16 ล้ง ผนึกชาวสวนจันทบุรี ทำสัญญาตัดทุเรียนแก่สู้ศึก เวียดนาม

ทุเรียนแก่

16 ล้งผนึกชาวสวนจันทบุรีทำสัญญาล่วงหน้าตัด “ทุเรียนแก่” เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งจาก 32% เป็น 35% หวังแข่งเดือดทุเรียนเวียดนามในตลาดจีน

นายชลธี นุ่มหนู ประธานเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อีกไม่กี่วันจะเข้าสู่ฤดูผลไม้ภาคตะวันออก เพื่อแก้ปัญหาการตัดทุเรียนอ่อน และมีการส่งออกทุเรียนผลแก่ขึ้นตามที่ตลาดจีนต้องการ ได้เสนอแนวคิด “โครงการยกระดับคุณภาพทุเรียนแบบมีส่วนร่วม” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชาวสวน

ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชน โดยการตัดทุเรียนผลแก่ด้วยการเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนส่งออกอีก 3% จาก 32% เป็น 35% เพื่อแข่งขันกับทุเรียนเวียดนามที่ตัดผลแก่กว่าของไทยส่งขายตลาดจีน

หลักการคือ ให้ล้งกับชาวสวนที่ต้องการขายทุเรียนแก่ทำข้อตกลงกันเอง ในการแขวนทุเรียนไว้บนต้น เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง 35% ล้งต้องจ่ายค่าแขวนเพิ่มขึ้น เน้นย้ำเป็นความสมัครใจ ซึ่งตอนนี้มีล้งใน จังหวัดจันทบุรีเข้าร่วมโครงการแล้ว 16 ราย เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มอีก 3% ใช้เวลาแขวนไว้บนต้นประมาณ 3-5 วัน ล้งจะจ่ายเพิ่มให้ กก.ละ 3-5 บาทจากราคาปกติ แต่ทุเรียน 32% ตามมาตรฐานเดิมยังคงซื้อขายได้

ซึ่งปีนี้กรมส่งเสริมวิชาการเกษตรมีมาตรการยกระดับคุณภาพหมอนทองภาคตะวันออก (จันทบุรี ระยอง ตราด) เพิ่มเป็น 35% โดยเริ่มจากกลุ่มแปลงใหญ่ก่อน

“ปีนี้ทุเรียนภาคตะวันออกมี 4 รุ่นทยอยออกมา รุ่น 1 จะออกกลางเดือนเมษายนต้องเข้มงวดควบคุมให้ได้ เพื่อเป็นแนวทางให้รุ่นต่อ ๆ ไป ถ้าควบคุมคุณภาพไม่ดีจะมีทุเรียนอ่อนตัดข้ามรุ่นมาก

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับชาวสวนคือ การแขวนทุเรียนแก่ไว้บนต้นอีก 3-5 วัน ผลทุเรียนยังได้รับน้ำและอาหาร น้ำหนักไม่ต่างจากผล 32% ส่วนกรณีที่ชาวสวนคิดว่าการแขวนทุเรียนแก่ทิ้งไว้จะทำให้ต้นโทรม ไม่จริง สาเหตุที่ต้นโทรมส่วนใหญ่มาจากใช้สารแพ็กโคลบิวทราโซลและการไว้ผลมากเกินไป

ส่วนล้งมีข้อกังวลการขนส่ง ถ้าติดด่านหลายวันทุเรียนแก่จะแตกเน่าเสียหาย คาดว่าปีนี้ความเข้มงวดมาตรการโควิด-19 ของจีนผ่อนคลายลง การขนส่งน่าจะสะดวกรวดเร็วขึ้น และปกติช่วงกลางหรือปลายฤดูเก็บเกี่ยวตัดกัน 38-40% อยู่แล้ว” นายชลธีกล่าว

ด้านนางบุษบา นาคพิพัฒน์ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียน 32%-35% ไม่ได้ต่างกันมาก ใช้เวลา 3 วัน เพิ่มได้ 3% กลุ่มแปลงใหญ่ตัดเกิน 38-40% สำหรับตลาดภายในประเทศอยู่แล้ว หากยกระดับทุเรียนส่งออก 35% เห็นด้วย แต่ชาวสวนและผู้ซื้อต้องทำสัญญากันให้ชัดเจน

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี เจ้าของบริษัท ริชฟิลด์เฟรชฟรุ๊ต จำกัด บริษัทส่งออกผลไม้ไทย และนายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เปิดเผย “ประชาชาชาติธุรกิจ” ว่า การแข่งขันกันในตลาดทุเรียน คาดว่าล้ง ผู้ส่งออกชาวจีนขยายฐานไปรับซื้อที่เวียดนามมากขึ้น และทำให้การรับซื้อในไทยน้อยลง ขณะที่ปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนยังเป็นปัญหาที่ค่อนข้างยุ่งยาก

บริษัทได้เข้าร่วมโครงการยกระดับคุณภาพทุเรียนแบบมีส่วนร่วม และบริษัทมีโครงการที่จะรับซื้อทุเรียนมีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง 32% ขึ้นไป ทำสัญญาแบบเหมาสวนล่วงหน้าประมาณ 2-2 เดือนครึ่ง โดยวางมัดจำ 8-15% ตามสภาพผลผลิตของแต่ละสวน ราคาจะขึ้น-ลงตามตลาด

ชาวสวนจะได้รับเงินล่วงหน้าไประยะยาว เกือบ 3 เดือน ไม่ต้องเร่งตัดทุเรียน มีตลาดแน่นอน ต่างจากการเหมาสวนทั่วไป ระยะเวลาเพียง 1 เดือน การทำสัญญาระยะยาวทำให้ซื้อได้ต่ำกว่าราคาตลาดขณะนั้น กก.ละ 5 บาท เป็นช่วงพีกที่ทุเรียนออกมาก (ปลายเมษายน-พฤกษภาคม)

“ล้งจะมีข้อมูลบริหารจัดการ วางแผนการตัดทุเรียน 35% การเตรียมตู้คอนเทนเนอร์ หลักเกณฑ์การทำสัญญาชาวสวน-ล้งต้องคุยกันเป็นสัญญาใจกับลูกค้า นายหน้า มือตัด ชาวสวน ตอนนี้บริษัทรับเหมาทำสัญญาซื้อล่วงหน้าไปเรื่อย ๆ โดยมีโควตาที่รับซื้ออีกหลาย 10,000 ตัน”

ขณะที่นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา เกษตรกรเจ้าของเพจกลุ่มทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุเรียนเวียดนามมีข้อได้เปรียบไทยแทบทุกอย่าง ทั้งการขนส่ง การตัดแก่จัด ค่าแรงถูก โอกาสที่ไทยจะแข่งขันได้ต้องหันมาพัฒนาอัตลักษณ์ทุเรียนไทย และกำหนดอย่างชัดเจนแต่ละสายพันธุ์ และสร้างแบรนด์ โดยเริ่มที่ 4 สายพันธุ์หลักที่ส่งตลาดต่างประเทศก่อนคือ หมอนทอง พวงมณี ชะนี กระดุม