ม.เกษตรฯผนึก “ซันสวีท” พัฒนาพันธุ์ถั่วลายเสือ

ซันสวีท

ม.เกษตรฯผนึกซันสวีท MOU พัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดหวาน-ถั่วลายเสือ ให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น รองรับความต้องการตลาดที่สูงขึ้น พร้อมนำงานวิจัย “แป้งกล้วยแบล็กเบอรี่-ราสป์เบอรี่-มันฝรั่ง-พืชสมุนไพร” ต่อยอดเชิงพาณิชย์

รองศาสตราจารย์ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังการลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน)

เพื่อพัฒนาการศึกษาพันธุ์พืช เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการวิจัยพันธุ์พืช การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการดำเนินการศึกษาวิจัย การบริการทางวิชาการ ประกอบด้วย กิจกรรมการวิจัย การบริการวิชาการ และกิจกรรมพัฒนาการเรียนการสอน

โดยยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของการพัฒนาเกษตรกรและนิสิตคณะเกษตรเป็นหลัก อันจะนำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรและความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีบทบาทให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่บริษัท ซันสวีท ในการศึกษาวิจัยและพัฒนา การจัดเตรียมสถานที่และบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะวิชาการด้านการเกษตร ตลอดจนการนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยและบริการวิชาการ

เพื่อการส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านพันธุ์พืช เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร และจัดฝึกอบรมบุคลากรของบริษัท และเกษตรกรในพื้นที่ของบริษัท ให้มีความรู้ด้านพันธุ์พืช เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร การพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะกระบวนการจัดการ เครื่องมือทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ADVERTISMENT

กรอบความร่วมมือมีระยะเวลา 5 ปี มุ่งเน้นการพัฒนาภายใต้โมเดล BCG และ low carbon ในการพัฒนาผลผลิตและคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อการต่อยอดเชิงธุรกิจได้ โดยเริ่มจากการพัฒนา 2 โปรดักต์หลักของซันสวีทคือ ข้าวโพดหวานและถั่วลายเสือ ซึ่งข้าวโพดหวานจะมุ่งเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพด

ซันสวีท

ADVERTISMENT

เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ อาทิ น้ำนมข้าวโพด ซึ่งจะใช้ต้นแบบการผลิตข้าวโพดหวานของทางมหาวิทยาลัยที่ไร่สุวรรณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขณะที่ถั่วลายเสือ จะเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นและเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น

โดยการพัฒนาผลผลิตจะมุ่งการผลิตแบบปลอดภัยและลดการใช้สารเคมี ทั้งนี้ ภายใต้กรอบความร่วมมือ 5 ปี ทางมหาวิทยาลัยจะนำงานวิจัยมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เช่น แป้งกล้วยแบล็กเบอรี่ ราสป์เบอรี่ มันฝรั่ง หรือการผลิตพืชสมุนไพร ที่จะสามารถพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้กับซันสวีทได้อีกหลายชนิด

นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทให้การสนับสนุนการฝึกงานนิสิตคณะเกษตรฯ และให้การสนับสนุนงบประมาณ และบุคลากรในการทำงานเพื่อให้บรรลุตามบันทึกข้อตกลงนี้ เพื่อการวิจัยพันธุ์พืช และพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตร และนำไปสู่การดำเนินการด้านการตลาดต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทมีบทบาทให้การสนับสนุนพื้นที่ในฟาร์มวิจัยและพัฒนา (sun valley) ของบริษัทสำหรับกิจกรรมการวิจัย และการบริการวิชาการแก่เกษตรกรในพื้นที่ในโครงการความร่วมมือระหว่างกัน โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี

ความร่วมมือครั้งนี้โฟกัสผลผลิตข้าวโพดหวานภายในระยะ 5 ปีจะสามารถต่อยอดและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ส่งออกไปตลาดโลกได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับถั่วลายเสือ ที่ตลาดมีความต้องการสูง แต่มีผลผลิตไม่เพียงพอ จึงต้องเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตถั่วลายเสืออยู่ที่ 30,000-40,000 ชิ้นต่อวัน ขณะที่ขีดความสามารถในการผลิตสูงสุดสามารถทำได้ถึง 500,000 ชิ้นต่อวัน