ดีอีเอส เซ็น MOU อะเมซอน-หัวเว่ย เร่งสร้างดิจิทัลอีโคซิสเท็ม

ดีอีเอส เซ็นเอ็มโอยู อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส และหัวเว่ย เร่งสร้างดิจิทัลอีโคซิสเท็ม ทั้งการขยายต่อการนำคลาวด์มาใช้หน่วยงานรัฐทั่วประเทศ พัฒนาบุคลาการด้านดิจิทัล

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสได้ลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ กับอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคลาวด์ในการสนับสนุนการปฏิรูประบบดิจิทัลของภาครัฐ ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ดีอีเอส และหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ จะใช้ AWS เป็นส่วนหนึ่งของคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ส่วนกลางสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ

โดยปีแรก ดีอีเอส จะทำงานร่วมกับภาครัฐ และ AWS โดยจะนำร่อง 10 โครงการที่จะใช้งานบน AWS ผ่านบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ซึ่งโครงการนำร่องเหล่านี้จะช่วยให้เห็นถึงความรวดเร็วที่หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้เทคโนโลยีคลาวด์เพื่อสร้างและส่งมอบบริการต่างๆ ได้สำเร็จ

“เรายังมีเป้าหมายที่จะหารือถึงทางเลือกที่ตกลงร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ทั่วโลกของ AWS เพื่อสนับสนุนความพยายามในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้าย และปรับใช้เครื่องเสมือนบนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์แบบไฮบริดในช่วง 4 ปีงบประมาณจากนี้ไป และเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากระบบคลาวด์ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปลดล็อกระดับการประหยัดต้นทุน ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการขับเคลื่อนและเพิ่มการใช้งานระบบคลาวด์กลางภาครัฐ”

ขณะเดียวกันขอบเขตข้อตกลงยังครอบคลุมถึงความร่วมมือ ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งการนำคลาวด์ไปใช้ทั่วประเทศ โดยหน่วยงานรัฐ โดย AWS จะสนับสนุนจัดการฝึกอบรมให้ข้าราชการ 1,200 คน ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำในการกำหนดทิศทางที่เหมาะสมกับการใช้งานของรัฐบาลไทยด้วย

นอกจากนี้ดีอีเอส ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้เป็นความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ การวิจัยเชิงนวัตกรรม รวมไปถึงการอบรมบุคลากรเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลในด้านของคลาวด์, ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบ IoT พร้อมทั้งเสริมทักษะในด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นให้แก่บุคลากรของรัฐจำนวน 2,000 คน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ในการผลักดันเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

“ความร่วมมือในครั้งนี้ยังจะรวมไปถึงการปรับโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์สาธารณะ เพื่อรองรับความต้องการและให้การบริการแก่ผู้ใช้งานในส่วนของภาครัฐที่มากขึ้น ผลักดันการให้บริการสาธารณะผ่านระบบคลาวด์ของรัฐ ที่สำคัญ ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งเน้นที่จะร่วมกันเร่งสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มในวงกว้างนอกเหนือจากหน่วยงานรัฐ”

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จุดแข็งของหัวเว่ย คลาวด์ คือ ผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะระดับโลกรายแรกที่เปิดให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ถึงสามแห่งในประเทศในไทย นั่นหมายความว่าธุรกิจในไทยสามารถใช้งาน หัวเว่ย คลาวด์ ได้ด้วยความพร้อมในการให้บริการสูง และค่าความหน่วง (latency) ของการส่งผ่านข้อมูลที่ต่ำกว่า รวมถึงปกป้องและจัดเก็บข้อมูลที่มีความเสี่ยงภายใต้กฏหมายไทย ซึ่งบริการคลาวด์สาธารณะที่ปลอดภัยของหัวเว่ย ยังได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งถูกต้องตามข้อกำหนดของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย และยังมีทีมหัวเว่ย คลาวด์ ในประเทศซึ่งสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับทั่วโลกได้อย่างไร้รอยต่อ