ถอดแนวคิด “บิ๊กเทค” เปลี่ยนให้ทัน-เฟ้น “พันธมิตร” เร่งโต

กล้า ตั้งสุวรรณ (คนที่ 1 จากซ้าย) มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ (คนที่ 2 จากซ้าย) จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา (คนที่ 3 จากซ้าย) คมสันต์ ลี (คนที่ 4 จากซ้าย)
กล้า ตั้งสุวรรณ (คนที่ 1 จากซ้าย) มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ (คนที่ 2 จากซ้าย) จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา (คนที่ 3 จากซ้าย) คมสันต์ ลี (คนที่ 4 จากซ้าย)

เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่จบ ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยได้จัดงานขึ้นในธีม Marketing the Unknow รวบรวมบรรดาเทคคอมปะนี และสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น มาแลกเปลี่ยนมุมมอง และประสบการณ์ เกี่ยวกับการปรับตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ปรับเปลี่ยนให้ทันลูกค้า

“มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า โควิดเป็นปัจจัยสำคัญที่บังคับให้ทุกธุรกิจต้องเปลี่ยน ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนชัดเจน คุ้นเคยกับการใช้บริการออนไลน์ต่าง ๆ มากขึ้น แม้แต่กลุ่ม Sea เป็นบริษัทดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์ก็ยังต้องปรับตัวใน 2 ส่วนด้วยกัน คือ

1.ปรับตัวให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

2.กล้าลอง กล้าทำสิ่งแปลกใหม่ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จหรือทำแล้วไม่ดีก็ต้องกล้าเริ่มต้นใหม่ จนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่

ขณะเดียวกันการนำดาต้ามาใช้วิเคราะห์พฤติกรรม และออกแบบโปรดักต์เป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น

“แม้ Sea จะดำเนินธุรกิจในไทยมา 10 ปี เติบโตมาจากเกมออนไลน์ แต่ไม่ได้เรียกตนเองเป็นบริษัทเกม แต่เป็นดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมปะนี โดยนำเทคโนโลยีมาทำให้การเล่นเกมง่ายขึ้น สะดวกขึ้น หลังจากนั้นก็นำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ผู้บริโภค พัฒนาเป็นอีมาร์เก็ตเพลซ เมื่อเริ่มเรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ปรับตัวเป็นอีคอมเมิร์ซ อย่างการมีช้อปปี้ที่ตอบทุกโจทย์การซื้อสินค้า”

ยุคนี้ต้อง M&A เร่งโต

อีกธุรกิจที่ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง คือกลุ่มอาร์เอส โดย “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส กล่าวว่า อุตสาหกรรมสื่อทีวีเปลี่ยนไป จากจำนวนช่องทีวีที่เพิ่มขึ้น แต่คนดูและเม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิม และผู้เล่นในสนามนี้ทุกคน คือตัวจริง ต่างเคยเป็นผู้ผลิต และซัพพอร์ตรายการให้ช่องฟรีทีวี 4 รายเดิม แล้วแยกออกมาทำช่องของตนเอง ทำให้อาร์เอสต้องพยายามทรานส์ฟอร์มตนเองมาเรื่อย ๆ

หากย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อนเทรนด์ที่มาแรง คือ สินค้าสุขภาพ และความงาม จึงเปลี่ยนตนเองตั้งแต่วันนั้นด้วยการใช้สื่อที่มีสร้างแบรนด์ และลดการขายเวลาโฆษณาที่เคยเป็นรายได้หลักของทีวีมาเป็นการขายสินค้าผ่านช่องทางทีวีแทน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ยากลำบาก แต่อาร์เอสใช้วิธีควบรวมกิจการ (mergers and acquisitions : M&A) เพราะมองว่าเป็นโอกาสในการหาธุรกิจ หรือเพื่อนใหม่เข้ามาร่วมทำธุรกิจด้วยกัน โดยที่ผ่านมาเข้าไปลงทุนใน “เชฎฐ์ เอเชีย” บริษัทติดตามหนี้ ที่มีพนักงานคอลเซ็นเตอร์กว่า 400 คน และกรณีล่าสุดเพิ่งเข้าไปซื้อกิจการ “ยูนิลีเวอร์ ไลฟ์” ธุรกิจขายตรงของยูนิลีเวอร์ มูลค่า 880 ล้านบาท เป็นธุรกิจที่อยากได้ ถือเป็นดีลที่คุ้ม เรียกว่า “ชนะ” ตั้งแต่ซื้อแล้ว

“มุมที่น่าสนใจ คืออาร์เอสจะสามารถนำทรัพยากรที่ได้จากยูนิไลฟ์มาต่อยอดได้อีกมาก โดยเฉพาะเครือข่ายนักขายที่มีกว่า 106,000 ราย ในจำนวนนี้แค่ 30% ถ้าแอ็กทีฟก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว หากนำมาซินเนอร์ยี่กับในเครืออีกแค่นี้ก็ชนะแล้ว”

เปิดแนวคิด 3 ยูนิคอร์นไทย

ข้ามมาในฝั่งสตาร์ตอัพยูนิคอร์นสัญชาติไทยกันบ้าง

“คมสันต์ ลี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด กล่าวว่า แม้เทคโนโลยีจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำ คือการหาจุดร่วมว่าจะผสมทุกอย่างเข้าด้วยกันได้อย่างไร ซึ่งตลาดอีคอมเมิร์ซเองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นกันกับความนิยมของโซเชียลคอมเมิร์ซ และไลฟ์คอมเมิร์ซ ทั้งหมดทำให้บทบาทของบริษัทขนส่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนในอนาคต โดย “ลูกค้า” จะเป็นตัวกำหนดสินค้าและบริการ แล้วจึงส่งมาให้โรงงานเป็นผู้ผลิตเท่านั้น จากปัจจุบันโรงงานยังเป็นผู้ผลิตและออกไปหาลูกค้า

“การเปลี่ยนแปลงนี้ หน้าที่ของนักการตลาดคือต้อง design journey ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และทำให้ซัพพลายเชนทั้งหมดเดินหน้าต่อไปร่วมกันได้”

ด้าน “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีทำให้ความสำเร็จของธุรกิจเกิดได้เร็วขึ้น หากย้อนกลับไป 20 ปีที่ผ่านมา เทคคอมปะนีใหญ่ ๆ ใช้เวลาหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จ อย่างเฟซบุ๊กใช้เวลาถึง 10 ปี ส่วนบิทคับใช้เวลา 4 ปี 1 เดือน และเชื่อว่าในอนาคตจะสั้นลง เพราะทุกอย่างเชื่อมกันหมดแล้ว ทั้งเทคโนโลยีและเงินทุน

อีกทั้งยุคนี้ยังไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาเร็วกินปลาช้า แต่เป็นยุคของ “ปลาฉลาดกินปลาโง่” ซึ่งดาต้าจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยผู้ประกอบการต้องเร่งหาโอกาสใหม่เจอจากการนำดาต้ามาใช้

“มนสินี นาคปนันท์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจใช้เทคโนโลยี ดาต้า และ AI เข้ามาช่วยสร้างคุณค่าให้การทำตลาดมากขึ้น และเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันตลาดยังเปิดกว้างสำหรับการระดมทุนของสตาร์ตอัพไทย ซึ่งสิ่งที่สตาร์ตอัพไทยต้องมีคือความชัดเจน ว่าบริการหรือโปรดักต์ที่ทำจะเข้าไปแก้ปัญหาอะไร หรือสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้อย่างไร เมื่อทุกอย่างชัดเจน ในแง่การตัดสินใจของนักลงทุนก็จะง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน

ระวังไม่ให้แบรนด์เจอ “ดราม่า”

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้บริโภคคุ้นชินกับการใช้ออนไลน์และเปิดรับข้อความข่าวสารจากโซเชียลมีเดียมากขึ้น บริษัทและแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ควรมองข้ามแนวทางในการสื่อสาร โ

ดย “กล้า ตั้งสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียกล่าวว่า ปัจจุบันกระแสดราม่าเกิดขึ้นบ่อยแทบทุกสัปดาห์ในโลกออนไลน์ โดยในปีที่ผ่านมานับข้อความดราม่าได้มากถึง 1.3 ล้านข้อความ (เฉพาะเปิดแบบสาธารณะ) มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงขึ้นถึง 186 เท่า (ไม่นับข้อความส่วนตัวที่คนไทยแชตหากัน) ซึ่งประเด็น “ดราม่า” เป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องระวังในแง่การสื่อสารในยุคนี้

มี 7 ประเด็นด้วยกันที่แบรนด์ต้องระวัง เพราะมีโอกาสทำให้เกิดกระแสดราม่าได้ค่อนข้างสูง คือ 1.sexual harassment ระวังประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศ 2.bully & racism การล้อเลียนเรื่องชาติพันธุ์ 3.cultural inappropriate actions อะไรที่ผิดวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นมุมวัฒนธรรมไทยหรือสากล 4.gender inequality ไม่ใช่แค่เพศสภาพ แต่หมายรวมเพศวิถีด้วย 5.political polarization ระวังมุมมองที่อาจโยงไปเป็นประเด็นการเมือง

6.environmental ignorance ประเด็นความอ่อนไหวที่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และ 7.generation gap ช่องว่างระหว่างเจเนอเรชั่นอาจนำไปสู่การเกิดกระแสดราม่าได้