“โรบินฮู้ด” พลิกสู่ “ซูเปอร์แอป” ต่อยอดดาต้า เพิ่มโอกาสปั้นรายได้

สีหนาท ล่ำซำ
สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด
สัมภาษณ์

“โรบินฮู้ด” แพลตฟอร์มสัญชาติไทย พัฒนาขึ้นโดยบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบีเอ็กซ์) เปิดตัวในเดือน ต.ค. 2563 กับความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะบรรดาร้านอาหารเล็ก ๆ ที่ในขณะนั้นที่เผชิญวิกฤตโควิด-19 จากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ไม่สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ ต้องปรับตัวหันมาพึ่งแพลตฟอร์ม “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ซึ่งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้งานค่อนข้างสูงมาก ๆ

“โรบินฮู้ด” จึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาสแนะนำตัวออกสู่ตลาด ด้วยจุดขายจุดแข็ง ที่ไม่เพียงไม่เก็บค่าธรรมเนียมการใช้งาน (gross profit) หรือค่า GP ยังโอนเงินให้ร้านค้าภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมงอีกด้วย เพราะเข้าใจดีว่ากระแส “เงินสด” สำคัญแค่ไหนสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ

เท่านั้นยังไม่พอ หลังเปิดตัวไม่นานก็เรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง ด้วยแคมเปญ “ส่งฟรี” ทุกออร์เดอร์ ทำให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด จนบางช่วงบางเวลาประสบปัญหาคอขวดในการบริการ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “สีหนาท ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด หลากหลายแง่มุม ทั้งต่อสถานการณ์การแข่งขัน ทิศทาง และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ

Q : เปิดบริการมาปีกว่าพอจะสรุปอะไรได้บ้าง

ต้องบอกว่า โรบินฮู้ดถือว่าทำได้ดี ตอนเปิดตัวเดือน ต.ค. 2563 ก็ดิสรัปต์วงการฟู้ดดีลิเวอรี่ ทั้งอีโคซิสเต็ม เพราะไม่เก็บค่า GP จากปกติร้านอาหารต้องจ่ายค่า GP เฉลี่ย 30-40% ทั้งร้านต่าง ๆ ยังได้เงินค่าอาหารเข้าบัญชีภายใน 1 ชั่วโมง จากปกติต้องรอถึง 7 วัน กว่าที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ จะส่งเงิน เรายังประกาศการเป็นสังคมไร้เงินสด (cashless) ด้วยการตัดค่าอาหารผ่านบัญชีธนาคาร ตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการ

ตั้งแต่ที่เปิดตัวปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เรามีส่วนแบ่งตลาดขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากแกร็บ ในเซ็กเมนต์กลุ่มกลางขึ้นบน (เฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล)

มียอดการสั่งซื้อเฉลี่ย 230 บาทต่อคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) มากกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่อยู่ที่่ 120 บาทต่อคำสั่งซื้อ มียอดการใช้โค้ดส่วนลดเพียง 5% ของยอดการสั่งซื้อ ส่วนจำนวนพนักงาน
ส่งอาหารหรือไรเดอร์ มี 26,000 คน เพิ่มจากเดิม 2,000 คน

Q : จะขยายฟู้ดดีลิเวอรี่ไปในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย

ตอนนี้เริ่มเปิดตามหัวเมืองต่าง ๆ แล้ว โดยในช่วงต้นปีขยายไปใน 4 หัวเมืองใหญ่ คือ หัวหิน พัทยา ภูเก็ต และขอนแก่น เป้าหมายของเราชัดเจนคือไม่ขยายบริการฟู้ดดีลิเวอรี่ไปในทุกจังหวัด แต่จะขยายเฉพาะจังหวัดใหญ่ ๆ ตามเมืองท่องเที่ยว เพราะถ้าขยายไปครบทุกจังหวัดขาดทุนแน่นอน

ต้องยอมรับว่าบางจังหวัดยังไม่เหมาะกับบริการนี้ เช่น นครราชสีมา เป็นจังหวัดใหญ่ มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก แต่เมื่อให้บริการจริง พบว่าระยะการส่งเกิน 10 กิโลเมตร

นั่นหมายถึงว่า ถ้าลูกค้าสั่งชานมไข่มุก 1 แก้ว ราคา 40 บาท ระยะทางในการส่ง 10 กิโลเมตร ค่าขนส่งจริงเกือบ 200 บาท แต่ลูกค้าจ่ายค่าส่งแค่ 5 บาท เท่ากับส่วนต่างค่าขนส่งต้องมีผู้ที่จ่ายแทน แต่ถ้าในกรุงเทพฯระยะทางในการส่งเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5 กิโลเมตร มีปริมาณการส่งจำนวนมาก ทำให้สอดรับกับต้นทุน

Q : ภาพรวมตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ไทย

ปีนี้ในแง่ภาพรวมตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ยังเติบโต คาดว่าแพลตฟอร์มแต่ละรายจะโตไม่ต่ำกว่า 20-30% ขณะที่การแข่งขันยังค่อนข้างสูง เฉพาะปีที่ผ่านมามีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาถึง 2 รายใหญ่ ทั้งแอร์เอเชีย และช้อปปี้ฟู้ด

แต่ด้วยจุดแข็งของโรบินฮู้ดที่วางตัวไว้ชัดเจนว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเหลือคนตัวเล็ก เราจึงมีฐานลูกค้าที่ชัดเจนคือการเจาะกลุ่มกลางขึ้นบน ทำให้สามารถต่อยอดไปสู่บริการอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้อีก

Q : เป้าหมายคือเป็นซูเปอร์แอป

เป้าหมายสำคัญคือการเป็นซูเปอร์แอป แต่เราเปิดประตูแรกด้วยบริการฟู้ดดีลิเวอรี่ก่อน เพราะทุกคนต้องสั่งอาหารทุกวัน วันละ 3 มื้อ แต่จากนี้ไปจะมีบริการอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา

จากนี้ไปแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดจะเปิด 3 บริการใหม่ คือ Robinhood Travel บริการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน กิจกรรมท่องเที่ยว รถเช่า ประกันภัย (online travel agent) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและเอสเอ็มอี โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเข้าร่วม 45,000 ราย จะเปิดให้บริการภายในเดือนมีนาคม 2565 นี้

ถัดมาคือบริการ Robinhood Mart บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้า (mart service) ตั้งเป้าหมายมีร้าน 8,000-10,000 แห่ง เตรียมเปิดให้บริการภายในเดือนพฤษภาคมนี้

และสุดท้าย Robinhood Express บริการรับ-ส่งของ (express service) แบบ on demand รองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัว คาดว่าจะมีองค์กรธุรกิจกว่า 5,000 แห่งเข้าร่วมบริการนี้ โดยเตรียมเปิดให้บริการเดือนกรกฎาคม บริการใหม่ทั้งหมดยังตอกย้ำเป้าหมายเดิมคือช่วยเหลือคนตัวเล็ก

การลงทุนหลัก ๆ ในปีนี้ จะเน้นการลงทุนด้านคลาวด์ เนื่องจากมีบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

Q : บริการใหม่คือโอกาสสร้างรายได้

บริการใหม่นี้ จะเก็บค่า GP แต่อาจไม่สูงมาก ดังนั้นในปีนี้และปีหน้า (2566) บริษัทจะเริ่มมีรายได้เข้ามา คงอาจยังไม่ถึงกับมีกำไร แต่เป็นแนวโน้มที่ดี

รายได้ที่เข้ามาก็จะเข้าช่วยหล่อเลี้ยงการบริหารงานได้ส่วนหนึ่ง และเรามีแผนขยายสู่บริการใหม่ ๆ ในอนาคต เช่น สินเชื่อดิจิทัล (digital lending) เป็นต้น

Q : นำดาต้ามาต่อยอดธุรกิจ

หลังเปิดตัวปีกว่า ๆ ก็มีลูกค้าอยู่จำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าชั้นดีที่เข้ามาใช้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ ทำให้เรามีถังบิ๊กดาต้าอยู่พอสมควร ซึ่งธุรกิจธนาคารจะไม่มีดาต้าเหล่านี้ ที่จะรู้แค่ว่าลูกค้าใช้จ่ายเท่าไรจากการรูดบัตรชำระค่าสินค้า แต่ไม่รู้ว่าลูกค้าซื้อสินค้าอะไร หลังการเปิดบริการใหม่ ก็จะเท่ากับว่าเราจะมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านค้า ที่ในอนาคตจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ และให้บริการที่สอดรับกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้

เช่น ผู้ประกอบการโรงแรม ต้องการสร้างอาคารที่พักใหม่ หรือปรับปรุงโรงแรม บริษัทก็ปล่อยสินเชื่อให้ได้ ด้วยการใช้ดาต้าเหล่านี้มาวิเคราะห์ หรือผู้ประกอบการร้านอาหารต้องการเงินฉุกเฉิน เราก็ปล่อยสินเชื่อดิจิทัลได้ ด้วยการใช้ข้อมูลที่มีมาประเมินการตัดสินใจปล่อยวงเงินกู้ให้ เป็นต้น