เศรษฐกิจไทยซมไม่ฟื้น ยอดขายห้างภูมิภาคฟ้อง คนรายได้น้อย-กำลังซื้อต่ำทั่วแผ่นดิน

ห้างภูมิภาค

แม้ว่าปัจจัยที่เคยทำร้ายเศรษฐกิจไทยก่อนหน้านี้ได้ผ่อนคลายบางเบาลงแล้ว ทั้งสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่คลี่คลาย การท่องเที่ยวเริ่มฟื้น และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อลดลงต่ำมาก ๆ แล้ว แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเหมือนซมพิษไข้ 

ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศยังมีเงินในมือน้อย ส่งผลให้กำลังซื้อต่ำ สะท้อนให้เห็นผ่านสถานการณ์ยอดขายของห้างภูมิภาค ทั้งห้างค้าปลีกและค้าส่งที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจมา ซึ่งทุกเจ้าประสานเสียงบอกว่า ยอดขายช่วงไตรมาส 2 นี้นิ่งมาก ยอดขายไม่ดีอย่างที่คาดหวังไว้

 

               

ภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรก ตลาดกลาง-ล่างยังแย่ 

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่า การเติบโตของภาคค้าปลีกในขณะนี้ยังเป็นในลักษณะของการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน หรือ K-shaped recovery โดยกลุ่มตลาดระดับกลางไปถึงบนจะยังเติบโตได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มระดับกลางลงล่างอาจจะยังมีปัญหาอยู่บ้าง จากค่าครองชีพหลาย ๆ อย่างที่เพิ่มขึ้น และเป็นกลุ่มที่ยังต้องการการอัดฉีดเงินเข้าช่วย 

“อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการค้าปลีกในต่างจังหวัดก็พบว่า ตัวเลขเดือนกรกฎาคมนี้เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา แนวโน้มเริ่มดีขึ้นบ้าง”

แหล่งข่าวจากวงการเสื้อผ้าแฟชั่น-เครื่องสำอางรายหนึ่งกล่าวในเรื่องกำลังซื้อว่า จากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลง ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ และการเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมเริ่มกลับมาคึกคักและมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ ทำให้อารมณ์การจับจ่ายและตัวเลขยอดขายค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) 

แต่หลังจากนั้นมา ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมากลับพบว่าพฤติกรรมการจับจ่ายเริ่มชะลอตัวลง ทั้งนี้ อาจจะเป็นผลมาจากค่าสาธารณูปโภคหลาย ๆ อย่างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ค่าไฟแพง ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาที่ทำให้ผู้บริโภคเริ่มชะลอการจับจ่าย ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นผลกระทบในช่วงสั้น ๆ แต่ปัจจัยทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะการตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ลดลง พฤติกรรมการจับจ่ายก็อาจจะชะลอตามลงไปด้วย

นายวีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด ซึ่งมีร้านค้าปลีกกว่า 1,000 สาขา ใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้มีหลายปัจจัยที่จะทำให้กำลังซื้อลดลง ทั้งฤดูฝนที่เป็นโลว์ซีซั่นแล้ว ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อภาคการเกษตรทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรลดลง และสถานการณ์ทางการเมืองซึ่งทำให้ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน และการลงทุนของภาครัฐล่าช้า 

“ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจจับจ่ายโดยให้น้ำหนักกับความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการค้าปลีกที่จะต้องรับมือ”

 

พัทยา เศรษฐกิจชะลอตัว การใช้จ่ายลด 40% 

นายจักรรัตน์ เรืองรัตนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รัตนากร แอสเซท จำกัด จ.ชลบุรี ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และเจ้าของตลาดกลางรัตนากรค้าส่ง-ค้าปลีกกว่า 11 แห่งใน จ.ชลบุรี และระยอง กล่าวว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของพัทยาช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) ถือว่าดี แต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2566 ยอดขายชะลอลงมาก เป็นช่วงโลว์ซีซั่น ไม่มีต่างชาติเข้ามา และคนไทยเป็นช่วงเปิดเทอม 

ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 ถึงปัจจุบัน เริ่มมีต่างชาติเข้ามา แต่ส่วนใหญ่เป็นทัวร์เอเชีย มาเลเซีย เวียดนาม จีน ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก แต่ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนน้อย หากเทียบกับช่วงไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาติตะวันตก ยุโรป สแกนดิเนเวียน รัสเซีย มีกำลังซื้อต่อหัวสูง 

“ดังนั้น ช่วงนี้ถือว่าเศรษฐกิจของพัทยาชะลอลง เห็นได้ชัดเจนจากยอดขายในตลาดรัตนากร การใช้จ่ายต่อหัวลดลง สมมติช่วง 4 เดือนแรกของปี การใช้จ่ายประมาณ 100 บาทต่อหัวต่อคน ตอนนี้เหลือจ่ายเพียงประมาณ 60 บาทต่อหัวต่อคน หายไป 40 บาท” 

นายจักรรัตน์บอกอีกว่า หากพิจารณาการใช้จ่ายทั้งภาคตะวันออก แบ่งกำลังซื้อเป็น 2 ส่วนคือ ภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมการส่งออกปีนี้ติดลบมาเป็นเดือนที่ 6 และทั้งปีอาจจะติดลบ หรือศูนย์ ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมลดการผลิตเหลือ 50% เพราะมีออร์เดอร์น้อย ทำให้แต่ละโรงงานลดการจ่ายค่าล่วงเวลา (OT) และเลิกจ้างคนงาน โดยเริ่มส่งผลกระทบหนักช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2566 ทำให้กำลังซื้อตามนิคมอุตสาหกรรมค่อนข้างเงียบ เชื่อว่าดร็อปลงไปไม่ต่ำกว่า 25-30% จากที่แย่อยู่แล้ว และหนักกว่าภาคการท่องเที่ยวมาก

 

K&K ภาคใต้ยอดขายลดลง

นายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ เคแอนด์เค จังหวัดสงขลา ผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในภาคใต้เปิดเผยว่า ยอดขายของบริษัท เคแอนด์เคฯ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมียอดขายเพียง 420 ล้านบาท จากปกติครึ่งปีมีรายได้ประมาณ 500 ล้านบาท 

นายกวิศพงษ์แสดงความเห็นถึงผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองด้วยว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าส่งผลกระทบต่อปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้า เพราะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติเงินงบประมาณมาใช้ได้ รัฐบาลรักษาการจะจ่ายได้เฉพาะแผนงานที่ใช้งบประมาณต่อเนื่อง แต่ค่าใช้จ่ายตามแผนงานใหม่ ๆ ไม่สามารถอนุมัติการจ่ายได้ ทำให้เงินที่จะหมุนเวียนเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในระบบหายไป ทำให้เสียโอกาสในการลงทุน

นอกจากนี้ ด้านภาคการเกษตรซึ่งโดยปกติเมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รัฐบาลจะมีนโยบายมาช่วยพยุงราคา ตอนนี้ก็ไม่สามารถทำได้ ทำให้รายได้ของประชาชนหายไป ส่งผลให้กำลังซื้อในจังหวัดสงขลาชะลอตัวลงไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2566) หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตอนนี้กำลังซื้อลดลงไปประมาณ 15% แล้ว

 

ยงสงวน อุบลฯ ยอดขายไม่ดีขึ้นอย่างที่คาด 

ด้านนายประกอบ ไชยสงคราม ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด จ.อุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ว่า กำลังซื้อของลูกค้าบริษัทยงสงวนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยอดขายดี เพราะเป็นช่วงเปิดภาคเรียน และก่อนหน้านี้คาดว่ายอดขายจะดีขึ้นเป็นลำดับ 

“แต่มาถึงตอนนี้ยอดขายกลับทรงตัวและไม่ดีเลย สาเหตุมาจากปัญหาเดิมคือ รายได้ของผู้บริโภคไม่มาก ทำให้ไม่มีกำลังซื้อมากพอ ทั้งที่ปกติคนในภาคอีสานจำนวนมากที่ไปทำงานต่างถิ่น มักส่งเงินกลับมาให้คนที่บ้านใช้”

นายประกอบบอกอีกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ประเด็นเรื่องการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องการเมือง ทำให้นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นจนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และช่วงนี้อยู่ในภาวะสุญญากาศ ทำให้กำลังซื้อหดตัวลงอย่างแน่นอน 

“ทุกวันนี้รายได้คนไม่ขยับขึ้นเลย แต่สินค้าทุกชนิดปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง เงิน 10,000 บาทที่เคยซื้อสินค้าได้เต็มจำนวน ปัจจุบันซื้อสินค้าได้ปริมาณเพียง 7,000 บาท ผมไม่รู้ว่าผู้บริโภคมีหนี้สินไฟแนนซ์เท่าไหร่ด้วย แต่ภาพที่เห็นตอนนี้เจ้าของกิจการก็ลำบาก โดยเฉพาะกิจการร้านอาหาร วัตถุดิบต่าง ๆ ซื้อเข้าครัว 2-3 วันขายไม่หมดต้องทิ้งและขาดทุน” นายประกอบกล่าว 

แม้ยอดขายจะอยู่ในภาวะทรงตัว แต่ยงสงวนยังมีโอกาสทางการค้าอยู่ เพราะสินค้าสามารถเก็บไว้ได้นาน และเดือนสิงหาคมนี้จะเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยเปิดเทอม จึงยังมีความหวังว่ากำลังซื้อจะกลับมา พร้อมกับธุรกิจอื่น ๆ ที่มีลูกค้าเป็นนักศึกษา แต่ไม่แน่ใจว่าจะกระตุ้นการจับจ่ายได้มากน้อยเพียงใด 

 

ค้าส่งเชียงรายได้รับผลกระทบมาก

ด้านนางอมร พุฒิพิริยะ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP จังหวัดเชียงราย ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคกล่าวว่า ภาพรวมกำลังซื้อในภาคเหนือนั้น “ไม่ดีเท่าไหร่” สังเกตได้ว่าสินค้าประเภทของใช้จำเป็นยอดขายยังทรงตัวอยู่ ส่วนของใช้ฟุ่มเฟือยผู้บริโภคซื้อปริมาณลดลง ยกตัวอย่าง เครื่องสำอาง จากที่ลูกค้าเคยซื้อแบบกระปุกก็เริ่มหันมาใช้แบบซองมากขึ้น

นางอมรเผยว่า ตอนนี้ยอดขายในส่วนธุรกิจค้าส่งได้รับผลกระทบมาก สวนทางกับกำลังซื้อในส่วนของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งทาง “ธนพิริยะ” มีการค้าปลีกเป็นหลักกว่า 90% ซึ่งกำลังซื้อลูกค้าในกลุ่มตลาดแมสหรือสินค้าปลีกค่อนข้างดี ประกอบกับขยายสาขาเพิ่มจากปี 2565 รวมถึงเพิ่มการโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ตัวเลขการค้าจึงบวกขึ้น 

“เราฟื้นจากโควิด-19 มาแล้ว ถือว่าไม่ได้แย่ แต่ภาพรวมตอนนี้การค้าไม่ค่อยดี เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ทำให้ทุกอย่างนิ่ง และอยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น ซึ่งนักท่องเที่ยวลดน้อยลง เห็นความคึกคักอยู่เพียงจังหวัดเชียงใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวจีนค่อนข้างเยอะ คาดหวังว่าช่วงไตรมาสที่ 4 ปลายปีสถานการณ์จะดีขึ้น จากภาวะทางการเมืองที่น่าจะดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังไม่สามารถดีขึ้นด้วยตัวมันเอง ต้องอาศัยเงินกระตุ้นจากภาครัฐเข้ามาช่วย”

 

กนกกาญจน์ จ.กาญจน์ ยอดขายลด 3 เดือนติด 

นางสาวณัฐสินี กนกวรกาญจน์ กรรมการผู้จัดการ ห้างกนกกาญจน์ จ.กาญจนบุรี ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมืองกาญจนบุรี ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 48 ปี กล่าวว่า ยอดขายของห้างกนกกาญจน์มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วง 3 เดือนต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม 2566 จากที่คาดการณ์ว่าสินค้าทุกแผนกควรมียอดขายเติบโตมากกว่า 10% ส่วนหนึ่งคิดว่าน่าจะเป็นผลจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน ใช้จ่ายอย่างประหยัด ระมัดระวังมากขึ้น

สินค้าหลายแผนกของห้างยอดขายเติบโตขึ้น หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ยังมีสถานการณ์โควิด-19 แต่ปี 2566 สถานการณ์โควิดคลี่คลายไปแล้ว ทางห้างคาดการณ์ว่า ยอดขายสินค้าหลายแผนกน่าจะเติบโตขึ้นได้มากกว่า 10% แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นไปตามคาดการณ์ เช่น แผนกซูเปอร์มาร์เก็ตเติบโตขึ้น 10% แผนกเสื้อผ้าเติบโต 2-3%

“หากเทียบกับช่วงก่อนเลือกตั้งเงินสะพัดมาก แผนกซูเปอร์มาร์เก็ตขายดีมาก แต่หลังเลือกตั้งปรากฏว่าคนชะลอการจับจ่ายใช้สอยลดลง ทำให้ยอดขายลดลง ส่วนหนึ่งคิดว่าน่าจะเป็นผลจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น สินค้าบางอย่างราคาเดิม แต่ขนาดของบรรจุภัณฑ์เล็กลง ซึ่งตอนนี้สินค้าหลายตัวยังมีการปรับราคาและปรับขนาดบรรจุภัณฑ์อยู่เรื่อย ๆ นอกจากนี้ อีกปัจจัยอาจมาจากการเมืองขาดเสถียรภาพ”