สหรัฐหนุนกฎหมายอากาศสะอาด แก้ไฟป่า-หมอกควันภาคเหนือไทย

ไฟป่าดอยพระบาท

สหรัฐจัดเสวนาหนุนกฎหมายอากาศสะอาด แก้ไฟป่าภาคเหนือ ดันประเทศลุ่มน้ำโขงแก้ฝุ่นควันข้ามพรมแดน ระหว่างไทย เวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ ร่วมกับโครงการ Mekong for the Future ขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) จัดเสวนาหัวข้อ “Sharing Thailand-U.S. Experiences : A Path to Cleaner Air and Healthier Communities” ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่

เพื่อนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วทั้งภาคเหนือร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความท้าทายด้านคุณภาพอากาศ และเพื่อร่วมกันหาแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาคุณภาพอากาศในภูมิภาค

นางลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในการเสวนานี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานระดับจังหวัดและเทศบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อากาศสะอาดระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ในการจัดการมลพิษอากาศและปรับปรุงคุณภาพอากาศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดและกระชับความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศภาคเหนือประเทศไทย

เสวนาไฟป่าภาคเหนือ

โดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการวิชาชีพด้านสุขภาพ และภาคประชาสังคม เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาการปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น และร่วมหาแนวทางให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน

ทั้งนี้ คุณภาพอากาศเป็นปัญหาสำคัญมีผลกระทบอย่างมาก จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน การดูแลป่าไม้ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรข้ามชาติ โดยที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐได้สนับสนุนงบประมาณมากกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐในการดูแลไฟป่าของภาคเหนือ รวมถึงการสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อรับมือฝุ่นควัน เป็นต้น

นายสเตฟาโน เซโนบิ ผู้แทน USAID กล่าวว่า USAID เป็นหน่วยสนับสนุนด้านงบประมาณในการแก้ไขปัญหาทั่วโลก ทั้งนี้ โดยส่วนตัวก็มีปัญหาระบบการหายใจ เนื่องจากสภาพอากาศในเมืองที่ตนอาศัยอยู่ ปัญหามลพิษทางอากาศต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจร่วมมือกันเพื่อความเปลี่ยนแปลง แม้เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่การวางแผนและหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้การแก้ไขปัญหานี้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือภาคเหนือมาอย่างต่อเนื่อง ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า จังหวัดเชียงใหม่ได้รับโอกาสในเชิงบูรณาการมาตลอดจากกงสุลประเทศต่าง ๆ ทั้งในเรื่องวัสดุอุปกรณ์และงบประมาณสนับสนุนกำลังคนเข้าไปดับไฟป่า

นายเอแวน บิง Ambient Air Monitoring Manger, Northwest Clean Air Agency ผู้เชี่ยวชาญคุณภาพอากาศจากสหรัฐอเมริกา กล่าวในหัวข้อ “กฎหมายอากาศสะอาดของสหรัฐอเมริกา และโอกาสของประเทศไทย” ว่าจากข้อมูลทั่วโลกพบว่าผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจำนวน 6.9 ล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 10 เสียชีวิตเนื่องจากมลพิษทางอากาศ

จากการศึกษาของอากาศโลกปี 2559 พบว่าการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศในปี 2556 ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้จากแรงงาน คิดเป็นมูลค่า 225 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสูญเสียค่าใช้จ่ายสวัสดิการมูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ พืชผล และพืชพรรณต่าง ๆ โดยขัดขวางการเจริญเติบโตของพืช และลดผลผลิตทางการเกษตร ผลการศึกษาพบว่าในปี 2543 ความสูญเสียจากการลดลงของผลผลิตทางการเกษตร อันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศมีมูลค่า 11-18 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 17 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 35 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573

ทั้งนี้ การเกิดไฟป่า มลพิษอุตสาหกรรม รวมถึงหมอกควันข้ามพรมแดน เกิดความไม่เป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อม แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งผลกระทบก่อให้เกิดโรคหัวใจ หอบหืด จึงมีจำเป็นต้องลดมลพิษที่เกิดขึ้นให้ได้ ควรมีการกำหนดแผนและมีระยะเวลาที่ชัดเจน เพราะการแก้ไขมลพิษต้องใช้เวลานานกว่า 18-36 เดือน ก๊าซโอโซน 3-20 ปี ส่วนฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ใช้เวลากว่า 6-15 ปี

นายเอแวน บิง กล่าวต่อว่า กลุ่มประเทศเพื่อนระหว่างไทย เวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา ต้องมีความร่วมมืออย่างจริงจัง ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะปัญหาอากาศข้ามพรมแดน ก๊าซที่เกิดจากการเผาจากภาคเกษตร การห้ามเผาต้องมีความชัดเจน

เพราะมีการคาดการณ์ว่าฝุ่น PM2.5 จะสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งการเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศต่าง ๆ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ รวมทั้งความโปร่งใสของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งกระบวนการกฎหมายของไทยดีอยู่แล้ว แต่ต้องมีคนเข้ามากำกับดูแลให้เกิดประสิทธิภาพ กรณีที่ไทยต้องการให้มีการออก พ.ร.บ.อากาศสะอาด

สำหรับในสหรัฐอเมริกาทางตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญการเผา และมลพิษจากอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีปัญหาในพื้นที่การเกษตร จำเป็นต้องร่วมมือกับเกษตรกรว่าพื้นที่ใดเผาได้หรือเผาไม่ได้ในช่วงเวลาใด โดยเฉพาะต้องมีกฎหมายในการจัดการที่ชัดเจนโดยเฉพาะโทษทางอาญา

ส่วนไฟป่าเป็นวงรอบที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำได้อีก เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียที่อาจจะทำลายทั้งชุมชน จึงต้องมีการจัดการที่ถูกต้องและมีกระบวนการที่ดี

นายเอแวน บิง กล่าวว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด (CAA) ตราขึ้นโดยรัฐสภาสหรัฐในปี 2513 ซึ่งการบริหารจัดการคุณภาพอากาศของสหรัฐ เป็นกระบวนการบูรณาการที่ต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นความร่วมมือในระดับภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมมลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายเมือง รัฐ/จังหวัด มุ่งเน้นการให้ข้อมูลแก่สาธารณชน

ทำให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการทำให้คุณภาพอากาศเป็นไปตามมาตรฐานและปรับปรุงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นความโปร่งใสในกระบวนการออกกฎเกณฑ์จะทำให้นโยบายสาธารณะดียิ่งขึ้น