ปี’64 คนไทยสูญเงินกว่า100 ล้าน จาก SMS หลอกลวง

ระวัง SMS หลอก อ้างธนาคารอาคารสงเคราะห์
ภาพจาก Pixabay

Whoscall เผยรายงานปี’64 ยอดโทรศัพท์หลอกลวงในไทย พุ่งขึ้น 270% ขณะที่ SMS หลอกลวงเพิ่ม 57% สูญเงินกว่า 100 ล้านบาท

วันที่ 3 มีนาคม 2565 Whoscall แอปพลิเคชั่นป้องกันการฉ้อโกง ที่พัฒนาโดย Gogolook ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นระดับโลก เปิดเผยว่า ในปี 2564 มีการใช้โทรศัพท์เพื่อหลอกลวงในประเทศไทยกว่า 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 270% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ ข้อความ SMS หลอกลวงยังเพิ่มขึ้นถึง 57% โดยวิธีที่พบบ่อย นักต้มตุ๋นจะส่งลิ้งค์ฟิชชิ่งเชิญชวนให้ดาวน์โหลดแอปที่เป็นอันตรายและหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไป
และพบว่าปี 2564 จำนวนการโทร และข้อความหลอกลวงทั่วโลก มีถึง 460 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 58% จากปีที่แล้ว ซึ่งการหลอกลวงลักษณะนี้ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังการแพร่ระบาดโควิด-19

นางสาวฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Gogolook ประเทศไทย กล่าวว่า การหลอกลวงด้วยวิธีการส่งข้อความมีต้นทุนที่ต่ำ ประกอบกับการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือเหยื่ออยู่ในอัตราสูง ทำให้จำนวนข้อความหลอกลวงเพิ่มขึ้นทุกเดือน ตั้งแต่ปี 2563 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 โดยข้อความ SMS หลอกลวงในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 57% เมื่อเทียบกับปี 2563

และข้อความเหล่านี้อาจนำไปสู่การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล หรือการสูญเสียทรัพย์สิน ประชาชนจึงควรเพิ่มความระมัดระวังเมื่อมีเบอร์แปลกโทร หรือส่งข้อความเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากลุ่มดังกล่าวมีการขอข้อมูลส่วนตัว

“Whoscall เป็นเหมือนผู้ช่วยคัดกรองเบอร์เบื้องต้น รู้ทันที่มาของผู้ส่ง และสายโทรเข้าที่ไม่รู้จัก ซึ่ง Community Report หรือ การรายงานเพื่อระบุหมายเลขโทรศัพท์หลอกลวงจากผู้ใช้ เป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อเสริมเกราะป้องกันภัยจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี”

ในปี 2564 การโทรหลอกลวงมีความแนบเนียนมากขึ้น และมีความถี่สูงขึ้น สายมิจฉาชีพจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่นการโทรที่อ้างว่ามาจากคอลเซ็นเตอร์บริการจัดส่งสินค้า เริ่มรุนแรงมาตั้งแต่เดือนเมษายน ถือเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม ส่งผลให้เหยื่อสูญเสียเงินมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ การฉ้อโกงอีกแบบที่ได้รับการรายงานจากผู้ใช้ Whoscall คือ การโทรศัพท์ที่อ้างว่ามาจากตำรวจ โดยกล่าวหาว่าผู้ใช้มีส่วนร่วมในอาชญากรรม เช่น การฟอกเงิน เป็นต้น

อุบัติการณ์การหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยสะท้อนถึงสถานการณ์ในกระแสโลก ที่มีนักต้มตุ๋นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างใช้กลวิธีที่หลากหลาย อาทิ ไต้หวันได้รับผลกระทบจากการหลอกลวงด้านการลงทุนในหุ้น เนื่องมาจากตลาดหุ้นที่เฟื่องฟู ขณะที่ในฮ่องกง มาเลเซีย และเกาหลี มีผู้หลอกลวงโดยการปลอมตัวเป็นอัยการในญี่ปุ่น พนักงานบริษัทไฟฟ้าปลอมได้ทำการโทรศัพท์หลอกลวงเพื่อเรียกเก็บค่าบริการบำรุงรักษาสำหรับผู้บริโภค

Whoscall ระบุอีกว่าในปี 2564 ข้อความหลอกลวงทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 70% ซึ่งลิ้งค์ฟิชชิ่งเป็นรูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อยที่สุด โดยเหยื่อจะโดนล่อให้เพิ่มเพื่อนกับบัญชีปลอมบนโซเชียลมีเดีย หรือหลอกให้เข้าถึงเว็บไซต์ปลอม หรือแม้แต่การดาวน์โหลดแอปที่เป็นอันตราย

นายอีริค ลี ผู้อำนวยการด้านเทคนิค และการค้นคว้าวิจัยด้านซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยี AI ของ Gogolook กล่าวว่า นักต้มตุ๋นมักพยายามหลอกล่อให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดไฟล์ APK ผ่านลิ้งค์ฟิชชิ่ง โดยไฟล์แอปนี้หลีกเลี่ยงการตรวจสอบและไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่บนแอปสโตร์ต่าง ๆ หลังการติดตั้ง มัลแวร์อาจเรียกเก็บเงินจำนวนเล็กน้อย หรือขโมยข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ซึ่งมีแนวโน้มว่ากลอุบายที่ได้รับรายงานในประเทศอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยเช่นกันจึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอปพลิเคชั่นจากแหล่งที่ไม่รู้จักเพื่อหลีกเลี่ยงการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้น”