เจ้าหนี้การค้าลดเครดิต “สหฟาร์ม” จี้ “โชติเทวัญ” เร่งจ่ายหนี้เก่าพันล้าน

สหฟาร์ม

สหฟาร์มเรียกประชุมด่วน กลุ่มเจ้าหนี้การค้าขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าขายวัตถุดิบให้ หลังตระกูลโชติเทวัญกลับเข้าบริหาร เผยหนี้เก่า 2,000 ล้านได้คืนแค่ 11% ร้อง CEO ทำหนังสือรับรองมูลหนี้ ขอลดเครดิตเทอมเหลือ 3 วัน “กรุงไทย” ยังคุมระบบรับ-จ่ายเงิน แต่ไม่ต้องรับผิดชอบการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้

หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของกลุ่มบริษัท สหฟาร์ม ผู้ผลิตและส่งออกไก่เนื้อรายใหญ่ โดยให้ตระกูลโชติเทวัญ เข้าบริหารกิจการตามเดิมหลังจากเคยประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนักตั้งแต่กลางปี 2555 โดยบริษัท สหฟาร์ม มีหนี้สิน 14,110.87 ล้านบาท และบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด มีหนี้สิน 12,524.47 ล้านบาท และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 หรือ 7 ปีที่ผ่านมา และให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (EY) เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ

สหฟาร์มยันยึดคำสั่งศาล 10 ปี

แหล่งข่าวจากวงการเจ้าหนี้การค้าเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 นายยุกต์ โสพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ พร้อมด้วย นายยงยุทธ นันทพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ (CEO) บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ได้เชิญเจ้าหนี้ซัพพลายเออร์รายใหญ่เกือบ 40 ราย ที่เคยส่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้มาประชุม เพื่อรับทราบนโยบายการค้า บทบาทของธนาคารในสหฟาร์ม พร้อมตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูการจ่ายชำระหนี้เก่า

นายยงยุทธ นันทพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ได้ชี้แจงว่า เป็น CEO ที่ตระกูลโชติเทวัญแต่งตั้งขึ้น และได้รับความเห็นชอบจากธนาคารกรุงไทย มีสัญญา 5 ปีจนถึงปี 2570 ทำหน้าที่ดูแลรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งหมด เพื่อดำเนินการต่อจากแผนฟื้นฟูให้เสร็จสิ้นตามคำสั่งศาล พร้อมแจ้งว่า กรอบการค้าขายปัจจุบันจะดำเนินการเหมือนกับช่วงแผนฟื้นฟูกิจการ 7 ปีทุกอย่าง โดยธนาคารกำหนดเงื่อนไขขั้นตอนต่าง ๆ ในการตรวจสอบในการรับสินค้า ควบคุมการรับและจ่ายเงินทั้งหมด บริษัทไม่ได้จ่ายเงินเอง

ส่วนแผนการชำระหนี้เดิม ขณะนี้ทางกลุ่มสหฟาร์มเหลือภาระที่จะต้องชำระให้กับเจ้าหนี้ทั้งหมดประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบริษัท สหฟาร์มมีหนี้ภาระเงินต้นประมาณ 1,306 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้ของบริษัท โกลเด้นท์ ไลน์ฯ คาดการณ์ไว้ว่าจะชำระหนี้ได้ตามแผนการชำระหนี้ตามคำสั่งศาลภายในปี 2570

อย่างไรก็ตาม ภาวะตอนนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ปี 2565 บริษัทมีกำไรหลักพันล้านบาท แต่เนื่องจากว่ามีส่วนหนึ่งที่นำไปชำระหนี้ในส่วนต่าง ๆ ตามแผน แต่ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ และกำไรเป็นหลักพันล้านบาทเหมือนกัน ทางบริษัทอาจจะสามารถชำระหนี้ได้เร็วขึ้นกว่าปี 2570 เพื่อจะได้ออกจากแผนโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่ออกจากแผนฟื้นฟูด้วยวิธีปัจจุบันนี้ อย่างที่เห็นถูกธนาคารควบคุมไปทั้งหมด

เจ้าหนี้ไม่เชื่อใจตระกูลโชติเทวัญ

ด้านเจ้าหนี้การค้าหลายรายต่างไม่มีความเชื่อมั่นในการกลับมาทำการค้าขายกับตระกูลโชติเทวัญ เนื่องจากหนี้เก่าเพิ่งชำระไปเพียง 11-12% ยังเหลือมูลหนี้อีก 88% โอกาสที่กลุ่มสหฟาร์มจะชำระหนี้มีสูงหรือต่ำ ไม่มีใครให้ความชัดเจนได้ ทำให้ซัพพลายเออร์ต่างกังวลใจว่า หลังออกจากแผนฟื้นฟู 7 ปี ใครจะเป็นคนควบคุมการจ่ายหนี้ โดยเจ้าหนี้หลายรายเรียกร้องให้ทาง CEO บริษัท สหฟาร์ม ทำหนังสือยืนยันว่า ทางบริษัท สหฟาร์ม และบริษัท โกลเด้น ไลน์ฯ ยืนยันจะทำตามแผนชำระหนี้ตามคำสั่งศาล ซึ่งจะชำระจบในเดือนกันยายน 2570 เพื่อจะได้สร้างความเชื่อมั่นและเป็นหลักประกันให้เจ้าหนี้มั่นใจ

รวมถึงระบุมูลหนี้คงเหลือให้เจ้าหนี้แต่ละรายทราบ และจัดทำแผนการจ่ายชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยให้แนบแผนการดำเนินงาน การคาดการณ์รายได้ตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงปี 2570 เนื่องจากช่วงปี 2568-2570 เปอร์เซ็นต์การจ่ายหนี้จะเพิ่มขึ้นมาก ทางเจ้าหนี้ไม่มั่นใจว่า บริษัทจะมีกำไรพอจ่ายหนี้ได้หรือไม่ และกังวลว่า เมื่อถึงเวลาทางกลุ่มสหฟาร์มอาจขอทำเรื่องยืดหนี้ออกไปอีก จึงอยากให้สร้างความเชื่อมั่นให้กับซัพพลายเออร์ก่อนจะส่งสินค้าใหม่ นอกจากนี้เจ้าหนี้บางรายเห็นว่า ในเมื่อบริษัทมีกำไรระดับพันล้านบาทต่อปี น่าจะชำระหนี้เก่าให้หมดโดยเร็ว ก่อนจะค้าขายกันต่อไป

ขณะที่ผู้ค้าข้าวโพดรายหนึ่งได้เสนอว่า การค้าขายปัจจุบันเป็นระบบเครดิต 7 วัน ต้องการขอเปลี่ยนเป็นเครดิต 3 วัน เหมือนเครือ ซี.พี , เครือเบทาโกร และบริษัท ไทสัน โพลทรี่ (ไทยแลนด์) จำกัด เนื่องจากตอนนี้ผู้บริหารตระกูลโชติเทวัญชุดเดิมเข้ามาบริหาร กลุ่มเจ้าหนี้จึงต้องการขอความมั่นใจจากธนาคาร เนื่องจากไม่มีความเชื่อมั่นต่อกลุ่มสหฟาร์ม หากยังใช้ระบบเครดิต 7 วันแบบเดิมไม่กล้าส่งสินค้าให้

“คำพูดเชื่อไม่ได้ เนื่องจากอดีตทำให้ทุกคนเจ็บปวด ความมั่นใจยังไม่กลับมา แม้ว่าธนาคารจะมีการกำหนดขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบอย่างไร แต่ความเชื่อมั่นและมั่นใจยังไม่กลับมา การปรับเครดิตมาเหลือ 3 วัน เพราะหากเกิดอะไรขึ้นยังกลับตัวทัน ยกตัวอย่าง ผู้ค้ารายหนึ่งส่งข้าวโพดวันละ 40 รถบรรทุกพ่วง คิดเป็นมูลค่า 14 ล้านบาทต่อวัน รวม 7 วัน มูลค่า 98 ล้านบาท ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นเท่ากับล้มทั้งยืน”

กรุงไทยไม่รับรองการชำระหนี้

นายยุกต์ โสพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารเข้ามาดูแลสหฟาร์มตั้งแต่ปลายปี 2556 และทราบถึงความเจ็บปวดของซัพพลายเออร์ ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ ช่วงกลางปี 2557 ธนาคารเริ่มให้วงเงินหมุนเวียนในการจ่ายค่าวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยกำหนดกลไกขั้นตอนในการสร้างความมั่นใจขึ้นมา พอ EY เข้ามาเป็นผู้บริหารได้นำมาใช้ต่อในช่วง 7 ปี จน EY หมดวาระตามเวลาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ก็คืนทุกอย่างให้ผู้ถือหุ้น แต่ธนาคารยังมีการตรวจสอบกระแสเงินสดเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพื่อให้มั่นใจว่า ซัพพลายเออร์จะได้เงินค่าสินค้า ทั้งนี้ ถ้าซัพพลายเออร์จะให้ปรับเครดิตมาเหลือ 3 วัน ธนาคารต้องหารือกับบริษัทว่า ถ้าปรับแล้วจะกระทบระบบควบคุมการตรวจสอบอย่างไร

นายยุกต์กล่าวถึงแผนการชำระหนี้กว่า 2,000 ล้านบาทว่า ตามกฎหมายกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารดำเนินการได้ไม่เกิน 5 ปี และขอขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี รวมเป็น 7 ปี ครบกำหนดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ดังนั้น ศาลต้องขอออกจากกระบวนการฟื้นฟูไปก่อน แต่ตารางแผนการชำระหนี้ยังเป็นไปตามคำสั่งศาล ซึ่งกำหนดชำระหนี้ภายใน 10 ปี จนถึงปี 2570 คำสั่งของศาลถือมีผลผูกพันทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยไม่ได้ควบคุม หรือรับผิดชอบในการจ่ายชำระหนี้ แต่ควบคุมการทำงานของกลุ่มสหฟาร์มผ่านช่องทางงบประมาณ ตั้งแต่การรับเงิน การสั่งซื้อสินค้า และการจ่ายเงิน บทบาทของธนาคารกรุงไทยไม่ได้รับรองการจ่ายหนี้ แต่ควบคุมว่าบริษัทจะเดินตามกติกานี้ ตราบใดที่ใช้เงินของธนาคารกรุงไทยจะต้องมีการดำเนินการให้โปร่งใส ซึ่งธนาคารมั่นใจว่าถ้ามีความโปร่งใส เงินทุกบาทที่ได้มาจะต้องมาจ่ายคืนหนี้ตามตารางที่กำหนด ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยเป็น 1 ในเจ้าหนี้ ต้องได้รับการชำระเงินตามตารางเหมือนเจ้าหนี้ทุกคน โดยช่วงปี 2567-2570 ซัพพลายเออร์จะได้รับชำระหนี้ปีละกว่า 20%