มิตรผล ชู BCG ปลุกอีสาน ต่อยอดธุรกิจกระตุ้นลงทุนนวัตกรรม

มิตรผล

ปิดฉากไปแล้วสำหรับงานมหกรรมและนวัตกรรม “Isan BCG Expo 2022” ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน นำโดยบริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (KKIC) และกลุ่มมิตรผล ร่วมกับ 50 เครือข่ายพันธมิตร

พร้อมการเปิดตัวแนะนำ “อาคารแก่น” หรือ “ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์” อาคารสูง 28 ชั้น ใจกลางเมืองขอนแก่น ย่านถนนศรีจันทร์ หลังจากกลุ่มมิตรผลซื้อที่ดินพร้อมอาคารร้างนานกว่า 23 ปีของ “กลุ่มโฆษะ” มาพลิกฟื้นเมื่อปี 2560

หลังการตรวจสอบความมั่นคงทางโครงสร้างวิศวกรรมอย่างรอบคอบ ได้มีการออกแบบให้กลายเป็นอาคารอเนกประสงค์แบบ multiused บนพื้นที่กว่า 53,000 ตารางเมตร มีการวางสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยผสมผสานอัตลักษณ์ความงามของท้องถิ่น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้า มุ่งสู่การเป็น “แก่น” แห่งศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพในภาคอีสาน

โดยอาคาร “แก่น” เอื้ออำนวยต่อการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยสามารถเชื่อมโยงความรู้และกิจกรรม ด้วยรูปแบบนวัตกรรมเปิด หรือ open innovation ที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย และความคิดสร้างสรรค์ เป็นศูนย์รวมการบ่มเพาะนวัตกรรมรุ่นใหม่

นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ชั้น 9 ของอาคาร ยังมีศูนย์นวัตกรรมและวิจัยของกลุ่มมิตรผล พร้อมด้วยพื้นที่แสดงผลงาน สินค้า การจัดประชุม และโรงแรม แอดลิบ ขอนแก่น (Ad Lib Khon Kaen) มีคาเฟ่ ร้านอาหาร และจุดชมวิวเมืองขอนแก่น 360 องศา ณ สกายบริดจ์ (Sky Bridge) ชั้น 28

“กวิน ว่องกุศลกิจ” กรรมการ บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (KKIC) เปิดเผยว่า การจัดงาน Isan BCG Expo 2022 ใช้เงินลงทุนเพียง 25 ล้านบาท ขณะที่ภายในงานมีกว่า 300 บูท ถือเป็นความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมกัน

กวิน ว่องกุศลกิจ
กวิน ว่องกุศลกิจ

จุดประสงค์หลัก เพื่อใช้จังหวัดขอนแก่นเป็นเจ้าบ้านดึงคนในภาคอีสานมาร่วมมือกันผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ซึ่งคนในพื้นที่เก่งอยู่แล้ว แต่รายได้จากภาคเกษตรยังน้อย ถ้านำเรื่องนวัตกรรมเข้าไปช่วยในภาคเกษตรแล้วประสบความสำเร็จจะเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้แก้จนได้ทันที โดยภาคเอกชนที่เข้ามาจะช่วยให้เกิดการลงทุนและเงินสะพัดในพื้นที่ตามมา

นอกจากนี้ ภาคอีสานมีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีทรัพยากรหลากหลาย แต่การแข่งขันในด้านการท่องเที่ยวกับภูมิภาคอื่นอาจจะลำบาก เพราะแต่ละจังหวัดไม่มีกำลังเพียงพอที่จะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่าง ด้านการท่องเที่ยว หลายจังหวัดมีขนาดเล็กและเป็นเมืองรองมีจุดเด่นที่น่าสนใจเพียงไม่กี่จังหวัด เช่น ร้านกาแฟดีอยู่ในนครพนม สายมูจะเป็นจังหวัดบึงกาฬ ธรรมชาติริมแม่น้ำโขงมีไม่กี่จังหวัด รายได้ของประชากรต่อหัวในภาคอีสานค่อนข้างน้อย

ขณะที่ภาคอีสานต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อแข่งขันกับคนอื่นให้ได้ ดังนั้น ที่ผ่านมากลุ่มมิตรผลได้ร่วมกับเครือข่ายหอการค้า 20 จังหวัดในภาคอีสานผลักดันเรื่อง BCG เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้คนสนใจเข้ามาลงทุนด้านอื่นมากกว่าธุรกิจท่องเที่ยว

“ความร่วมมือกันสำคัญที่สุด ถ้ารวมตัวกันทำการตลาดจะเป็นภูมิภาคที่แข็งแรงมากกว่าเดินไปคนเดียวเพียงลำพัง เรื่องอื่นเราอาจจะแข่งขันกับต่างประเทศไม่ทัน แต่เรื่องอาหารเราชนะเขาแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องวัฒนธรรม เรื่องดนตรี โดยการนำ BCG มาขับเคลื่อนจะเพิ่มกำลังให้ไปต่อได้ ไม้ตายของเราไม่ใช่ทำทุกอย่าง แต่ทำสิ่งที่เราชนะได้และสื่อสารออกไปให้มากที่สุด หวังว่า BCG จะช่วยกระตุ้นคนอีสานและยกระดับคนอีสานได้มากที่สุด”

“ตอนนี้นอกจากการลงทุนอาคารแก่น ของกลุ่มมิตรผลในย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่นแล้ว ยังมีนักลงทุนรายอื่น ๆ มาลงทุนต่อยอดเพิ่มขึ้นถึง 40% แม้ไม่ใช่การสร้างครั้งเดียวเสร็จ แต่ค่อย ๆ พัฒนาไปทีละอย่าง ทำให้ย่านนี้กลายเป็นเซ็นเตอร์ของจังหวัดขอนแก่นจริง ๆ โดยก้าวแรกที่คาดหวังอยากเห็นคือการเกิดคอมมิวนิตี้ กลุ่มเป้าหมายคือคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มีพลัง มีไอเดียสร้างสรรค์ เป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่ต้องใหญ่โต แต่โครงการที่นำเสนอต้องมีความเป็นอินเตอร์ และเสนอขายออกไปยังต่างประเทศได้”

ผลักดันคนอีสานรู้จัก BCG

“ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์” นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า ภาคเอกชนอย่างกลุ่มมิตรผลที่มาลงทุนในจังหวัดขอนแก่นถือเป็นแม่เหล็กขนาดยักษ์ ที่ดึงดูดการลงทุนให้กับจังหวัดขอนแก่น โดยในเขตเทศบาลมีการขออนุญาตก่อสร้างธุรกิจเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 40% ทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองแห่งโอกาสที่จะสร้างเศรษฐกิจรวมมูลค่ากว่าหลายหมื่นล้าน

ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์
ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์

การจัดงาน Isan BCG Expo 2022 ครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงทิศทางการค้าใหม่สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้สร้างผลิตภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ได้มากขึ้น และเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยกันรักสิ่งแวดล้อม โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

แต่สิ่งสำคัญคือ การเติบโตด้วยตัวเองของผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็กไม่ง่ายนัก ต้องมีเครือข่าย มีเรื่องเทคโนโลยี มีการวิจัย และการสนับสนุน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ภาคอีสานมีความหวังจะเกิดการจับคู่ทางธุรกิจและการจัดบูทจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ทำให้เกิดเงินสะพัดเบื้องต้นประมาณ 40-50 ล้านบาท จากผู้ร่วมงาน 30,000-50,000 คน

“ตอนนี้ต้องยอมรับว่า หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า BCG เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ทำไมกลุ่มผลิตภัณฑ์เป็นสินค้า BCG ดังนั้น ก่อนที่จะก้าวเดินไป ผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังไว้อันดับแรกคือ 1.ให้ประชาชนได้รู้จักว่า BCG คืออะไร ถ้ารู้เฉพาะกลุ่มแล้วพูดกันในเชิงเทคนิค ประชาชนจะเข้าใจได้ยากมาก 2.ให้ประชาชนรับรู้ว่า BCG มีประโยชน์อย่างไร และ 3.ทำอย่างไรประชาชนจะเข้าถึง BCG และพัฒนาเป็นธุรกิจได้ ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่หลายคนอาจจะทำกันอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากขึ้นอย่างไร”

ปกติเทศบาลขอนแก่นทำ BCG อยู่แล้ว แต่คำนี้บูมขึ้นมาโดยนโยบายของรัฐบาล สิ่งสำคัญคือเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อมกับเรื่องเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินควบคู่กันไปได้ เพราะปกติทุกคนจะคิดถึงเรื่องกำไร หากต้องการกำไรมากต้องใช้ทรัพยากรมาก ขณะเดียวกันทิศทางใหม่คือ ทำกำไรมาก แต่ใช้ทรัพยากรน้อย เช่น เนื้อวัวปกติ 250 บาท/กก. เมื่อมาเพิ่มมูลค่าด้วยทิศทางของ BCG กลายเป็นเนื้อโคขุน 750 บาท/กก.

ภายในงานทางเทศบาลนครขอนแก่นได้นำส่วนหนึ่งของโครงการ Khon Kaen Low Carbon City คนขอนแก่นหัวใจไร้มลพิษ เข้ามาร่วมงานเป็น pocket park หรือสวนกระเป๋า เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ใช้วัสดุธรรมชาติ สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้

นอกจากนี้มีเรื่องวัฒนธรรมและซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ของจังหวัดขอนแก่นอีกหลายอย่าง ที่นำมาประยุกต์ใช้โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์และความงามเอาไว้ เพื่อให้ประชาชนจะได้เรียนรู้ความเป็น BCG ว่าดีอย่างไร