เส้นทางทุเรียน หมอนทอง กับข้าวหอมมะลิ ผกาลำดวน

ทุเรียนหมอนทอง
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่วันจะเข้าสู่ฤดูผลไม้ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ ทุเรียน ไม้ผลที่สร้างรายได้จากการส่งออกมูลค่านับแสนล้านบาทจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566 ช่วงที่ออกมากที่สุดคือกลางเดือนเมษายน 2566

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ไทยกำลังมีคู่แข่งในการส่งออกทุเรียน “ผลสด” เข้าไปตลาดหลัก “จีน” หลังจากต้นเดือนมกราคม 2566 รัฐบาลจีนอนุญาตให้ “ฟิลิปปินส์” ส่งทุเรียนผลสดเข้าไปขายได้เป็นประเทศที่ 3 จากที่ปีก่อนจีนอนุญาตให้ “เวียดนาม” ส่งทุเรียนสดเข้าไปขายได้เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565

ขณะเดียวกัน อีก 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา กำลังวิ่งเต้นให้รัฐบาลจีนอนุญาตส่งทุเรียนผลสดเข้าไปขายได้ โดยแต่ละประเทศขยายพื้นที่ปลูกกันอย่างมหาศาล

ผู้ส่งออก และหน่วยราชการของไทยบางคนบอกว่า ถึงจะมีคู่แข่ง แต่ทุเรียนสายพันธุ์ “หมอนทอง” ของไทยคือ The Best สุดยอด ! ที่คนจีนต้องการ หากสามารถควบคุมคุณภาพให้ดี ! ตลาดจีนยังเปิดกว้างอีกหลายมณฑล

แต่อย่าลืมว่า โลกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว !

ตัวอย่างรูปธรรมบนเวทีประกวด “ข้าว” ที่ดีที่สุดของโลก ประจำปี 2022 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ผลการตัดสิน ข้าวหอมมะลิ “ผกาลำดวน” ของกัมพูชา ได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลก ด้วยกลิ่นที่หอมมากกว่า “ข้าวหอมมะลิ 105” ของไทยเมื่อนำไปหุง

ทำให้ “ข้าวหอมมะลิ 105” ของไทย ซึ่งเคยคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวโลกถึง 2 ปีซ้อนในปี 2563 และ 2564 ต้องพ่ายให้กับประเทศ“กัมพูชา” ไป แม้ตัวคุณภาพข้าวและรสชาติมีคุณภาพดีเหมือนกัน ส่วนอันดับ 3 เป็นข้าวจากเวียดนาม และอันดับ 4 ข้าวหอมมะลิจาก สปป.ลาว

ดังนั้น การที่ประเทศเพื่อนบ้านจะพยายามปรับปรุงสายพันธุ์ทุเรียนต่าง ๆ ให้ขึ้นมาใกล้เคียงกับสายพันธุ์หมอนทองคิดว่าไม่น่าไกลเกินเอื้อม !

แถมประเทศเหล่านั้นยังมีความได้เปรียบในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเวียดนาม ต้นทุนการเพาะปลูกถูกกว่า อยู่ติดชายแดนจีน ต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่า สามารถตัดทุเรียนผลสดที่ “แก่จัด” ซึ่งมีรสชาติอร่อยเข้าสู่ตลาดจีน

วันนี้เกษตรกร ผู้ส่งออก ภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาระดมสมองกันอย่างจริงจัง ! มีการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ช่วยเหลือเกษตรกร

ไม่ใช่การระดมสมองคือ การเปิดเวทีสัมมนาบ่นถึงปัญหากัน 1-2 ชั่วโมงแล้วแยกย้ายกันกลับบ้านอย่างเช่นทุกวันนี้ !

แถมยังปล่อยให้เกษตรกรในภาคต่าง ๆ โค่นพืชเกษตรที่ปลูกอยู่ ทั้งยางพารา กาแฟ ไม้ผลอื่น ๆ เช่น เงาะ มังคุด และลองกอง หันมาปลูกทุเรียน ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบข้อมูลดีว่า ปี 2566 ประเทศไทยได้เพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 1,013,675 ไร่ ผลผลิต 1,492,819 ตัน และกระจายไปในหลายจังหวัดทั่่วประเทศ

ความท้าทายคงจะค่อย ๆ ปรากฏในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกปีนี้และเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆในอนาคต

ทุเรียนมูลค่าแสนล้านบาทที่เคยสร้างรายได้ให้หลายคนร่ำรวยมหาศาล อาจจะกลายเป็นฝันสลายของเกษตรกรบางคนที่ผลผลิตจะออกมาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่อีกมุมอาจจะดี เพราะคนไทยจะได้กินทุเรียนราคาถูกลง !