สินค้าไอทีจ่อปรับราคารอบใหม่ “น้ำมัน-ค่าเงิน” ซ้ำเติมกำลังซื้อ Q1 แผ่ว

มหกรรมสินค้าไอที COMMART XTREME

ศึก “รัสเซีย-ยูเครน” พ่นพิษ สินค้าไอทีจ่อขึ้นราคาอีกรอบ “แอดไวซ์-สปีดคอมพิวเตอร์” เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด หลังราคาน้ำมันพุ่ง-อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนหนักกระทบต้นทุน รอประเมินสต๊อกรอบใหม่ พ.ค.นี้ ฟาก “เลอโนโว-เอปสัน” เผยกำลังซื้อผู้บริโภคเริ่มแผ่วดึงตลาดไอที Q1 โตลดลง ลุ้นต่อครึ่งปีหลังฟื้น

นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งสินค้าไอทีภายใต้แบรนด์ “แอดไวซ์” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายสินค้าไอทีในทุกหมวด ทั้งสมาร์ทโฟน, กล้อง, โน้ตบุ๊ก และอื่น ๆ

ซึ่งจะมีผลทำให้ต้องปรับราคาขึ้นหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะคาดการณ์ยอดขายและสั่งสินค้าล่วงหน้าถึง 3 เดือน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนและส่งผลกระทบต่อธุรกิจในขณะนี้ คือ ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นกระทบกับการขนส่ง ประกอบกับอัตราการเแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าปรับเพิ่มขึ้น

“หากสต๊อกวัตถุดิบในโรงงานผลิตหมดลง ในแง่ราคาก็อาจต้องปรับขึ้น แต่จะปรับขึ้นมากน้อยแค่ไหนตอบยาก เนื่องจากสินค้าไอทีไม่ได้มีดัชนีการวัดที่ชัดเจน คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน แน่นอนว่าถ้ายืดเยื้อส่งผลกระทบแน่ ๆ ที่ผ่านมาสินค้าไอทีมีปัญหาซัพพลายชอร์ตต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ราคาปรับขึ้นมาแล้วค่อนข้างมาก”

นายชนินทร์ เชาวะวนิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการขาย และการตลาด บริษัท สปีด คอมพิวเตอร์ จำกัด ผู้จำหน่ายสินค้าไอที กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในไตรมาส 1/2565 ปัญหาซัพพลายขาดเริ่มดีขึ้น เนื่องจากแบรนด์และผู้จำหน่ายสินค้าไอทีมีการคาดการณ์และสั่งสินค้าล่วงหน้า แต่ประเมินว่าหลังเดือน เม.ย.เป็นต้นไป จะเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยอาจทำให้สินค้าไอทีต้องเผชิญกับปัญหาซัพพลายขาดอีกครั้ง ส่งผลให้มีการปรับราคาขึ้นได้อีก

“2 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าไอทีปรับขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาซัพพลายชอร์ต แต่บางตัวก็ปรับลดราคาลงมาใกล้เคียงหรือถูกกว่าเดิมแล้วหลังจากซัพพลายเริ่มกลับมา แต่หากสงครามยืดเยื้อ ราคาก็อาจปรับขึ้นอีก”

นางสาวสุภมาส บุญประมุข ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจ เลอโนโว โมบาย บิสซิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นในทุกส่วน ส่งผลให้ในปลายปีที่แล้วบริษัทได้ปรับขึ้นราคาสินค้า 1 รายการในกลุ่มสมาร์ทโฟน ได้แก่ Motorola Moto e7i Power ขณะที่สินค้าตัวอื่นบริษัทยังคงราคาเดิม ส่วนปัญหาซัพพลายขาดไม่กระทบกับเลอโนโวแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทแม่ให้ความสำคัญกับตลาดในไทยเป็นอันดับต้น ๆ จึงมีสินค้าเข้ามาทำตลาดเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

“ไตรมาสแรกปีนี้ ภาพรวมตลาดไอทีโตลดลง จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโต และผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าปรับขึ้นเกือบทุกกลุ่ม แต่คาดว่าในครึ่งปีหลังกำลังซื้ออาจฟื้นกลับมาได้ เพราะทุกแบรนด์พยายามงัดทุกกลยุทธ์ออกมากระตุ้นยอดขาย เพื่อรักษาการเติบโต”

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้ความต้องการสินค้าไอทีจะเพิ่มต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่แบรนด์สินค้าไอทีส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับหลายปัญหา

โดยเฉพาะ 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่วนนี้ทำให้ราคาค่าขนส่งของบริษัทสูงขึ้น แต่ต้นทุนขนส่ง ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนด้านอื่น ๆ จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อเอปสันมากนัก 2.ปัญหาซัพพลายขาด คาดว่าปัจจัยนี้จะเป็นปัญหาสำคัญที่จะกระตุ้นให้สินค้าไอทีต้องปรับราคาขึ้น จากต้นทุนชิ้นส่วนผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และปีที่ผ่านมาปัจจัยนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าไอทีปรับขึ้นมาต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเอปสันต้องบริหารจัดการภายในต่อเนื่อง เพื่อหาจุดสมดุลและลดภาระให้แก่ผู้บริโภค

“ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อาจจะยังไม่ได้ส่งผลกระทบจนทำให้เอปสันต้องปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะมีโรงงานผลิตในอาเซียนหลายแห่ง บวกกับมีการบริหารจัดการเส้นทางการขนส่ง เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดี อย่างไรก็ตามผลจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ภาพรวมกำลังซื้อครึ่งปีแรกนี้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร”