีก่อน เม็ดเงินมาจากนักลงทุนรายย่อย

กระทั่งปีที่ผ่านมาเริ่มมีสัดส่วนมาจากนักลงทุนสถาบันการเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ เฉพาะแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล (coinbase) มีสัดส่วนนักลงทุนสถาบันเกือบ 30-40% จากเดิมไม่ถึง 10%

“ปีนี้เราจะเดินหน้าจับมือกับพาร์ตเนอร์เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ ทั้ง Play to Earn, Learn to Earn โดยถือว่าเป็นปีแห่งการลงทุน การร่วมทุน และการจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์ ปัจจุบันจับมือกับพาร์ตเนอร์ไปแล้ว 120 โปรเจ็กต์ เช่น กับเดอะมอลล์ ล่าสุดกับกลุ่มทองแตง ตั้ง Bitkub World Tech สร้างบุคลากรด้านบล็อกเชน และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในไทย”

ปัจจุบันบิทคับมีจำนวนผู้เปิดบัญชี 3.24 ล้านบัญชี เป็นบัญชีที่แอ็กทีฟ 1.2 ล้านบัญชี

แม้ปัจจุบันบิทคับจะมีส่วนแบ่งในตลาดซื้อขายคริปโทในไทยถึง 95% แต่ตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

การตัดสินใจเข้าสู่ตลาดไทยผ่าน “กัลฟ์” ของ “ไบแนนซ์” ก็เช่นกันเป็นเกมที่เพิ่งเริ่มต้น