สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือชะลอดีลควบรวม ทรู ดีแทค

ทรู ดีแทค

สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ กสทช. ให้ชะลอดีลควบรวมทรู ดีแทค พร้อมเรียกร้อง กสทช. กำกับดูแลประโยชน์ผู้บริโภคเป็นหลัก

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ล่าสุดได้ให้ตัวแทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว พร้อมทำสำเนาถึง พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช., พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช., รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช.,

ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช., นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช., นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. และรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช., รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค, ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และ นายสุทธิ์ศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานโทรคมนาคม

ขณะที่ใจความสำคัญของหนังสือที่ยื่นต่อคณะกรรมการ กสทช. ระบุว่า ให้ชะลอการพิจารณาลงมติ กรณีการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ออกไปก่อน

ทั้งนี้ กสทช.มีอำนาจตามประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (2561) และประกาศเรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ดังนั้น กสทช. จำเป็นต้องทำหน้าที่กำกับดูแลในฐานะ (Regulator) ไม่ใช่เป็นแค่เพียงนายทะเบียน (Registrar) เพื่อส่งเสริมการแข่งขันเสรีเป็นธรรมในกิจกรรมโทรคมนาคม และคุ้มครองผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเหตุผลของการมีอยู่ของ กสทช.เอง

ซึ่ง กสทช.เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ต้องทำงานอย่างเข้มแข็ง อิสระ เที่ยงตรง เป็นธรรม ในการกำกับดูแลเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นจะทำเพียงการรับรองการควบรวมไม่ได้ แต่ต้องยึดเอาผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก

ตอนนี้มีผู้ให้บริการสามรายใหญ่ในตลาด ยังถือว่าการแข่งขันยังไม่เต็มที่มากนัก เข้าลักษณะ Oligopoly ที่ผู้บริโภคยังรู้สึกได้ว่ามีทางเลือกน้อย เพราะผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมมีอำนาจในตลาดมาก และที่ผ่านการกำกับดูแลเพื่อผู้บริโภคก็ไม่ได้เข้มแข็ง ดังนั้นถ้าลดลงเป็น Duopoly คือมีรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดสองราย ผลกระทบต่อทางเลือกของผู้บริโภค จะเป็นอย่างไร ดังนั้น กสทช. ต้องอธิบายสังคมถึงผลกระทบต่อการแข่งขันและผู้บริโภคในกรณีนี้ และมีแผนการกำกับดูแลในอนาคตเพื่อรับมือกับปัญหาหรือไม่ รวมถึงรัฐบาลที่บริหารนโยบายการสื่อสารประเทศด้วย

“ที่สำคัญตอนนี้ สังคมกำลังรอ กสทช. ชุดใหม่มาทำหน้าที่อยู่ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีความชอบธรรมทั้งทางกฎหมาย และทางสังคม จึงขอให้ กสทช.ชุดรักษาการยุติการพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อรอให้ กสทช. มาเริ่มกระบวนการพิจารณาต่อไป และในขณะนี้ กสทช. ชุดรักษาการ ควรใช้เวลาในการกำกับดูแลเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ให้ผู้บริโภค เช่นเรื่อง SMS Call Center หลอกลวง ที่ทำคนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า จนกลายเป็นวาระแห่งชาติแล้ว”