ปตท.ผนึก “เก้าเจริญ” ตั้งบริษัทโลจิสติกส์ระบบราง ขนสินค้าไปยุโรปทางรถไฟ

PAS

บริษัทเก้าเจริญ เทรนทรานสปอร์ต ผนึก เครือ ปตท.ตั้ง บริษัทแพน-เอเซีย ซิลค์โรด หรือ PAS ทำธุรกิจโลจิสติกส์ระบบรางทางรถไฟระหว่างประเทศอาเซียน-ยุโรป เตรียมทุ่มเฉียด 10,000 ล้านซื้อ หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้า พร้อมตั้งลานบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ CY ทั่วประเทศ เตรียมเปิดเส้นทางสายประวัติศาสตร์ไปไทย-ยุโรป ประเดิมขนส่งผลไม้แห้งไปอังกฤษเที่ยวแรกปลายปีนี้ พร้อมขยายเส้นทางอาเซียน “จีน รัสเซีย มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา สิงคโปร์” รุกซื้อตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็น 1,000 ตู้ลุยขนส่งผลไม้ไปจีนโดยเฉพาะ

นายปัญญา ปะพุธสะโร ประธาน บริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน บริษัท เก้าเจริญฯ ได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (ในเครือ ปตท.) จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่เมื่อช่วงต้นปี 2566 ภายใต้ชื่อ บริษัท แพน-เอเชีย ซิลค์ โรด จำกัด (Pan-Asia Silk Road Co., Ltd.) หรือ PAS เพื่อประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้า “ตู้คอนเทนเนอร์” ด้วยระบบรางทางรถไฟทั้งนำเข้าและส่งออกทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันขนส่งสินค้าหลากหลายประเภทไปยังประเทศจีน, รัสเซีย, มาเลเซีย, กัมพูชา และกำลังเตรียมขนส่งสินค้าไปเมียนมา กับสิงคโปร์ ในเร็ว ๆ นี้

โดยตั้งเป้าหมายภายในปลายปี 2566 จะเปิดตลาดโซนยุโรปให้ได้มากที่สุด ตอนนี้ได้เจรจาเรื่องการเชื่อมเส้นทางการเดินรถกับหลายประเทศแล้ว อาทิ ประเทศอังกฤษ เยอรมนี และโปแลนด์ ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องจำนวนตู้คอนเทนเนอร์และชนิดของสินค้า คาดว่าจะประเดิมขนส่งทางรถไฟเป็นสายประวัติศาสตร์เที่ยวแรกจากประเทศไทยไปยังประเทศอังกฤษในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าที่ทางลูกค้าสนใจคือ ผลไม้แห้ง

“มั่นใจว่าการขนส่งทางรางจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะการขนส่งระบบรางแทนการใช้รถเทรลเลอร์จะช่วยลดปริมาณคาร์บอน ซึ่งจะได้คาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นมาตรการที่คู่ค้าทั่วโลกนำมาบังคับใช้ เราจึงมีแผนเชื่อมโยงเส้นทางการเดินรถไฟทั้งอาเซียนและยุโรปได้ตั้งเป้าว่า ปลายปี 2566 จะมีการเปิดตลาดโซนยุโรปให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าหากไต้หวันกับจีนมีปัญหากัน การขนส่งทางเรือไปไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปขนส่งทางราง ซึ่งจะมาแก้ปัญหาการขนส่งทางเรือและทางอากาศได้

ยกตัวอย่าง ช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เคยใช้บริการขนส่งบะหมี่มาม่าทางรถไฟไปยังประเทศรัสเซีย จำนวน 5 ตู้คอนเทนเนอร์มาแล้ว ถือเป็นผู้ประกอบการคนไทยเจ้าแรกที่ใช้บริการขนส่งทางรางไปถึงรัสเซีย โดยมีเส้นทางการขนส่งออกจากไทย-ลาว-จีน-คาซัคสถาน-มอสโก ประเทศรัสเซีย” นายปัญญากล่าว

เก้าเจริญ

Advertisment

ปัจจุบันบริษัท เก้าเจริญฯ มีตู้คอนเทนเนอร์เย็นจำนวน 255 ตู้ ตู้คอนเทนเนอร์แห้งขนาด 40 ฟุต จำนวน 100 ตู้ และขนาด 20 ฟุต จำนวน 100 ตู้ ตั้งเป้าจะเพิ่มตู้คอนเทนเนอร์เย็นอีก 745 ตู้ ภายในปลายปี 2566 ราคาตู้ละ 1,600,000 บาท รวมมูลค่าลงทุน 1,200 ล้านบาท เพื่อมารองรับการขนส่งผลไม้โดยเฉพาะ “ทุเรียน” นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเปิดลานที่ใช้บรรจุและแยกสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์ (container yard-CY) ให้ครบทุกภาคทั่วประเทศ โดยพยายามขยาย CY ไปยังจุดที่มีลูกค้ามาขึ้นสินค้ามาก ๆ

นอกจากนี้ ในปี 2567 บริษัทได้วางแผนซื้อ “หัวเครื่องจักรรถไฟ” ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% หลายหัว ซึ่งจะสามารถลดเครดิตคาร์บอนได้ 100% คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปี 2566 ตั้งเป้ารายได้ประมาณ 200 กว่าล้านบาท เนื่องจากภาพรวมการขนส่งทางรถไฟไปต่างประเทศยังมีไม่มาก เพราะขึ้นอยู่กับช่วงฤดูของสินค้า

Advertisment

เช่น ทุเรียน ส่วนการขนส่งสินค้าทางรถไฟภายในประเทศมีการขนส่งเฉลี่ยวันเว้นวัน ตอนนี้ลูกค้าหลักคือ ปตท. 80% ทั้งสินค้านำเข้าและส่งออก โดยส่วนใหญ่ขนถ่ายแก๊ส-น้ำมัน ส่วนลูกค้าที่เหลืออีก 20% เป็นลูกค้าขนส่งทุเรียน และคาดว่าปี 2567 จะสร้างมูลค่าการขนส่งสินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

นายปัญญากล่าวต่อไปว่า เมื่อช่วงต้นปี 2566 รถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการ บริษัท PAS ถือเป็น 1 ในผู้ให้บริการขนส่งทุเรียนจากไทยไปจีนในขบวนรถไฟสายประวัติศาสตร์ “มาบตาพุด-กว่างโจว” เที่ยวปฐมฤกษ์ หลังจากนั้นได้ขนส่งเม็ดพลาสติกของ บริษัท ปตท. จำกัด, บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด และบริษัท ไทยชินกง อินดัสตรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และมีการขนส่งทุเรียนจากไทยไปยังประเทศจีน โดยให้บริการแบบ door-to-door service เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งสินค้าตั้งแต่ต้นทาง ถึงสถานที่จัดเก็บสินค้าของผู้รับปลายทาง

ด้าน นายปุรเชษฐ์ ปะพุธสะโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด กล่าวว่า ข้อดีของการขนส่งทางรถไฟไปจีนเปรียบเทียบกับการขนทางเรือ “ค่าใช้จ่ายไม่ต่างกันมาก” แต่ส่วนใหญ่มองว่าการขนส่งทางเรือถูกกว่า เพราะคิดค่าใช้จ่ายระหว่างท่าเรือต่อท่าเรือเท่านั้น ยกตัวอย่าง การขนส่งทุเรียนเริ่มจากต้นทางจันทบุรี-ตลาดคุนหมิง ค่าขนส่งทางรถไฟจากจันทบุรี-ปลายทางตลาดคุนหมิง door to door ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดประมาณ 180,000 บาทต่อตู้ ระยะเวลาการขนส่งเพียง 3 วัน

แต่การขนส่งทางเรือจากจันทบุรี-ตลาดคุนหมิง รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 190,000 บาท ระยะเวลาขนส่งประมาณ 15 วัน แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในการจ้างรถลากตู้คอนเทนเนอร์จาก จ.จันทบุรี ไปท่าแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ค่าบริการประมาณ 17,000 บาทต่อตู้ ส่วนค่าระวางเรือประมาณ 40,000 บาท และจากท่าเรือกว่างโจวไปตลาดคุนหมิง มีค่าบริการอีกประมาณ 120,000-150,000 บาท รวมทั้งหมดประมาณ 190,000 บาท และถ้าเปรียบเทียบแล้วการขนส่งทางรถไฟถูกกว่า สินค้าต่าง ๆ ถึงเร็วและได้ราคาที่ดี โดยปัจจุบันการขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว มีทั้งหมด 7 เที่ยว/วัน โดยรถไฟ 1 เที่ยวขนส่งได้ 35 ตู้คอนเทนเนอร์