หนองคาย จัดแสดงแสงสีเสียง-สื่อผสม “ประทีปนาคา บูชาพระสัพพัญญู”

พญานาค หนองคาย

เทศบาลเมืองหนองคาย จัดแสดงแสง สี เสียง “ประทีปนาคา บูชาพระสัพพัญญู” ใช้นักแสดงกว่า 150 คน มีนักท่องเที่ยวชาวไทย-ต่างชาติเข้าร่วมงานจำนวนมาก

วันที่ 28 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 27 ต.ค. 66 ณ เวทีการแสดง แสง สี เสียง สื่อผสม ลานวัฒนธรรมริมแม่น้ำโขง บริเวณพญานาคคู่ หน้าวัดลำดวน ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีออกพรรษาและเทศกาลบั้งไฟพญานาค ประจำปี 2566 และเปิดการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม “ประทีปนาคา บูชาพระสัพพัญญู” ที่จังหวัดหนองคาย โดยเทศบาลเมืองหนองคาย จัดให้มีขึ้น

นายอุรุยศ เอียสกุล นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย กล่าวรายงานว่า ด้วยเทศบาลเมืองหนองคาย ร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ได้ดำเนินการจัดงานประเพณีออกพรรษาและเทศกาลบั้งไฟพญานาค ประจำปี 2566 ขึ้นในระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2566

โดยกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีบวงสรวงและรำบูชาพญานาค, การแสดง แสง สี เสียง, พิธีบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง, พิธีบวงสรวงพระธาตุกลางน้ำ, กิจกรรมตักบาตรเทโวโรหนะ, กิจกรรมถนนอาหาร, กิจกรรมถนนคนเดิน

กิจกรรมแข่งขันเรือยาวตามประเพณี, และกิจกรรมอื่น ๆ ณ บริเวณวัดหายโศก, ลานวัฒนธรรมหน้าวัดลำดวนถึงพระธาตุหล้าหนอง และบริเวณในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย

ADVERTISMENT

โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่และถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง เพื่อรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างสังคมและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

ADVERTISMENT

เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด

การแสดง แสง สี เสียง“ประทีปนาคา บูชาพระสัพพัญญู” เป็นการแสดงเกี่ยวกับตำนานพญานาคโดยมีเรื่องราวจากดุษฏีนิพนธ์ งานวิจัยของพระเดชพระคุณพระเทพวชิรคุณ เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย /เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง ที่นำมาถ่ายทอดมาเป็นการแสดง แสง สี เสียง

โดยเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสานร่วมกับเทคโนโลยีสื่อผสมสมัยใหม่ มีฉากหลังเป็นจอแอลอีดีขนาดใหญ่ มีการนำภาพ 3D มาประกอบการแสดง เพื่อให้ฉากมีความสมจริง ซึ่งการแสดงได้ถ่ายทอดเรื่องราวตำนานพญานาค สู่ความเชื่อ ความศรัทธา

การแสดงประกอบไปด้วย 4 องค์ เป็นการเล่าเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดของหนองคาย เริ่มตั้งแต่ตำนาน ประเพณี มาจนถึงปัจจุบัน

  • องค์ที่ 1 ว่าด้วยเรื่องการเกิดแม่น้ำโขง
  • องค์ที่ 2 วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง ที่จะผูกวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงเข้ากับความเชื่อเรื่องพญานาค เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับพญานาคทั้ง 4 ตระกูล ผูกต่อรวมไปกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวหนองคาย คือพระสุก พระเสริม พระใส และพระธาตุหล้าหนอง ที่มีองค์พญานาครักษา
  • องค์ที่ 3 เป็นตำนานของ “บั้งไฟพญานาค” เป็นความเชื่อเรื่องของการเกิด “บั้งไฟพญานาค”
  • องค์ที่ 4 เป็นประเพณีออกพรรษาของจังหวัดหนองคาย

การแสดงทั้ง 4 องค์จะมีเวลาแตกต่างกันออกไป แต่องค์ที่พิเศษคือองค์ที่ 2 และองค์ที่ 3 ที่เป็นเรื่องราวของพญานาคและบั้งไฟพญานาค รวมแล้วใช้เวลาในการแสดงประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้นักแสดงที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและบุคลกรจากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองหนองคาย โดยเฉพาะโรงเรียนเทศบาล 1 สว่างวิทยา และโรงเรียนเทศบาล 3 ยุวบูรณ์บำรุง กว่า 150 คน

ซึ่งการแสดงฯ ในครั้งนี้สามารถดึงดูดผู้ชม นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติให้เกิดความประทับใจได้เป็นอย่างมาก โดยจะมีการแสดงในวันที่ 28 ตุลาคม 2566 อีกหนึ่งวัน