ภูเก็ต ระดมสมองตั้งรับภัยพิบัติ จัดประชุม Survival in Phuket 7-9 ธ.ค.

ภูเก็ตเร่งระดมสมองตั้งรับภัยพิบัติ “น้ำท่วม-ดินสไลด์”จัดประชุมเชิงวิชาการ Survival in Phuket ถอดบทเรียนวางแนวทางแก้ไขป้องกัน 7-9 ธ.ค.นี้

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมการถอดบทเรียนและวางแนวทางแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ อุทกภัย และ ดินสไลด์ แบบบูรณาการในจังหวัดภูเก็ต โดยมี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมฯ ณ หอประชุมจังหวัดภูเก็ต ศูนย์ราชการจังหวัดภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนัก และต่อเนื่องในช่วง 16-31 ตุลาคม 2565 เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ อุทกภัย ดินสไลด์ กระทบในหลายพื้นที่ ของภูเก็ต เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านธรณี ซึ่งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันบรรเทาความเดือดร้อนแก้ปัญหาให้กับประชาชน อย่างเข้มแข็งต่อเนื่องจนสถานการณ์กลับเข้าสู่ปกติ และเมื่อคืนวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ฝนตกหนักน้ำท่วมในหลายพื้นที่อีก จึงต้องการให้มีการถอดบทเรียนวางแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงสื่อสารให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์จึงจัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น

“ที่ผ่านมา ภูเก็ตเจอ Disruption และโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีน้ำฝนมาก ปัจจุบันเฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ 3,000 มิลลิเมตร เกินค่าเฉลี่ย ถ้าน้ำไหลล้นสปริงเวย์กระทบ ถ้าเลวร้ายกว่านี้ในสภาพดินภูเก็ตไหลลงมาค้างในท่อ เป็นผลจากน้ำท่วมขัง ดินสไลด์ ต้องดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญโดยเฉพาะในเขตเมืองภูเก็ตเมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำท่วม โดยในส่วนงบประมาณปี 2567ต้องรอไปอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ มีน่าสังเกตว่า ในช่วงที่เกิดน้ำท่วม ทำไมน้ำไหลมาเร็ว แรง และน้ำเป็นสีโคลนแสดงว่าต้นไม้ในป่า บนภูเขาถูกทำลายหายไปหรือไม่ ทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ ปัญหาตรงนี้เราจะดูแลทรัพยากร ธรรมชาติอย่างไรไม่ให้มีปัญหามากกว่านี้”

ขณะนี้ จังหวัดภูเก็ต มีสัญญาณเตือนภัยจากน้ำท่วมขังดินสไลด์ และฝนที่ตกลงมาเล็กน้อย แต่เม็ดใหญ่มาก และเป็นแบบกระจุก ซึ่งปริมาณน้ำฝน คือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น รวมทั้งกรณีดินสไลด์บริเวณถนนทางขึ้นเขาป่าตองเป็นดินทรายเมื่อฝนตกหนักโดนน้ำละลายไหลลงมาอุดตันในท่อต่างๆของท้องถิ่นเทศบาลนครภูเก็ต ทำให้น้ำท่วมไหลลงทะเลไม่ทัน

“เราเคยมีบทเรียนกับคลื่นยักษ์สึนามิ และในอนาคตยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ทางจังหวัดจึงนำเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญวางแผนรับมือ ให้ทุกฝ่ายตระหนักรู้ในการป้องกันไว้ก่อนเชื่อว่าปัญหาในวันข้างหน้ามีมากกว่านี้ต้องปรับปรุงรับมือและภูเก็ตเป็นพื้นที่จะต้องสร้างรายได้การท่องเที่ยวให้กับประเทศหากเกิดภัยพิบัติจะกระทบกับรายได้ของแผ่นดินขึ้นมา จึงต้องการทำเรื่องนี้ให้เป็น แซนด์บอกซ์ ภัยพิบัติ ให้กับภูเก็ต

โดย จังหวัดภูเก็ตจะจัดประชุมงานวิชาการเกี่ยวข้อง กับภัยพิบัติ ภายใต้หัวข้อ ” Survival in Phuket ” วางกรอบไว้วันที่ 7-8-9 ธันวาคม 2565 รูปแบบจัดในห้องประชุมและนอกห้องประชุม สถานที่ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมฯ ประกอบด้วย 1.กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ในภูเก็ตทุกแห่งหมุนเวียนกันมา 2.กลุ่มคณะสงฆ์ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 3.กลุ่มส่วนราชการ 4.กลุ่มผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งหมด 3,000 คน

การประชุมฯ มีกิจกรรม นำเสนอหนังสั้นเรื่องภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้นในภูเก็ตจากอดีตที่ผ่านมา เช่น ภัยสึนามิ และ ปัจจุบันดินสไลด์ การปิดถนน น้ำท่วม เป็นต้น ประมวลให้เห็นความเดือดร้อนของภูเก็ตจากภัยพิบัติธรรมชาติ และภาพของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในโลก เช่น กรณี โรงแรม 5 ดาวในปากีสถานหายวับไปกับกระแสน้ำ เป็นต้น ให้ทุกฝ่ายตระหนักต้องร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการจัดนิทรรศการเชิงวิชาการ จากกระทรวงต่างๆ

กล่าวคือ ถ้าเกิดเหตุขึ้นมาประมวลองค์ความรู้ภูเก็ตออกมาว่าเรารอดกันได้อย่างไร อาจนำคนที่เคยประสบกับคลื่นยักษ์สึนามิ มาถ่าย ทอดประสบการณ์ และคนที่สูญเสียจากภัยสึนามิ มาเล่าให้ฟังว่า ถึงสิ่งที่เผชิญและการแก้ปัญหา

รวมทั้ง ปัญหาโลกร้อนจะจัดการกันอย่างไร เป็นเวทีให้ทุกกลุ่มร่วมกันมีส่วนร่วมนำเสนอความคิดเห็น เพื่อต้องการวางแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตของภูเก็ต ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของภูเก็ตที่ทุกคนเห็นด้วยและต้องร่วมกันนำขีดความสามารถของทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน ” นายณรงค์ กล่าว

ด้าน นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เหตุการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วมเมื่อคืนวันที่ 15 พ.ย.65 ฝนตกหนักลงมา 56 นาที น้ำมาเร็วและแรงมากเต็มคลองบางใหญ่ จึงต้องปรับรูปแบบการแก้ปัญหาระยะสั้น คือ ให้ทีมงานวางรูปแบบก่อสร้างอุโมงค์น้ำ กำหนดรูปแบบให้เสร็จภายใน 10 วัน เพื่อดึงน้ำจาก3สะพานหลักที่บริเวณลานมังกร ที่ ข้างธ.ออมสินภูเก็ต ที่ สะพานพระอร่าม

ถ้า 3 แห่งนี้ส่งผ่านอุโมงค์น้ำไปออกคลองบางใหญ่ออกสู่ทะเลได้เร็วจะคลี่คลายปัญหา และเฟสสองจะทำที่จุดสามแยกชุมชนโกมารภัจน์มีประตูน้ำอยู่ตรงนั้นถ้าทำอุโมงค์น้ำลอดใต้ถนนออกมาไปสู่ทะเลได้เร็วจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตตัวเมืองภูเก็ตได้ ใน เบื้องต้น ทางจังหวัดภูเก็ตให้งบประมาณจำเป็นเร่งด่วน เป็นเงิน 500,000 บาท ทำการขุดลอกท่อ คู คลอง ใช้กำลังสนับสนุนจากทัพเรือภาคที่ 3

ด้าน ผศ. ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต กล่าวว่า เห็นด้วยที่จังหวัดภูเก็ตจะจัดกิจกรรมเชิงวิชาการในช่วง 3 วัน เป็นซอฟท์เพาเวอร์ที่เคยประสบปัญหาพิบัติ กระทบกับการว่างงาน และการท่องเที่ยว เป็นเรื่องใหญ่ของชาวภูเก็ต ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตพร้อมดำเนินการสถานที่ ใน 3 วัน และจะขอเป็นพื้นที่นวัตกรรมศึกษาใส่ในหลักสูตรให้เยาวชนเตรียมความพร้อมเรื่องนี้สร้างหลักสูตรระยะสั้นการรับรู้เตรียมการของสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจ อยากให้บุคลากรภาครัฐเอกชนได้มีความรู้ และปรับตัวอยู่ได้อย่างรวดเร็ว อาจจะมีการประชุมวิชาการให้ความสำคัญเรื่องนี้ เชิญอินฟลูเอนเซอร์เข้ามาร่วมให้ความรู้

ด้าน ผศ.ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และบัณฑิตศึกษาคณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า

การท่องเที่ยวสำคัญต่อเศรษฐกิจมาก คิดเป็นร้อยละ 10 ของGDP ประเทศ โดยตรง ที่ผ่านา เกิดโควิด ปี2563 และปี2565 เกิดปริมาณน้ำฝนมากขึ้น พายุรุนแรงขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกร้อนทำให้มูลค่าการนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวเปลี่บนไป เห็นชัดคือการพังทลายของถนน เกี่ยวข้องความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยว

โดยนักสถิติรายงานข้อมูลว่า ตุลาคม ปีนี้ ปริมาณน้ำฝน 800 มิลลิเมตรเกินค่าเฉลี่ยของตุลาคมของทุกปี อยู่ในระดับมากสุดที่เคยจดมา และระบบสาธารณูปโภคเริ่มพังทลายลง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลต่อการท่องเที่ยว คือ เกิดน้ำท่วม เมื่อคืนวันที่ 15 พ.ย.65 ภายใน 3 -4 ชั่วโมง ระบบของภูเก็ตอาจไม่ได้ออกแบบรับปริมาณแบบนี้ และอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นจะพบกับความท้าทายในหน้าร้อนที่จะถึงนี้ และพื้นที่อันดามันมีโอกาสเกิดปะการังฟอกขาวมาก ความเสี่ยงภัยแล้ง จะเพิ่มต้นทุนการให้บริการนักท่องเที่ยวในการจัดหาน้ำดิบให้เพียงพอความต้องการของนักท่องเที่ยว

ภูเก็ต มีลักษณะพิเศษ คือ ประชากรกระจุกตัวทางฝั่งขวาของเกาะด้านฝั่งตะวันออกของเกาะ อยู่ในเขตพื้นที่เมืองมีประชากรอาศัยกว่า 40,000คน ตรงกลางเกาะมีเขาคั่นกลางของแหล่งทำเงินของภูเก็ตอยู่ที่ป่าตอง คืออยู่ฝั่งซ้ายของเกาะ พอเส้นทางที่ไปป่าตองมีปัญหากระทบต่อการกระจายตัวของรายได้ ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ และหากมองทั้งอันดามัน พื้นที่เศรษฐกิจของ 6 จังหวัดในฝั่งอันดามัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักอยู่ติดกับทะเล ยกเว้นจังหวัดตรัง มีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเข้ามาบริเวณถนนมากขึ้น โดยภูเก็ตมีแนวชายฝั่งประมาณ200กม. กระบี่ ใกล้เคียงกัน

ถ้าภูเก็ตมีปัญหากัดเซาะชายฝั่งประมาณ1.28กม.กระบี่ 2.21 กม. ถ้ามีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นต่อไปจะเสียพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ไม่เฉพาะฝนตกหนักอย่างเดียว ถ้าในทางธุรกิจ ปริมาณน้ำฝนและพายุที่มากขึ้นกระทบนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจเดินทางมาท่องเที่ยว กระทบผู้ประกอบการทัวร์ และเรือ โดย สรุปมีโอกาสเกิดฝนตกรุนแรงขึ้น ปริมาณน้ำมากขึ้น ความเสี่ยงภัยแล้ง ซึ่งเป็นต้นทุนบริการกระทบต่อการท่องเที่ยว