ไทยแข่งเดือดทุเรียนเวียดนามล้านตัน

ทุเรียน

จับตาฤดูผลไม้ภาคตะวันออกกลางเดือนกุมภาฯ ทุเรียนไทยแสนล้านไปจีนแข่งเดือด เวียดนามคู่แข่งทางตรงที่ได้เปรียบทุกประตู ทั้งปริมาณผลผลิต ไทย 7.5 แสนตัน เวียดนามทะลัก 1 ล้านตัน มีต้นทุนผลิตต่ำ ขนส่งได้เร็ว ผู้ส่งออกไทยรายใหญ่สบช่องไปตั้งล้งรับซื้อทุเรียนสดในเวียดนาม แนะเกษตรกรไทยต้องปรับไซซ์ทุเรียนให้ลูกเล็กลง เน้นตัดทุเรียนแก่ 35% รสชาติดีจีนชอบ

จีนยังเป็นตลาดใหญ่และมีความต้องการนำเข้าทุเรียนจากไทยมากที่สุด แต่ประเทศเวียดนามถือเป็นคู่แข่งทางตรงในการช่วงชิงตลาดทุเรียนส่งออกไปจีน โดยกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จะเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ผลผลิตทุเรียนมูลค่านับแสนล้านบาทจะทยอยเข้าสู่ตลาด ซึ่งปีนี้ปริมาณทุเรียนภาคตะวันออกจะมีอยู่ราว 756,456 ตัน ใกล้เคียงปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 24,126 ตัน หรือ 3.30%

ล้งไทยขยายฐานไปเวียดนาม

แหล่งข่าวจากวงการส่งออกทุเรียนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ผู้ส่งออกทุเรียนไทยต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันกับทุเรียนเวียดนามที่รุนแรงขึ้น หลังรัฐบาลจีนอนุญาตให้เวียดนามส่งทุเรียนผลสดเข้าประเทศได้เช่นเดียวกับไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 คาดว่าปริมาณทุเรียนเวียดนามจะเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านตัน โดยต้นทุนการผลิตทุเรียนของเวียดนามต่ำกว่าไทย ทั้งได้เปรียบเรื่องการขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของจีน หรือทุนจีนที่ตั้งรกรากในไทยมาหลายสิบปี และผู้ประกอบการส่งออกไทยรายใหญ่ได้ขยายฐานการลงทุนไปตั้งล้งรับซื้อทุเรียนสดในเวียดนาม ทั้งลงทุนเอง และร่วมทุนกับล้งจีนในภาคตะวันออกของไทย รวมถึงร่วมทุนกับคนเวียดนามในลักษณะนอมินี

เช่น บริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด จ.ปทุมธานี ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ปกติซื้อทุเรียนผลสด แช่แข็ง แล้วนำไปแปรรูปกว่า 1 แสนตันต่อปี มีบริษัทในเครือถึง 7 แห่ง, บริษัท เดอะลิส อินเตอร์เฟรท จำกัด หนึ่งในผู้ส่งออกจากจังหวัดจันทบุรี, บริษัท ยูนิฟาร์ม เวียด-ไทย และก่อนหน้านี้ บริษัท ดราก้อน เฟรช ฟรุท ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ในจันทบุรี ได้เข้าไปจับมือกับผู้ประกอบการเวียดนาม แต่ล่าสุดได้ถอนตัวออกมาแล้ว

นางหยิง หยิง เว่ย (Ying ying Wei) รองผู้บริหาร บริษัท เดอะลิส อินเตอร์เฟรท จำกัด หนึ่งในผู้ส่งออกจากจันทบุรีที่ขยายกิจการไปยังประเทศเวียดนาม ให้ข้อมูลว่า ปี 2566 เถ้าแก่จีนรายใหญ่ ๆ ขยายฐานจากไทยไปเวียดนาม ด้วยปัจจัย 4 ข้อ คือ 1) ต้นทุนถูกกว่า ถ้าราคาทุเรียนไทย กก.ละ 90 บาท เวียดนาม 85 บาท และทุเรียนเวียดนามมีเกรดส่งออกผิวสวย ลูกเล็กตามสเป็กตลาดจีน ลูกละ 2-4 กก.

2) ขนส่งที่รวดเร็ว สะดวก ปกติใช้เวลา 2 วัน แต่จากไทย 4-5 วัน เพราะเป็นช่วงที่มังคุดออกตรงกับทุเรียนเวียดนาม และรถขนส่งทุเรียนเวียดนามจะวิ่งผ่านด่านในเวียดนามเองก่อนใช้เวลา 7 วัน แต่รถขนส่งทุเรียนไทยกว่าจะผ่านด่านในเวียดนามต้องใช้เวลาถึง 10-15 วัน แล้วต้องต่อบัตรคิวเข้าตลาด บางครั้งหลายวันทำให้ทุเรียนแตกเสียหาย ต้องขายในราคาขาดทุน 3) รอบเงินหมุนกลับเร็ว การซื้อ-ขายทุเรียนเวียดนามระยะเวลาสั้นกว่า ใช้เวลา 7 วัน แต่ทุเรียนไทยต้องใช้เวลา 15 วัน และ 4) ตลาดจีนถ้าไม่ใช่เทศกาล ราคามีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ปกติทุเรียนไทยราคาแพง และไปถึงช้ากว่าของเวียดนาม

“ปีที่แล้วเวียดนามเริ่มส่งออกเป็นปีแรก บริษัทได้โควตา 300 ตู้ ปีนี้น่าจะปรับเพิ่ม โอกาสทุเรียนไทยในตลาดจีนยังไปได้ คนจีนชอบบริโภคทุเรียนผลสด ความนิยมทุเรียนหมอนทองมีถึง 80% เพราะเนื้อมาก เนียน เหนียว ต่อไปราคาทุเรียนน่าจะลดลง เพราะไม่ได้เน้นทรงสวย ดูที่เนื้อเยอะ เทรนด์ทุเรียนปี 2566 คือ ขนาดเล็กลง ลูกละ 2-3 กก. จาก 4-5 กก. เกษตรกรต้องวางแผนการผลิต ส่วนตลาดแกะเนื้อแช่แข็ง (fresh cut) ตลาดจีนไม่นิยม คิดว่าเป็นของไม่มีคุณภาพนำมาแช่เย็น” นางหยิงกล่าว

ทุเรียนเวียดนามทะลุล้านตัน

นายศักดา ศรีนิเวศน์ ผู้ชำนาญการเกษตรเวียดนามและผู้ร่วมลงทุน บริษัท ยูนิฟาร์ม เวียด-ไทย กล่าวว่า ปี 2566 ไทยจะเผชิญภาวะการแข่งขันทุเรียนจากเวียดนามอย่างหนัก เวียดนามได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตต่ำ และมีชายแดนติดกับจีน ทำให้ขนส่งเร็วไม่เกิน 3 วัน ทั้งตัดทุเรียนผลแก่จัด ได้รสชาติดีเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีน คาดว่าผลผลิตของเวียดนามจะมีปริมาณทะลุ 1 ล้านตันในปีนี้

ดังนั้น ผู้ประกอบการชาวจีนและไทยจึงขยายฐานโรงคัดบรรจุ-การส่งออกจากไทยไปเวียดนามเป็นจำนวนมาก มีการร่วมลงทุนจดทะเบียนตั้งบริษัท ซึ่งรัฐบาลเวียดนามสนับสนุน แต่มีเงื่อนไขต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใน 1 ปี เพราะเวียดนามยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก ซึ่งปี 2565 พื้นที่ปลูกทุเรียนของเวียดนามมี 84,000 เฮกตาร์ (525,000 ไร่) ผลผลิตรวม 700,000 ตัน เกษตรกรได้รับ GAP 83 ราย รออนุมัติอีก 300 ราย เวียดนามจดทะเบียน GAP ในรูปสหกรณ์ใบละ 10-50 เฮกตาร์ (60-300 ไร่) ระบบสหกรณ์ควบคุมคุณภาพเข้มข้น มีผู้ประกอบการได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศุลกากรจีน (GACC) 30 ราย

ปัญหาทุเรียนไทยปีนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นซึ่งต้องแข่งกันเอง และแข่งกับกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามที่ได้เปรียบไทยแทบทุกด้าน ยกเว้นชื่อเสียงพันธุ์หมอนทองไทย แต่เวียดนามทำตลาดคุณภาพเหนือหมอนทองไทยที่แก่จัด ทั้งขนส่งเร็ว ขณะที่ทุเรียนไทยขนส่งทางรถยนต์ผ่านเวียดนามต้องใช้เวลา 7-10 วัน

“การย้ายฐานส่งออกไปเวียดนาม โดยร่วมลงทุนทำล้งเพื่อใช้สิทธิผ่านแดนส่งออก ทำให้มีต้นทุนต่ำ แต่คุณภาพเท่านั้นที่จะทำให้ทุเรียนไทยครองใจผู้บริโภคได้ ปัญหาทุเรียนอ่อนและสวมสิทธิแก้ไขได้ ถ้าติดคิวอาร์โค้ดทุกลูก ปีหน้าทุเรียนเวียดนามจะมีเกิน 1 ล้านตัน ถ้าไทยยังแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนไม่ได้ ราคาทุเรียนไทยจะได้ไม่เกิน 100 บาท/กก.” นายศักดากล่าว

นางสาววรัญญภัคก์ ศรีมหัทธนเวคิน เจ้าของบริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ทำธุรกิจส่งออกทุเรียนเวียดนามมาก่อนหน้านี้ เพราะมีคู่ค้าทำธุรกิจผลไม้มานาน เป็นบริษัทคนไทยส่งออกทุเรียนจากเวียดนามโดยตรง ทุเรียนเวียดนามมีโอกาสทำตลาดสูงกว่าทุเรียนไทยในตอนนี้ เพราะผลเล็ก 2-4 กก. ไม่เกิน 6 ลูก/กล่อง (18-19 กก.) หรือ 3 ลูก/กล่อง (8-9 กก.) ตัดแก่ 85% ขนส่งใกล้ 3 วันถึงจีน ลงทุนถูกกว่าไทย 50%

ทุเรียนไทยต้องเร่งปรับ 3 เรื่อง คือ 1) ปรับไซซ์เป็นขนาดเล็ก ลูกละ 2-4 กก. เพราะเหมาะกับเศรษฐกิจจีนในขณะนี้ 2) ตัดทุเรียนควรตัดที่ 35% ของน้ำหนักเนื้อแห้งเป็นทุเรียนที่แก่จัด ทุเรียนไทยจะแข่งกับทุเรียนประเทศอื่น ๆ ได้ ถ้าความแก่ 85% เท่ากัน เพราะรสชาติหมอนทองไทยเข้มข้น 3) ปรับเปลี่ยนทางเลือกปลูกพันธุ์โอฉี่ หรือหนามดำ ที่ตลาดจีนต้องการ ราคาแพงกว่าหมอนทอง 4 เท่า และแพงกว่ามูซันคิง

นายณัฐกฤษฏ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจไทย-จีน และผู้ร่วมทุนกับบริษัท ยูนิฟาร์ม เวียด-ไทย กล่าวว่า ทุเรียนเวียดนามมีปริมาณมากกว่าข้อมูลที่เปิดเผย และมีข้อได้เปรียบกว่าไทยชัดเจน ทั้งการขนส่ง สิทธิทางภาษี แค่ขนส่ง 1 ตู้คอนเทนเนอร์ มีกำไรหลายแสนบาท ไทยมีปัญหาใบ GAP และทุเรียนอ่อนต้องหมดไป ต้องชูเรื่องคุณภาพเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนต้อง 35-40% ปรับขนาดลูกให้เล็กลง 6 ลูก/กล่องทั้งตู้ การขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิทำได้ทุเรียนไม่แตก ถ้าทำให้ทุเรียนไทยรับประทานได้ทุกลูกเหมือนมูซันคิง ราคาจะสูงขึ้น

ปี 2566 ทุเรียนภาคตะวันออกมีช่วง 40 วันอันตราย ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทุเรียนออกมากระจุกตัวมากกว่าทุกปี ราคาจะลดลง กก.ละ 80-90 บาทนานกว่าปีก่อน