10 จังหวัดอีสาน จมน้ำหมื่นล้าน จี้รัฐออก “แพ็กเกจเยียวยา”

น้ำท่วมโคราช

ธุรกิจ 10 จังหวัดอีสานอ่วมน้ำท่วมเสียหายนับหมื่นล้าน “อุบลฯ-ชัยภูมิ-สารคาม” เข้าเขตเศรษฐกิจรอบเมือง อุบลฯวิกฤตหนักคาดเสียหายเฉียด 6 พันล้าน หอการค้าภาคอีสานวอนรัฐจัดหาวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% ช่วยฟื้นฟู ชี้ต้องแก้ปัญหาระยะยาวแก้น้ำท่วม น้ำแล้ง เร่งทำฝายกั้นน้ำป่าไหลหลาก หลายจังหวัดกังวลฝนยังไม่หมดช่วง มีโอกาสน้ำหลากซ้ำเติมวิกฤต

รายงานข่าวจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้จากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ 17 จังหวัด โดยเฉพาะโซนภาคอีสานมีทั้งหมด 10 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ภาคอีสานมีรายงานล่าสุดว่าประสบภัยน้ำท่วมไปแล้ว 10-11 จังหวัด และกำลังทยอยเพิ่มมาอีก ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างสะดุด ขณะที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 เบื้องต้นประเมินว่าเศรษฐกิจน่าจะได้รับผลกระทบกว่า 30-40% แต่ยังประเมินแน่ชัดไม่ได้เพราะหลายพื้นที่หากน้ำลดเร็วก็น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว

“หลายจังหวัดน้ำท่วมเพียงรอบนอก ไม่ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ ยกเว้น ชัยภูมิ และอุบลราชธานี ที่ค่อนข้างหนัก พื้นที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดน่าจะเป็นภาคอีสานตอนล่าง ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เกษตรถัดมาคือการขนส่งและการบริการที่ชะลอเล็กน้อย แต่ด้านภาคการท่องเที่ยวยังไม่กระทบมากนัก ขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังประเมินความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งคาดว่าน่าจะมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท”

นายสวาทกล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.เงินทุน เช่น หาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ 2.สิทธิประโยชน์ด้านสินเชื่อ ลดข้อจำกัดผ่อนปรนข้อกำหนดบางอย่าง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น 3.การลดหย่อนภาษี หากสามารถทำได้หลังน้ำท่วมไม่เกิน 1-2 เดือน จะสามารถเดินเครื่องเศรษฐกิจได้ต่อ

ร้อยแก่นสารสินธุ์เศรษฐกิจสะดุด

นายกมลพงศ์ สงวนตระกูล ประธานหอการค้ากลุ่มอีสานตอนกลาง 2 หรือ “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด-ขอนแก่น-มหาสารคาม-กาฬสินธุ์ และประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวในเรื่องนี้ว่า สำหรับกลุ่มจังหวัดอีสานตอนกลาง 2 ขณะนี้ยังต้องรอดูสถานการณ์น้ำต่อไปอีกว่าจะท่วมขังหรือไม่อย่างไร

สิ่งที่กังวลในขณะนี้คือ หากน้ำท่วมขังนานก็อาจจะมีผลกระทบทางด้านเกษตร เพราะไตรมาส 4 เป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร และปัญหาการเดินทางสัญจรที่ไม่สะดวกจะกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

“ตอนนี้จังหวัดที่น้ำท่วมหนักคือ ชัยภูมิ และกำลังระบายน้ำมายังขอนแก่น ที่เป็นทางผ่านของลำน้ำชี และทำให้น้ำเอ่อท่วมแต่มักไม่ท่วมขังนาน พื้นที่เศรษฐกิจยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ถัดมาคือ มหาสารคาม ที่กำลังรองรับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ที่น้ำกำลังเพิ่มสูงขึ้น ต้องรอลุ้นว่าจะลดและระบายออกไปได้เร็วเพียงใด ซึ่งกลุ่มจังหวัดอีสานตอนกลาง 2 ได้รับผลกระทบหนักที่สุดน่าจะเป็นภาคเกษตร ส่วนธุรกิจอื่นอาจได้รับผลกระทบ แต่ยังไปได้”

อุบลราชธานี สูญเฉียด 6 พันล้าน

นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี แสดงความเห็นว่า น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีปีนี้หนักกว่าปี 2562 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งตอนนั้นเสียหายไปประมาณ 5,800 กว่าล้านบาท เป็นภาคการเกษตรกว่า 4,200 ล้านบาท และน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตอนนี้อาจจะใกล้เคียงกันหรือมากกว่าปี 2562 เพราะน้ำท่วมขัง ภาคเกษตรเสียหายไปแล้ว 1.5 แสนไร่ และน้ำยังมาเรื่อย ๆ คาดว่าภาคเกษตรน่าจะเสียหายไม่น้อยกว่า 3 แสนไร่ ถัดมาคือภาคการค้า และภาคอุตสาหกรรมกับภาคการท่องเที่ยวตามลำดับ

“ตอนนี้น้ำไหลมาจากทุกทิศทุกทาง ทั้งจากเขื่อนอุบลรัตน์ ลำน้ำมูล เฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกวัน แนวโน้มความเสียหายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันท่วมไปแล้ว 17 อำเภอจาก 25 อำเภอ และคาดว่าน้ำจะท่วมนานนับเดือน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำและพื้นที่การเกษตร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภายในตัวเมืองอุบลยังคงมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง เพราะน้ำยังท่วมไม่ถึง แต่ อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อกัน ถนนเลี่ยงเมืองไม่สามารถสัญจรได้แล้ว และการระบายน้ำลงแม่น้ำโขงก็ค่อนข้างทำได้ช้า”

วอนรัฐจัดซอฟต์โลนอุ้ม SMEs

นายสิทธิพล สุทธิศักดิ์ภักดี ประธานหอการค้าจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้แม้สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอเมืองชัยภูมิลดระดับลงแล้ว แต่ผู้ประกอบการธุรกิจในเขตพื้นที่เศรษฐกิจรอบเขต อำเภอเมืองชัยภูมิ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 1 สัปดาห์ เสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายในพื้นที่ชุมชนบ้านเรือน พื้นที่เกษตร และอยากจะขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดหาวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงินขั้นต่ำรายละ 3-5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% มาช่วยเหลือผู้ประกอบการในการฟื้นฟูกิจการ

กลางสัปดาห์ พื้นที่เขตเศรษฐกิจบริเวณตลาดสด ร้านค้า ร้านโชห่วยปิดกิจการชั่วคราวกันหมด เพราะน้ำท่วมสูงมาก โดยทางหลวงหมายเลข 201 ชัยภูมิ-สีคิ้ว ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักในการเข้า-ออกเมืองชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 10 กม.ใช้การไม่ได้ เวลาออกนอกเมืองต้องวิ่งอ้อม ระยะทางกว่า 60-70 กม. อย่างไรก็ตาม ถึงน้ำลดระดับลงแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลกัน เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่า วันที่ 11-12 ต.ค. 65 ยังจะมีฝนตกหนักอีก จึงต้องค่อยเฝ้าระวังทั้งสถานการณ์น้ำเหนือ และปริมาณน้ำในลุ่มน้ำชี

“น้ำท่วมปีนี้ผู้ประกอบการเตรียมตัวรับมือกันไว้ระดับหนึ่งทำให้เสียหายไม่มากนัก เพราะมีบทเรียนจากปี 2564 ซึ่งเคยเกิดน้ำท่วมหนัก และเสียหาย 1,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมตัว แต่ปี 2564 รัฐก็ไม่ได้เข้ามาเยียวยาช่วยเหลือภาคธุรกิจเลย ยกเว้นภาคเกษตร ดังนั้นปีนี้หวังว่าภาครัฐจะมีวงเงินเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยบ้าง”

เลยชงสร้างฝายแก้น้ำท่วม

นายณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดเลย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดเลยน้ำไม่เข้าท่วมพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการยังค้าขายได้ปกติ ยกเว้น พื้นที่บริเวณริมตลิ่งในเขตอำเภอเมืองเลยที่ได้รับผลกระทบ ความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท และยังต้องเฝ้าระวัง เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาบอก ยังมีฝนอีกในช่วงสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดเลยเป็นพื้นที่ลาดชัน น้ำไหลเร็ว หอการค้าและหลายหน่วยงานเคยเสนอให้มีการก่อสร้างฝายเก็บกักน้ำสาขาหลาย ๆ แห่ง เพื่อไม่ให้น้ำจากบนภูเขาไหลลงมาด้านล่าง และสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้ แต่ติดปัญหาพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างเป็นพื้นที่ป่าสงวน กรมชลประทานไม่สามารถดำเนินการได้