เปิดแผนรับมือไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566

เปิดแผนรับมือไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566
แฟ้มภาพ

“วราวุธ” เปิดแผนรับมือไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี’66 ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ยกระดับการป้องกัน มุ่งนโยบาย “3 พื้นที่ 7 มาตรการ”

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด 76 จังหวัด เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565

โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วม ณ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ ผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference

การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในปี 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีแนวโน้มที่จะมีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น จากสภาพอากาศที่หนาวเย็น มีปริมาณฝนน้อย และปรากฏการณ์ “ลานิญา” ที่เริ่มน้อยลง

นายวราวุธเปิดเผยว่า สำหรับเมืองใหญ่ อย่างเช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีสาเหตุหลักมาจากการจราจร ซึ่งนอกจากแผนเฉพาะกิจแล้ว ยังได้เสริมมาตรการร่วมกับผู้ประกอบการค้าน้ำมัน ที่จะนำน้ำมันที่มีปริมาณกำมะถันต่ำมาจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาปกติ ในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566

เพื่อช่วยให้คุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ดีขึ้น รวมถึงยังได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประสานงานกับผู้ประกอบการยานยนต์กว่า 11 บริษัท เปิดให้ประชาชนนำรถเข้าทำความสะอาดเครื่องยนต์และเปลี่ยนไส้กรองในราคาพิเศษ

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เข้มงวดกับรถยนต์ของส่วนราชการ ที่ต้องมีมาตรฐานเข้มงวดกว่ามาตรฐานที่มีต่อประชาชน ซึ่งหากตรวจพบและไม่มีการแก้ไขภายใน 30 วัน จะมีการติดตามผลไปยังหน่วยงานเจ้าของยานพาหนะนั้นด้วย

ในส่วนของต่างจังหวัด สาเหตุหลักของปัญหาไฟป่า หมอกควัน ยังคงมาจากการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่เกษตร ในปีนี้จึงได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทำความเข้าใจกับเกษตรกร เพื่อลดปริมาณการเผาในพื้นที่ ทั้งการเคาะประตูบ้านแจ้งข่าวทำความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์เชิงรุก และการแจ้งเตือนล่วงหน้า

ทั้งยังคงกำชับให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละพื้นที่แบบครบวงจร ทั้งการชิงเก็บ ลดเผา และการใช้แอปพลิเคชั่น Burn Check เพื่อลงทะเบียนและจองเวลาในการเผาล่วงหน้า เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ ยังคงมีการประสานงานผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้ประสานงานเรื่องหมอกควันข้ามแดน กับสำนักเลขาธิการอาเซียนอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศใกล้เคียง

โดยแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้มุ่งเน้นยกระดับความเข้มงวดใน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่เมือง 2) พื้นที่ป่า และ 3) พื้นที่เกษตรกรรม

ภายใต้ 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ประกอบด้วย

1) เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่

2) ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง 3) ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check)

4) กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง 5) ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS)

6) ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด และ 7) ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง