“เชียงใหม่” ดันท่องเที่ยวชุมชน ฟื้น “คลองแม่ข่า” สู่ย่านเศรษฐกิจ

คลองแม่ข่า

คลองแม่ข่า (Mae Kha Canal) เป็นคลองโบราณอายุกว่า 700 ปีของจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ระบายน้ำล้นจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ลงสู่แม่น้ำปิง โดยทอดตัวผ่านใจกลางเมืองใกล้กับย่านเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งพัฒนาโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ให้กลายเป็นแลนด์มาร์ก

สถานที่ท่องเที่ยวฮอตฮิต ที่ว่ากันว่าละม้ายคล้ายคลองโอตารุในจังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น และคลองแม่ข่านับเป็นเรือธง (flagship) เป็นต้นแบบ (model) การพัฒนาส่วนต่อขยายคลองแม่ข่าในพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่ ในระยะทางอีกราว 4 กิโลเมตร โดยจะเริ่มดำเนินโครงการส่วนต่อขยายระยะที่ 2 ภายในปี 2566

“อัศนี บูรณุปกรณ์” นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการพัฒนาคลองแม่ข่าบริเวณถนนระแกงระยะที่ 1 มีจุดเริ่มต้นบริเวณสะพานแม่ข่า (ระแกง) ระยะทาง 750 เมตร ใช้งบประมาณในการพัฒนาราว 22 ล้านบาท

เพื่อดำเนินการสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียของชุมชนสองฝั่งคลอง ทั้งปรับภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมชุมชน ทำหลังบ้านให้เป็นหน้าบ้าน อาทิ การปรับปรุงบ้านเรือนที่รุกล้ำทางเดิน การทำทางเดิน (pathway) การทำระบบบำบัดน้ำเสีย โดยโครงการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

“ด้วยแนวคิดการออกแบบตามวิถีของสายน้ำที่มีความคดโค้งอิสระตามธรรมชาติ เส้นทางน้ำลัดเลาะผ่านบ้านเรือนรูปทรงต่าง ๆ มีความเป็นเอกลักษณ์ (unique) ของชุมชน 2 ฝั่งคลอง ปรับดีไซน์ด้วยซีรีนบล็อกกั้นแนวตลิ่งริมน้ำที่มีความสวยคลาสสิก ทันสมัย และเป็นสากล

เติมพื้นที่สีเขียวตลอดแนวริมคลองด้วยพืชผักสวนครัวและดอกไม้ ทำให้ชุมชนคลองแม่ข่าแห่งนี้มีความน่าอยู่มากขึ้น และกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยือนอย่างต่อเนื่องตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีแห่งคลองและวิถีชุมชนที่อยู่ด้วยกันกลางเมืองเชียงใหม่”

“อัศนี” บอกว่า เทศบาลนครเชียงใหม่จะยังคงติดตามการพัฒนาคลองแม่ข่า (ระแกง) อย่างต่อเนื่อง ในฐานะพี่เลี้ยงชุมชน และให้ชุมชนดำเนินการต่อด้วยการตั้งคณะกรรมการ 2 ฝั่งคลองขึ้นมา เนื่องจากชุมชนคลองแม่ข่าเคยเป็นคลองที่เสื่อมโทรม เมื่อกลายมาเป็นคลองที่สวยงาม จึงต้องการให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีความยั่งยืน รักษาความเป็นวิถีชีวิตเอาไว้ไม่ให้ชุมชนโตเร็วเกินไป เพราะจะเกิดผลกระทบตามมาหลายด้าน

สำหรับโครงการพัฒนาคลองแม่ข่าระยะที่ 2 ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้รับงบอุดหนุนจากสำนักงบประมาณจำนวน 18.3 ล้านบาท และเทศบาลนครเชียงใหม่จะเติมงบฯเข้าไปอีก 2 ล้านบาท รวมกว่า 20 ล้านบาท

เพื่อดำเนินโครงการเชื่อมต่อจากคลองแม่ข่า (ระแกง) ไปถึงกาดก้อม ระยะทางราว 560 เมตร คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้างราว 1 ปี 6 เดือน ขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการ พูดคุยและหารือกับบ้านทุกหลังตลอดแนวคลอง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ตอบรับการพัฒนาค่อนข้างดี

“โพจน์ รุ่งโรจน์กุลพร” ชาวบ้านในชุมชนคลองแม่ข่า (ระแกง) ที่อาศัยอยู่ในชุมชนมานานกว่า 20 ปี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในอดีตบริเวณตลอดแนวริมคลองแห่งนี้เป็นป่ารกร้างเสื่อมโทรม ทั้งแคบ กลิ่นเหม็น ยุงเยอะ คนที่อาศัยอยู่โดยรอบมีเพียงคนเมือง ชนเผ่าอาข่า ลาหู่ จีนฮ่อ ซึ่งอยู่มาแต่ดั้งเดิมและสืบทอดมาถึงลูกหลาน

กระทั่งหลายปีก่อนเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สถาบันการศึกษา ชุมชนบนเส้นทางน้ำ ร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน มาพูดคุยถึงปัญหาและมีมาตรการร่วมกันในการช่วยกันดูแลคลอง จึงเกิดการพัฒนาคนให้อยู่ในกฎระเบียบร่วมกัน และทำให้คลองแม่ข่ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชน

“คลองแม่ข่าเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ตั้งแต่ 4 เดือนที่แล้ว ชาวบ้านในชุมชนก็เอาของกินของที่ระลึกมาขาย เอาวิถีชีวิตของชนเผ่าตัวเองรวมทั้งวัฒนธรรมการแต่งกายมาขายด้วย ทำให้ทุกคนในชุมชนมีรายได้มากขึ้น สามารถนำไปลงทุนในการพัฒนาหน้าบ้านตัวเอง ซื้อของตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม จัดการกันเอง ดูแลกันเอง ทุกคนในชุมชนก็พัฒนาไปด้วยกัน”

“โพจน์” บอกว่า ชุมชนคลองแม่ข่าอยู่กันประมาณ 300-400 หลังคาเรือน ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในชุมชนหลายร้อยคน โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดยาวนับได้นับพันคนต่อวัน เพราะทำเลที่ตั้งอยู่ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะมานั่งเล่นเดินเล่นอยู่ริมคลอง ที่ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และมีร้านขายของชำมากมาย

รวมถึงมีงานศิลปะจัดแสดงด้วย คาดว่าต่อไปในอนาคตร้านขายสินค้าในชุมชนคลองแม่ข่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่แวะมาเยี่ยมเยือนยังสามารถเก็บผักสวนครัวริมคลองที่ชาวบ้านปลูกไว้ไปกินได้ ถือเป็นการแบ่งปันกันโดยไม่ต้องซื้อขาย

ดังนั้น การพัฒนาคลองแม่ข่าจะต้องดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นต้นแบบการฟื้นชีวิตคลองโบราณให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นแลนด์มาร์กท่องเที่ยวที่งดงามแห่งใหม่ของเมืองเชียงใหม่ จนรุ่นหลังแทบไม่รู้เลยว่าสภาพที่เห็นแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง สามารถปลุกการท่องเที่ยวเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืนได้ในปัจจุบัน