เราขาดดุลการค้าดิจิทัลปีละเท่าไร ?

คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

แค่ 5 เดือน คนไทยจ่ายเงินให้ผู้ให้บริการออนไลน์ในต่างประเทศ 4 หมื่นกว่าล้านบาทนี่เรื่องจริงครับ

ข้อมูลตัวเลขจากกรมสรรพากรเกี่ยวกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ หรือ VES (VAT for Electronic Service) ที่คนไทยจ่ายออกไปกับผู้ให้บริการออนไลน์ในต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564-มกราคม 2565

สรรพากรได้ภาษี VAT 3 พันกว่าล้านจากผู้ให้บริการออนไลน์จากต่างประเทศ (แต่ส่วนใหญ่คนไทยคือคนที่จ่ายภาษีเพิ่ม เพราะผู้ให้บริการออนไลน์เหล่านี้ได้ชาร์จเพิ่มไปจากราคาปกติเรียบร้อยแล้ว)

ลองย้อนถามตัวคุณเองว่า ในเดือนหนึ่ง ๆ คุณจ่ายเงินให้ผู้บริการออนไลน์ของต่างประเทศไปแล้วกี่บาท ? ไม่ว่าจะเป็น Apple iCloud, Google, Youtube, Netflix, Spotify ฯลฯ นี่ยังไม่นับรวมไปถึงบรรดาเกมออนไลน์ที่เด็ก ๆ นิยมเล่นกัน

ยกตัวอย่าง ตัวผมเองคนเดียวก็ประมาณเดือนละ 2 พันกว่าบาท เปรียบเทียบปีหนึ่งราว 2 หมื่นกว่าบาท ถ้าคิดไปถึงจำนวนคนไทยที่ใช้บริการออนไลน์แบบผม ประมาณ 10 ล้านคน ปีหนึ่งคนไทยจ่ายค่าบริการออนไลน์ให้บริษัทต่างประเทศราว 2 แสนกว่าล้านบาทเลยทีเดียว !

ถ้าติดตามอ่าน ผมเคยพูดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2018 หรือเมื่อ 4 ปีก่อนว่า ประเทศไทยต้องมองไปเรื่องการขาดดุลดิจิทัลได้แล้ว และสรรพากรควรผลักดันเรื่องกฎหมายการเก็บภาษีจากผู้ให้บริการจากต่างประเทศ

 

ย้ำอีกทีนี่เป็นตัวเลขเพียงแค่ 5 เดือนเท่านั้น และเป็นการเริ่มต้นเก็บภาษีจากผู้ให้บริการต่างประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรเพียง 127 รายเท่านั้น ในความเป็นจริงยังมีผู้ให้บริการออนไลน์อีกมากอาจถึงพันรายที่ยังไม่ได้เข้ามาในระบบตรงนี้

สรรพากรเคยคาดการณ์ว่าภาษีส่วนนี้น่าจะจัดเก็บได้สูงถึง 3-5 พันล้านบาท แต่เพียง 5 เดือนยังจัดเก็บได้ถึง 3 พันล้านบาท จึงคาดว่าตัวเลขที่จะจัดเก็บได้ใหม่น่าจะสูงถึง 8 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

แต่ผมคาดการณ์ว่าคนไทยจะจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศปีหนึ่งสูงถึง 2 แสนล้านบาท

อย่างที่บอกไป ตัวเลขนี้คิดแค่จาก 127 ผู้ให้บริการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรเท่านั้น ถ้าประเมินจากอีกหลายร้อยบริษัทต่างประเทศที่ไม่ได้เข้าระบบ ปีหนึ่ง ๆ เราน่าจะจ่ายเงินออกไปให้ผู้ให้บริการออนไลน์ที่ต่างประเทศเกิน 2 แสนล้านบาทแน่นอน !

ย้ำ คนไทยขาดดุลดิจิทัลมหาศาล ยังไม่เคยมีใครพูดถึงคำว่า “ขาดดุลดิจิทัล” ผมขอเป็นคนไทยคนแรกที่นิยามคำนี้ขึ้นมาละกัน การจ่ายเงินให้กับบริษัทผู้ให้บริการออนไลน์ของต่างประเทศถึง 2 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบแล้วมากกว่ามูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปปี 2564 ที่มีเพียง 172,750 ล้านบาท หรือการส่งออกข้าวไทยปี 2564 ที่มีเพียง 107,758 ล้านบาทเท่านั้น (ขายข้าวทั้งปี ยังไม่ได้เท่ากับที่คนไทยขาดดุลดิจิทัลเลย)

สรุปง่าย ๆ คนไทยต้องส่งออกข้าวเพิ่มเป็น 2 เท่าถึงจะเท่ากับการที่คนไทยเสียเงินให้กับบริการออนไลน์บริษัทต่างประเทศ

นอกจากนั้น ตัวเลขการนำเข้าสินค้าของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าที่จับต้องได้เป็นหลัก เช่น น้ำมัน เหล็ก เครื่องจักร สินค้าเกษตร แต่ไม่มีตัวเลขสินค้าที่เป็นดิจิทัลเลยทั้งที่การขาดดุลสินค้าดิจิทัลสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของทุกกลุ่มประเภทสินค้า ฝากถึงหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ด้วยครับ และภาครัฐควรเพิ่มการขาดดุลสินค้าดิจิทัล เข้าไปในการคำนวณเชิงเศรษฐกิจของประเทศ

สิ่งที่ผมอยากฝากให้ทุกคนคิด การขาดดุลดิจิทัลของไทยเพิ่งเริ่มต้นไม่นาน ต่อไปทุกอย่างจะเป็นออนไลน์ทั้งหมด และบริการออนไลน์ที่เป็นของคนไทยจริง ๆ มีเพียงไม่กี่ราย เราจะจ่ายเงินออกไปให้ผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น การขาดดุลดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นอีกแบบมหาศาล ดังนั้นรัฐต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว

เกือบสิบปีที่ผ่านมา เรื่องนี้คือสิ่งที่ทำให้ผมลุกขึ้นมาผลักดันเรื่องการค้าดิจิทัลกับเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การรุกการค้าออนไลน์ของต่างประเทศ การเก็บภาษีดิจิทัล รวมไปถึงการขาดดุลดิจิทัลที่ประเทศไทยกำลังจะเสียหายอย่างมาก

ต้องขอขอบคุณกรมสรรพากรที่ลุกขึ้นมาจัดเก็บภาษีจากผู้ให้บริการต่างประเทศ ซึ่งตัวเลขที่นำออกมาคือโดมิโนตัวเล็ก ๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับเศรษฐกิจของไทยและธุรกิจดิจิทัลของไทย

อย่าแค่คิดว่าเดือนละไม่กี่ร้อยกี่พันบาทที่จ่ายออกไปจะทำให้ประเทศชาติขาดดุลได้ขนาดนี้เลยหรือ ? มันคือเรื่องจริงครับ๊เราทุกคนมีส่วนร่วมกันหมดครับ !