ร้านตู้มือถือยังไม่สิ้นมนต์ขลัง แบรนด์ดังรุมจีบเร่งปั๊มแชร์ตลาดภูธร

ร้านตู้มือถือต่างจังหวัดเนื้อหอม “แบรนด์ดัง-เชนค้าปลีก” รุมจีบ “โนเกีย” ชี้เครือข่ายร้านค้ารายย่อยในต่างจังหวัดยังไม่สิ้นมนต์ขลัง เหตุเข้าถึงฐานลูกค้าลงลึกถึงระดับอำเภอ ฟาก “วีเอสทีฯ” เดินหน้าอัดฉีด “โลคอลมาร์เก็ตติ้ง” เสริมพลังตัวแทนจำหน่าย ขณะที่ “เจมาร์ท โมบาย” ยึดเกมซินเนอร์ยี่กับบริษัทในเครือช่วยลูกตู้เต็มสูบ ทั้งลดภาระเรื่องสต๊อกสินค้า-อัดฉีดแคมเปญ “เงินผ่อน” ปลุกกำลังซื้อ

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการธุรกิจค้าปลีกโทรศัพท์มือถือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับบรรดาร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือรายย่อย หรือร้านตู้มือถืออิสระทั่วประเทศ จากมาตรการล็อกดาวน์ แต่เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มคลี่คลายลงก็เริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง แต่อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบไป เช่น หันไปเช่าพื้นที่นอกห้างมากขึ้น

ทั้งยังพบด้วยว่าร้านตู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีจำนวนลดลงค่อนข้างมาก ปัจจัยหลัก ๆ มาจากการแข่งขันสูงขึ้น ทั้งจากช่องทางออนไลน์ และร้านเชนใหญ่ ๆ ขยายสาขาไปในอยู่ทุกห้างสรรพสินค้าแล้ว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ร้านตู้ในต่างจังหวัดยังคงไปได้ เนื่องจากเจ้าของกิจการเป็นคนในพื้นที่จึงเข้าถึงการขายในแต่ละชุมชนได้ค่อนข้างดี ทั้งยังมีบริการหลากหลาย เช่น รับติดฟิล์มกันรอย, ซ่อมเครื่อง, แลกเปลี่ยนซื้อขายทั้งสินค้ามือหนึ่ง และมือสอง เป็นต้น ทำให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์ต่าง ๆ กลับมาให้ความสำคัญกับการกระจายสินค้าผ่านร้านตู้มากขึ้น

“ร้านตู้ที่หายไปเยอะก็น่าจะเป็นที่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่อยู่ในห้างเอ็มบีเค และพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ ที่เคยเป็นแหล่งขายมือถือ เพราะไม่ใช่แค่ต้องปิดร้านช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่ถึงจะกลับมาเปิดได้อีกแต่กลุ่มหลัก

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังไม่กลับมาจึงได้รับผลกระทบหนักมาก คาดว่ามีจำนวนมากที่ตัดสินใจเลิกกิจการ ขณะที่ร้านตู้ในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ยังไปได้ จากจุดแข็งที่เข้าถึงการทำตลาดในชุมชนทำให้แบรนด์ต่าง ๆ กลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง”

ด้าน นายภราดร รามบุตร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เอชเอ็มดี โกลบอล เจ้าของลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เสริม แบรนด์ “โนเกีย” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการเติบโตในเชิงจำนวนของร้านตู้มือถืออาจไม่หวือหวาเหมือนเดิม

โดยที่ยังเปิดให้บริการส่วนใหญ่เป็นร้านที่เปิดมานานจึงมีฐานลูกค้าประจำที่อาศัยอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ ซึ่งมีข้อดีคือ ฐานลูกค้ากลุ่มนี้มีแบรนด์ลอยัลตี้ค่อนข้างสูง ไม่เปลี่ยนใจง่าย และนิยมบอกต่อ ๆ กัน

“แม้ร้านตู้จะทำยอดขายได้ไม่มากเท่าร้านของเชนค้าปลีกรายใหญ่ ๆ แต่โนเกียให้ความสำคัญกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นร้านตู้ค่อนข้างมาก เนื่องจากเปิดให้บริการครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของโนเกียที่เป็นกลุ่มมือถือราคาเริ่มต้น เช่น C-Series มือถือปุ่มกด เป็นต้น”

ปัจจุบันโนเกียมีเครือข่ายร้านตู้มือถือกว่า 5,000 ร้านทั่วประเทศ และมีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาด และยอดขายให้ได้มาก

ด้าน นายสมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอที และสมาร์ทโฟน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์ต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับช่องทางการขายผ่านร้านค้าปลีกรายย่อยหรือร้านตู้มือถือมากขึ้น

เนื่องจากเจาะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้กว้าง และลึกขึ้น เพราะกระจายอยู่ตามชุมชนทั่วประเทศ ทำให้โมเดลการทำตลาดผ่านร้านตู้ยังเป็นโมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยมในต่างจังหวัด แม้จำนวนร้านตู้อาจลดลง หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19

“เราเองก็ให้ความสำคัญกับการผลักดันสินค้าผ่านร้านตู้มากขึ้นเช่นกัน ปัจจุบันถือว่ามีเครือข่ายที่แข็งแรงไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก รวมถึงในกรุงเทพฯและปริมณฑลด้วย รวมแล้วมีดีลเลอร์ที่เป็นพันธมิตรในพื้นที่มากกว่า 7,000 ราย ทิศทางการทำงานของเราในปีนี้จะเน้นไปในเรื่องการสร้างทีมงานที่เชี่ยวชาญ

เน้นการทำตลาดแบบโลคอลมาร์เก็ตติ้งตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ และเร็ว ๆ นี้จะเปิดตัวพาร์ตเนอร์ใหม่ที่เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนกลุ่มท็อป 3 ของโลกอีกราย จากเดิมที่ทำตลาดให้กับแบรนด์ TCL, ZTE, ซัมซุง และอินฟินิกซ์ คาดว่าภายใน 3 ปี จะมีรายได้จากกลุ่มสินค้าสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 5-10% ของรายได้รวม”

ขณะที่ นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร้านตู้มือถือยังเติบโต เนื่องจากมีบริการหลากหลายตั้งแต่รับติดฟิล์มไปจนถึงการรับซ่อมเครื่อง แต่ปัญหาใหญ่ที่ร้านตู้ส่วนใหญ่กำลังเผชิญ คือจำนวนลูกค้าที่ลดลง โดยเฉพาะช่วงการระบาดโควิด-19 ทำให้คนเดินห้างสรรพสินค้าลดลง

สำหรับทิศทางเจมาร์ท โมบายจะเดินหน้าผลักดันการขายผ่านตัวแทน “ซิงเกอร์” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ คาดว่าจะมีรายได้จากการขายผ่านช่องทางของซิงเกอร์ถึง 1,500 ล้านบาท รวมถึงขยายไลน์สินค้าไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นอกจากแก็ดเจต และสินค้าด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ แล้ว โดยยังคงเป้าหมายเดิมที่รายได้ 12,500 ล้านบาท เติบโต 50% จากปีก่อนภายในสิ้นปีนี้


นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเจมาร์ท โมบายยังร่วมมือกับบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ซึ่งเป็นผู้บริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้า ภายในชื่อ “IT Junction” ด้วยการให้ร้านตู้ที่เช่าพื้นที่นำสมาร์ทโฟนจากเจมาร์ท โมบายไปขายได้จึงไม่ต้องสต๊อกสินค้า อีกทั้งยังมีการจัดแคมเปญร่วมกับบริษัทในเครือ เช่น การปล่อยสินเชื่อ โปรโมชั่นผ่อน 0% ผ่านซิงเกอร์ เป็นต้น