พรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ค้าชายแดนเหนือพุ่ง 2 แสนล้าน

พรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง
พรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

การเริ่มเปิดพรมแดน โดยเฉพาะด่านชายแดนในภาคเหนือพบว่า ตัวเลขการค้าชายแดนในช่วงระยะที่ผ่านมามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มคึกคักขึ้นในปี 2566 ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่กำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ โดยให้พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและเชียงรายเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ

หรือ Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเชื่อมโยงภาคการค้าชายแดนโดยตรง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “พรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง” ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ กับมุมมองแนวโน้มการค้าชายแดนภาคเหนือภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ-NEC

ค้าชายแดนพุ่งตลาดจีนโต 50%

พรวิภากล่าวว่า เมื่อมองย้อนไปปี 2563 การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จากการปิดจุดผ่านแดนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เมื่อติดตามตัวเลขหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 พบว่าการค้าชายแดนในภาคเหนือขยายตัว 31%

จากภาพรวมมูลค่าการค้าชายแดน 260,000 ล้านบาท ซึ่งการค้าชายแดนภาคเหนือมีสัดส่วนประมาณ 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคเหนือ (GRP)

ล่าสุด เมื่อกลางเดือนมกราคม 2566 ได้มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก-เมียวดี ประเทศเมียนมา และเปิดการสัญจรให้รถขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนได้ หลังปิดมา 3 ปี ทั้งนี้ ด่านแม่สอดมีศักยภาพสูงมากสามารถส่งสินค้าไปถึงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และประเทศอินเดียได้

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าชายแดนที่ด่านแม่สอดในปี 2565 มีถึง 258,594.33 ล้านบาท ขยายตัวมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2564

โดยเฉพาะไตรมาสแรกของปี 2566 มียอดถึง 55,103 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้าสูงสุด ปีงบประมาณ 2565 ได้แก่ เมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีมูลค่า 12,098.75 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ เศษเหล็กเก่าใช้แล้ว โค-กระบือ (มีชีวิต) และเศษอะลูมิเนียมเก่า ส่วนที่ส่งออกมากที่สุด เม็ดพลาสติก 4,219.81 ล้านบาท โทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ 4,026 ล้านบาท น้ำมันดีเซล 3,780 ล้านบาท น้ำมันปาล์มโอลีนบริสุทธิ์ เป็นต้น

สำหรับตัวเลขการส่งออกผ่านชายแดนของภาคเหนือมีอัตราการขยายตัวตั้งแต่ปี 2564-2565 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 30% โดยเฉพาะจีนเติบโตสูงสุดต่อเนื่องกว่า 50% มูลค่ามากกว่า 62,000 ล้านบาท รองลงมาคือเมียนมา 26% มูลค่าสูงสุดถึง 157,744 ล้านบาท และ สปป.ลาว 40,714 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการค้าชายแดนที่จดทะเบียนในภาคเหนือมี 37% และที่เหลือกว่า 60% เป็นผู้ประกอบการจากภาคกลาง

NEC แรงขับเศรษฐกิจเหนือ

ในส่วนของการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจ 4 จังหวัดภาคเหนือในกรอบ NEC จะเป็นฐานการผลิตสำคัญที่เชื่อมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา สปป.ลาวและจีน จะเป็นแรงส่งให้การค้าชายแดนเติบโตขึ้นในอนาคต ซึ่งตามกรอบการพัฒนา NEC มีจุดเน้นหนักคือ

การเพิ่มมูลค่าทางการค้าโดยเฉพาะด้านนวัตกรรม ที่จะเน้นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (wellness tourism) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เป็นต้น

ที่สำคัญคือจะต้องทำให้ 4 จังหวัดที่อยู่ในกลุ่ม NEC เป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา สปป.ลาว และจีนตอนใต้ โดยมีด่านการค้าชายแดนภาคเหนือ ได้แก่ ด่านเชียงของ ด่านแม่สาย ด่านแม่สอด เป็นประตูการค้าหลัก

ล่าสุด มติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดลำพูน มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,160 ล้านบาท โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลมะเขือแจ้ และตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีเนื้อที่ประมาณ 653 ไร่ อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม แปรรูปอาหาร และ biotechnology

ทั้งนี้ จังหวัดลำพูนถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบ NEC ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตสินค้าส่งออกไปยังจีน สปป.ลาวและเมียนมา ผ่านประตูการค้าชายแดนภาคเหนือได้ในอนาคต และก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 8,415 คน และเกิดผลผลิตรวมให้กับประเทศในสาขาต่าง ๆ มากถึง 277.85 ล้านบาท

โครงข่ายรถไฟ-ถนนเสร็จปี 68

พรวิภากล่าวว่า นโยบายของภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจ แต่ประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องดึงศักยภาพของพื้นที่มาเกื้อหนุนการผลิต ด่านเชียงของถือเป็นประตูการค้าที่มีศักยภาพสูงเช่นกัน โดยโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ บนเนื้อที่กว่า 336 ไร่ ตั้งอยู่ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

เฟสที่ 1 ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R3A เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว-จีน มีความคล่องตัวและเติบโตเพิ่มขึ้น

ส่วนโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ เฟสที่ 2 จะดำเนินการก่อสร้างภายในปีงบประมาณ 2566 แล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งน่าจะพอดีกับเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

นอกจากนั้นเชียงราย ได้งบประมาณมาก่อสร้างถนนบายพาสใหม่ รถบรรทุกไม่ต้องวิ่งผ่านชุมชน และการสร้างถนนเส้นอำเภอเทิงไปเชียงของ จาก 2 เลน เป็น 4 เลน ส่วนถนนสายเชียงใหม่-เชียงราย สร้างถนน 4 เลน ระยะทางรวมประมาณ 100.157 กิโลเมตร ได้งบฯลงทุน 2,046 ล้านบาท

โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย)

เส้นทางสายนี้จะเป็นอีกเส้นทางที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าทั้งภาคเกษตร ภาคขนส่งสินค้าและภาคท่องเที่ยวและการลงทุนแถบพื้นที่ชายแดน พร้อมรองรับการเปิดเส้นทาง R3A และโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-ลาว-จีน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และในอนาคตจะเอื้อประโยชน์โดยตรงให้การขนส่งสินค้าจากจังหวัดในกลุ่ม NEC ไปสู่ สปป.ลาวและจีน

สำหรับภาคเหนือตอนล่างมีแผนการก่อสร้างรถไฟจากนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก อยู่ระหว่าง EIA ทั้งนี้ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดมีความพร้อมก็จะทำให้เกิดความสะดวกด้านโลจิสติกส์ในภาคเหนือ ที่จะเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและลดต้นทุนได้

ดันเปิดประตูการค้าสู่อินเดีย

นอกเหนือจาก สปป.ลาว จีนและเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยแล้ว อินเดียเป็นอีกประเทศที่เป็นโอกาสทางการค้าของไทยในอนาคต ดังนั้น ควรเร่งพัฒนาด่านแม่สอด จังหวัดตาก ด่านห้วยต้นนุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอนและด่านกิ่วผาวอก จังหวัดเชียงใหม่

เป็นประตูการค้าชายแดนที่จะมีบทบาทสำคัญในด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวของภูมิภาคนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์การเปิดประตูการค้าสู่ตะวันตก (westgate corridor) ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ

ซึ่งสินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกผ่านด่านการค้าชายแดนด้านอำเภอแม่สอด-เมียวดีที่มีดีมานด์สูง เป็นกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ ลำไยอบแห้ง สินค้าสุขภาพ สารสกัดเพื่อสุขภาพ หรือ plant base ที่มีโอกาสเจาะเข้าไปยังตลาดอินเดียได้ NEC แรงขับเศรษฐกิจภาคเหนือ กลไกสำคัญเพิ่มมูลค่าการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นแรงส่งให้การค้าชายแดนเติบโตเพิ่มมากขึ้นในอนาคต