ไลน์เปิด 3 กลยุทธ์สร้างทางรอดเอสเอ็มอีไทย

ไลน์

ไลน์ เอสเอ็มอี เปิดเทรนด์การใช้ LINE OA ปี 2564 พบเอสเอ็มอีกลุ่มร้านอาหารแห่เปิดร้านบน LINE OA เพิ่มขึ้น เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนใช้ชีวิตนอกบ้านลดลง โดยแชตยังเป็นเครื่องมือหลักในการติดต่อสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ชี้ 3 สิ่งที่เอสเอ็มอีไทยต้องทำ คือ เปิดรับพฤติกรรมผู้บริโภค ปรับตัว และพร้อมเปลี่ยนทันที

วันที่ 1 มีนาคม 2565 นางสาวสกุลรัตน์ ตันยงศิริ ผู้อำนวยการธุรกิจ เอสเอ็มอี ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมองหาช่องทางขายใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้ โดยช่องทางดิจิทัล อย่างแพลตฟอร์มไลน์ ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ ส่งผลให้เกิดการใช้งานเพิ่มขึ้น มีจำนวนการเปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1 ล้านราย โต 25% จากปีก่อน

สกุลรัตน์ ตันยงศิริ

“ผู้ใช้รายหลักของ LINE OA คือ กลุ่มเอสเอ็มอี คิดเป็นสัดส่วนเกิน 90% ของจำนวนบัญชีทั้งหมดของไลน์ ทำให้ไลน์ให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น และปีนี้ ไลน์ก็จะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มเอสเอ็มอีสามารถเติบโตต่อได้”

ในส่วนธุรกิจที่ใช้งาน LINE OA มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ความงาม แฟชั่น และธุรกิจอาหาร (F&B) ซึ่งธุรกิจอาหารมีการเติบโตสูงที่สุดถึง 51% ในขณะที่ความงามและแฟชั่น เติบโตอยู่ที่ 31% เนื่องจากการไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง ทำให้ร้านอาหารจำเป็นต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเข้าถึงและให้บริการลูกค้าถึงบ้านมากขึ้น

โดยนอกจากการมีบริการส่งอาหาร หรือเดลิเวอรี่แล้ว เอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจอาหารยังมีการเปิดใช้ LINE OA เพื่อสร้างแบรนด์อย่างจริงจังบนโลกออนไลน์ ด้วยการมีช่องทางติดต่อสื่อสารกับลูกค้า พร้อมเชื่อมต่อกับการสั่งอาหารผ่าน LINE OA ไปด้วยในตัว

สำหรับเครื่องมือภายใน LINE OA ที่เอสเอ็มอีไทยนิยมใช้บริการ ได้แก่ แชต (Chat) ซึ่งไลน์ถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีความโดดเด่นด้านนี้ โดยผู้ประกอบการสามารถเข้าถึง พูดคุย สร้างสัมพันธ์กับลูกค้าได้โดยง่าย ตามด้วยฟีเจอร์บรอดแคสต์ (Broadcast) ช่วยส่งข้อมูลการขาย ทั้งแนะนำสินค้าใหม่ โปรโมชั่นต่าง ๆ และริชเมนู (Rich Menu) ที่มียอดการใช้งานเป็นอันดับ 3 แต่มีตัวเลขการใช้งานเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 232% นั่นหมายถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความรู้ด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น

นางสาวสกุลรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนLINE Ads Platform (LAP) ถือเป็นอีกเครื่องมือที่ได้รับความนิยมของเอสเอ็มอี โดยปีที่ผ่านมามียอดเปิดบัญชีโฆษณาในกลุ่มเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น 106% ซึ่งกลุ่มธุรกิจมาแรงที่ลงเม็ดเงินโฆษณาผ่าน LAP มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจการศึกษา พร้อมอัตราการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 สูงถึง 609% ตามมาด้วยธุรกิจบันเทิง ที่มีอัตราการลงเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 187% และธุรกิจแฟชั่น เพิ่มขึ้นถึง 180%

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เอสเอ็มอีไทยต้องทำประกอบไปด้วย 3 กลยุทธ์ ดังนี้

1.การเปิดรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค

2.การปรับตัว ปรับกลยุทธ์ได้รวดเร็ว อย่ายึดติด เพราะปัจจุบันไม่มีอะไรเหมือนเดิม

3.การเปลี่ยนตัวเองทันทีถ้าไม่ใช่ ถ้าปรับกลยุทธ์แล้วรู้สึกว่าไม่ใช้ ก็อย่ารอช้าที่จะเปลี่ยน ถ้าเปลี่ยนแล้วไม่ใช่ก็ต้องเปลี่ยน อย่าลังเลที่จะเปลี่ยน ท้ายที่สุดก็จะได้เจอแนวกับกลยุทธ์ที่ดี

สำหรับทิศทางธุรกิจปี 2565 ไลน์ยังเดินหน้าขยายฐานลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น พร้อมมุ่งยกระดับความรู้ ความเข้าใจในการทำธุรกิจยุคใหม่ และความชำนาญในการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลให้เหมาะกับธุรกิจของ SMEs ไทยที่มีหลากหลาย แตกต่างกันไปตามปัจจัยมากมาย โดยแบ่งเป้าหมายออกเป็น 2 ด้าน คือ

• ด้านแพลตฟอร์ม เร่งพัฒนาเครื่องมือหรือโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ (Customized Solutions for SMEs) เช่น การพัฒนาพื้นที่และรูปแบบการลงโฆษณาบน LAP ใหม่ ๆ รองรับและตอบโจทย์การใช้งานเอสเอ็มอีไทยมากขึ้น เช่น การเพิ่มตำแหน่งการวางโฆษณาไปบน LINE OpenChat โฆษณาในรูปแบบวิดีโอบน LINE VOOM พัฒนาเครื่องมือเดิมในตลาดให้เหมาะกับการใช้งานสำหรับเอสเอ็มอี SMEs

• ด้านความรู้และกิจกรรม จะเดินหน้ายกระดับความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจยุคดิจิทัลให้เอสเอ็มอีไทย ด้วยการจัดกิจกรรมการให้ความรู้ แคมเปญ โปรโมชั่น โครงการต่าง ๆ ตลอดปี แต่จะเจาะเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมระดับภูมิภาค การจัดประเภทธุรกิจ