โผล่อีก! โกงเงินคนจนนครพนม จ้างชาวบ้านเซ็นต์ชื่อรับเงินแค่ 50 แต่เอาไปเบิก 5,000 บาท

dav

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ใช้ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม เป็นสถานที่สอบสวนปากคำประชาชน ที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่งจังหวัดนครพนม รวมทั้งสิ้น 564 ราย จำแนกออกเป็น ผู้มีรายได้น้อย 176 ราย ทุนประกอบอาชีพ 286 ราย และผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ 102 ราย โดย พ.ท.กรทิพย์ เปิดเผยว่าจากกรณีการทุจริตเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่พึ่งของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงาน ป.ป.ท.หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ได้มอบหมายให้ กองป้องกันและปราบปรามการทุจริต 5 (กปท.5) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม

จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ฯ กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 5 ระหว่างวันที่ 5-8 มี.ค.61 ปรากฏข้อเท็จจริงแยกออกเป็นข้อๆดังนี้ 1.มีการปลอมแปลงเอกสาร ลายมือชื่อในใบรับเงิน สำเนาบัตรประชาชน และยังปลอมลายมือชื่อ อยู่ในแบบสำรวจผู้ประสบปัญหาทางสังคม ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนครพนม พบว่าชาวบ้านไม่เคยได้รับเงินสงเคราะห์ แต่หลักฐานใบรับเงิน มีการระบุข้อความว่าชาวบ้านเหล่านั้นรับเงินไปแล้ว

2.ครั้งแรกมีชาวบ้านยืนยันว่าได้รับเงินครบถ้วน แต่ภายหลังมีกลุ่มหนึ่งเห็นความไม่เป็นธรรมจึงพูดความจริงออกมา ชาวบ้านจึงกลับคำให้การ ยอมรับว่าไม่เคยได้รับเงินตามวันเวลาที่ระบุในใบสำคัญรับเงิน เพิ่งจะมาได้เงินจำนวน 1,000 บาท ช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากมีแกนนำเรียกชาวบ้านประชุมซักซ้อม โดยให้ตอบคำถามเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ไปในแนวทางเดียวกันว่าลงชื่อด้วยลายมือตนเองจริง และรับเงินจริง แต่เมื่อมีผู้หนึ่งยอมรับความจริงชาวบ้านจึงให้ความร่วมมือ โดยให้ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก อีกทั้งพวกชาวบ้านยังได้มอบพยานหลักฐานเป็นคลิปเสียง และคลิปวีดีโอบันทึกภาพเคลื่อนไหวของแกนนำ ซึ่งทราบต่อมาว่าแกนนำนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดหน่วยงานอื่นที่เป็นตัวตั้งตัวตีซักซ้อมให้ชาวบ้านโกหกเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. เพื่อจะช่วยเหลือคนในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครพนม โดยเสนอค่าตอบแทนให้ชาวบ้านที่ยอมโกหกช่วยให้พ้นผิด

3.ชาวบ้านยืนยันตรงกันว่าศูนย์ฯให้เซ็นชื่อโดยไม่ใช่เอกสารของตน และได้รับค่าลงชื่อในเอกสาร คนละ 50 -100 บาท จากนั้นเจ้าหน้าที่นำไปประกอบในการเบิกเงินหลายครั้ง คนละ 5,000 บาท และ

4.มีการจ่ายเงินล่าช้าข้ามปี ในใบรับเงินระบุวันที่จ่ายปี 2559 และ 2560 แต่ชาวบ้านเพิ่งได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้ไปรับเงินเมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทุกรายได้รับเงินหลังจากมีข่าวโกงเงินโด่งดังนี่เอง

พ.ท.กรทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบฎีกาเบิกจ่าย GFMIS พบว่าเงินของชาวบ้านออกจริงตามที่ปรากฏในใบรับเงิน แต่เพิ่งจะมีการจ่ายจริงๆเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึง 8 เดือน และมีทั้งการจ่ายเงินข้ามปีงบประมาณ ซึ่งเป็นความผิดชัดเจน ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามารา 147 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อีกด้วย

นอกจากความผิดดังกล่าวแล้ว ยังอาจเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปลอมแปลงเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161 และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162

นอกจาก ป.ป.ท.จะดำเนินการสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการแล้ว ยังได้ขยายผลไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดหน่วยงานอื่น เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.นาทม จ.นครพนม ที่ร่วมทุจริตกับเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งด้วย “ทั้งนี้เพื่อให้โกงรายเก่าต้องหมดไป โกงใหม่ต้องไม่เกิด ไม่เปิดโอกาสให้โกง และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการปราบปรามการทุจริตเจ้าหน้าที่ของรัฐ” พ.ท.กรทิพย์ฯกล่าวในที่สุด

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์