คลังหั่นจีดีพีปีนี้โต 3.5% จีนชะลอกระทบท่องเที่ยว-ส่งออกไทย

นักท่องเที่ยวจีน
Photo by Jack TAYLOR / AFP

คลังประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.5% ชี้แรงหนุนจากท่องเที่ยว-อุปสงค์ภายในประเทศ-เงินเฟ้อลดลง แจงปรับลดประมาณการลง 0.1% เหตุเศรษฐกิจจีนชะลอกว่าคาด กระทบรายได้ท่องเที่ยว-ส่งออก ประเมินตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบเบิกจ่าย ระบุกรณีช้า 6 เดือนฉุดเศรษฐกิจ 0.05% ส่วนกรณี 9 เดือนฉุด 0.07% พร้อมจับตาปัจจัยเสี่ยงนโยบายการเงินสหรัฐ-ยุโรป รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.5% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3-4%) ซึ่งปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนนี้ที่คาดที่ 3.6% เนื่องจากไตรมาสแรกเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ สศค. ประเมินไว้

ขณะเดียวกันคาดว่ารายได้นักท่องเที่ยวจะทำได้ที่ 1.25 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดที่ 1.3 ล้านล้านบาท แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมจะยังคงคาดที่ 29.5 ล้านคน แต่คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะมาน้อยกว่าคาดไว้เดิม แต่นักท่องเที่ยวมาเลเซียจะมามากขึ้น อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปจะน้อยกว่านักท่องเที่ยวจีน

นอกจากนี้ คาดว่าการส่งออกจะหดตัวที่ -0.8% มากกว่าที่เดิมที่คาดหดตัวเพียง -0.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มากกว่าที่คาดเดิม ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรปยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย

Advertisment

อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ยังขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวที่ 2.6% ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 29.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 164.2% ต่อปี

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 4.5% (ช่วงคาดการณ์ที่ 4-5%) ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้และแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่คลี่คลายลง ด้านการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวที่ 2.6% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.1-3.1%) จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม

ส่วนการบริโภคภาครัฐคาดว่าหดตัวที่ -2.1% (ช่วงคาดการณ์ที่ -2.6 ถึง -1.6%) ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.2% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.7-2.7%) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา

“ตอนนี้เรายังประเมินว่างบประมาณจะล่าช้า 6 เดือน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.05% แต่หากช้ากว่านั้น กรณี 9 เดือน จะกระทบจีดีพี 0.07%”

Advertisment

ส่วนในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.2- 2.2%) เนื่องจากแรงกดดันจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานได้คลี่คลายลงตามลำดับ ประกอบกับมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน

สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวด้วยว่า สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ 1) ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศหลัก ๆ เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย 2) สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อในประเทศ

3) สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจจีน และ 4) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ