ดาบสองคมของพลังโซเชียลมีเดีย บทสะท้อนเหตุกราดยิงในอเมริกา

Photo by CHANDAN KHANNA / AFP
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

โซเชียลมีเดีย มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์กราดยิงหลายครั้งในอเมริกา ทั้งในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างความเกลียดชัง ไปจนถึงเป็นเวทีให้ผู้ร้ายใช้ระบายความรู้สึกส่วนตัวและ “ถ่ายทอด” การสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมให้คนคอเดียวกันได้รับชมแบบสด ๆ

1 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุสะเทือนขวัญครั้งล่าสุดจากการบุกยิงเด็กนักเรียนและครูในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในรัฐเทกซัส จนมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 20 คน ก็มีเหตุการณ์การกราดยิงในซูเปอร์ที่เมืองบัฟฟาโล นิวยอร์ก ทำให้มีคนตายไป 10 คน

ผู้ร้ายของทั้ง 2 คดีเป็นวัยรุ่นอายุเพียง 18 ปีเหมือนกัน และทั้งคู่มีการอัพรูปอาวุธสังหารขึ้นโซเชียลมีเดียก่อนก่อเหตุ

เป็นอีกครั้งที่สังคมตั้งคำถามกับบทบาทของโซเชียลมีเดีย และมาตรการควบคุมเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดความเกลียดชัง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้หลายบริษัททนความกดดันไม่ไหว ต้องขยับมาตรการเพื่อตรวจสอบและควบคุมคอนเทนต์เพื่อลดความขัดแย้ง

แต่แพลตฟอร์มขนาดเล็กกลับรอดหูรอดตาการตรวจสอบ และยังคงเป็นเวทีให้เหล่าผู้ก่อเหตุและกองเชียร์ใช้เป็นสถานที่ซ่องสุมแชร์คอนเทนต์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เหมือนเช่น 4chan หนึ่งในโซเชียลมีเดียที่สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้น

จากการสอบสวนของตำรวจในคดีกราดยิงที่เมืองบัฟฟาโล พบว่าผู้ก่อเหตุแวะเวียนเข้ามาในแพลตฟอร์มนี้บ่อยครั้งตั้งแต่ปี 2020 โดยมักสิงอยู่ตามห้องของคนขาวที่เหยียดเชื้อชาติ และห้องที่มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธประเภทต่าง ๆ

ก่อนหน้าวันก่อเหตุ คนร้ายมีการโพสต์ข้อความเพื่อบอกเป็นนัยว่าใกล้จะเริ่มปฏิบัติการ

ในวันที่ลงมือ คนร้ายติดอาวุธครบมือ พร้อมไลฟ์สดเหตุการณ์ผ่านแพลตฟอร์มเกมอย่าง Twitch ตั้งแต่ตอนขับรถเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตเป้าหมาย จนถึงการเปิดฉากยิงเหยื่อทีละคน โดยจากเหยื่อทั้งหมดที่ถูกยิง 13 คน เป็นคนผิวดำถึง 11 คน และมีผู้เสียชีวิต 10 คน

แม้เจ้าหน้าที่ควบคุมคอนเทนต์ของ Twitch จะรีบลบคลิป และหยุดการถ่ายทอดสดของผู้ร้ายภายใน 2 นาที แต่แพลตฟอร์มขนาดเล็กอย่าง 4chan Gab และ Kiwi Farms กลับรีบนำเอาคอนเทนต์นั้นไปเผยแพร่ต่อแบบไม่แคร์ว่าจะยิ่งส่งเสริมให้เกิดการเหยียดผิวและสร้างความแตกแยกในสังคมมากขึ้นหรือไม่

จนถึงตอนนี้ วิดีโอกราฟิกเหตุกราดยิง และไดอารี่ที่ผู้ร้ายเขียนก่อนเกิดเหตุก็ยังเผยแพร่บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ แถมมีสมาชิกคอยเขียนชื่นชมคนร้ายอย่างต่อเนื่อง

“ทิม สไคว์เรล” หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของ Strategic Dialogue มองว่า ในขณะที่โซเชียลมีเดียมีความพยายามจะแสดงความรับผิดชอบในการเผยแพร่คอนเทนต์ แต่แพลตฟอร์มตัวเล็กตัวน้อยกลับเล็ดลอดสายตา และปฏิเสธที่จะควบคุมหรือตรวจสอบคอนเทนต์ใด ๆ

ซึ่งนั่นคือ สาเหตุว่าทำไมคลิปกราดยิงที่มีชนวนมาจากการเหยียดผิวในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อ 3 ปีก่อนยังคงมีการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้มือปืนแห่งเมืองบัฟฟาโลก่อเหตุคล้ายคลึงกันในอีก 3 ปีต่อมา

การที่แพลตฟอร์มอย่าง 4chan อยู่รอดมากว่า 2 ทศวรรษ (ก่อตั้งในปี 2003 ก่อนหน้า Facebook 1 ปี) เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครองโซเชียลมีเดียไม่ต้องรับผิดเนื้อหาที่ผู้ใช้งานโพสต์ อีกทั้งไม่มีแรงจูงใจในการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เน้นความรุนแรง

เพราะเป็นหมัดเด็ดไว้เรียกลูกค้าให้เข้ามาที่แพลตฟอร์มของตน ต่างจากโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก และจำต้องฟังเสียงเรียกร้องจากสังคม มิฉะนั้นอาจโดนกระแสตีกลับ เหมือนที่ Facebook เคยโดนบริษัทห้างร้านหลายแห่งบอยคอตไม่ซื้อโฆษณาหลังจากไม่ยอมลบโพสต์ของโดนัลด์ ทรัมป์ กรณีจอร์จ ฟลอยด์ คนดำที่ตำรวจผิวขาวจับกุมจนถึงแก่ความตาย

ทางหนึ่งที่อาจหยุดแพลตฟอร์มแบบ 4chan ได้ คือ การขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เช่น 4 ปีก่อน แพลตฟอร์มชื่อ 8chan ซึ่งแยกตัวมาจาก 4chan ต้องปิดตัวเองลง หลังจากที่ Cloudflare สั่งระงับการให้บริการ เมื่อตำรวจพบว่า 8chan เป็นแพลตฟอร์มที่มือกราดยิงในห้าง Walmart ที่เมืองเอลพาโซ ในรัฐเทกซัส ใช้เป็นที่เผยแพร่เนื้อหาของพวกคนผิวขาวคลั่งชาติก่อนก่อเหตุ

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ใช่ว่าจะกำราบให้แพลตฟอร์มได้ราบคาบ ตราบที่ยังมีผู้ให้บริการพื้นฐานรายอื่นคอยให้ความสนับสนุน เช่น กรณีของ Parler โซเชียลมีเดียที่โดนขับออกจาก Clouse Service Platform ของ Amazon หลังพบว่ามีส่วนยุยงให้เกิดความรุนแรงจนนำไปสู่เหตุจลาจลที่ “แคปิตอล ฮิลล์” ในวันที่ 6 ม.ค. 2021 จนมีผู้เสียชีวิตไป 5 คน

แต่ผ่านมาไม่ถึงปี Parler ก็กลับมาอยู่บนโลกออนไลน์อีกครั้ง ด้วยความช่วยเหลือของ SkySilk บริษัท web hosting ที่อ้างว่าที่ทำไปเช่นนั้นเพราะต้องการปกป้อง “free speech”

ประเด็นนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งความลักลั่นในสังคมอเมริกันที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะปกป้องสิทธิพื้นฐานในการแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียอย่างไร โดยไม่ให้กลายเป็นแหล่งเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังและนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งแล้วครั้งเล่าดังเช่นที่ผ่านมา