เปิดมุมมอง “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ส่องโอกาส “ตราด” ในโลกการค้ายุคใหม่

แฟ้มภาพ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์เครือข่ายธุรกิจจังหวัดตราด (Moc Biz Club Trat) สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ร่วมกับจังหวัดตราด หอการค้า สภาอุตสาหกรรม จังหวัดตราด ได้เชิญ “รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ไปบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ส่องโอกาสธุรกิจชาวตราดในโลกการค้ายุคใหม่” ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ขอหยิบยกบางตอนที่น่าสนใจมานำเสนอ

จี้เปลี่ยน 5 ปมก่อนสายเกินแก้

“ดร.ชัชชาติ” เปิดประเด็นว่า ความเป็นอยู่ของชาวตราดถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยรายได้ต่อหัว (GPP) ปี 2558 จำนวน 148,446 บาท/คน อยู่อันดับที่ 22 ของประเทศ และลำดับที่ 6 ของภาคตะวันออก แต่เมื่อพิจารณาเรื่องระบบการขนส่งมีอยู่ค่อนข้างจำกัด ทางรถยนต์ มีเชื่อมต่อ 2 สาย คือ หมายเลข 344 จาก อ.แกลง จ.ระยอง มาเชื่อมกับสุขุมวิท หมายเลข 3 และหมายเลข 317 เชื่อมกับทางอีสาน แต่ข้อดีคือ มี สาย R10 เป็นแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้เชื่อมไปกัมพูชา เวียดนาม และอนาคตจะเชื่อมกับทวายและเมียนมา ด้านเกาะช้างสถานที่เที่ยวสำคัญยังขาดถนนรอบเกาะ นอกจากนี้ ตราดเองได้ประโยชน์จากการค้าชายแดนน้อย

อนาคตจังหวัดตราดมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องเปลี่ยนแปลงใน 5 ประเด็นก่อนจะแก้ไขไม่ได้ คือ 1.การเชื่อมโยง คือ ระบบการขนส่งรถสาธารณะ ใช้เวลาเดินทางนานกว่า 6 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางมีไฟแดงถึง 35 แยก จึงน่าผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงจากอู่ตะเภามาถึงตราดอีก 173 กิโลเมตร คาดใช้เงินลงทุน 100,000 ล้านบาท

ส่วนสนามบินมีข้อจำกัด รันเวย์ 1,800 เมตร รองรับเครื่อง ATR ได้ชั่วโมงละ 1 เที่ยวบิน ส่งผลให้ค่าโดยสารสูงถึง 7,380 บาท จึงควรเพิ่มอีก 2 หลุมจอดให้รองรับได้ 3 เที่ยวบิน/ชั่วโมง และขยายรันเวย์เป็น 2,200 เมตร ให้รองรับเครื่อง Airbus 320 ของสายการบินโลว์คอสต์ได้ เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลง โดยตราดไม่จำเป็นต้องมีสนามบินแห่งใหม่เพิ่ม

2.ด้านการท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม อัตราการเติบโตด้านการท่องเที่ยวน้อย ถ้าเปรียบเทียบกับรายได้ท่องเที่ยวระดับประเทศ 2.2 ล้านบาท ตราดมีรายได้การท่องเที่ยวลำดับที่ 15 ปี 2560 จำนวน 16,763 ล้านบาท ช่วงระหว่างปี 2557-2560 อัตราการเติบโต 8.8% ต่ำกว่าของประเทศ 13.1% ซึ่งเติบโตน้อยมาก

ด้านโรงแรม ปี 2559 มีรายได้จากโรงแรม 15,960 ล้านบาท เทียบกับชลบุรี 190,804 ล้านบาท ตราดมีอัตราเข้าพักนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 63% การท่องเที่ยวมีช่องว่างจะพัฒนาได้อีก แต่ต้องระวังปัญหาขยะตามแหล่งท่องเที่ยวเกาะช้าง เกาะกูด เป็นภาพลบต่อการท่องเที่ยว ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

3.ด้านการแข่งขัน ต้องเผชิญทั้งภายในและเพื่อนบ้าน อย่างแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ใช้งบฯลงทุน 700,000 กว่าล้านบาท แต่ตราดไม่ได้รับอานิสงส์นี้ และควรทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์จาก EEC เช่น ทำที่อยู่อาศัย การเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง

ขณะที่กัมพูชามีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงติดชายแดนตราดเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีบริษัทไทยย้ายฐานการผลิตไป ราคาที่ดินติดถนนสูงถึงไร่ละ 16 ล้านบาท และอนาคตแรงงานจะกลับไปกัมพูชา ปัญหาสินค้าประมงนำเข้า ระบบการขนส่งสินค้าข้ามแดนและสินค้าข้ามประเทศยังไม่มีมาตรฐาน ไม่มีประสิทธิภาพ

4.การลงทุนขนาดใหญ่ที่มาจากส่วนกลางอาจจะไม่ใช่ความต้องการของคนในจังหวัดตราด เช่น ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ มีปัญหาทางออกต้องเวนคืนที่ดินเพิ่ม ขณะที่ท่าเทียบเรือเอกชนมีดีมานด์มากกว่า บริการได้ดีกว่า รวมถึงการทำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ บนพื้นที่ 900 ไร่ มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท เริ่มแรกตั้งไว้เป็นศูนย์กลางการค้าส่ง ขนส่งต่อเนื่องระหว่างประเทศและศูนย์กลางการให้บริการการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค เริ่มแผนลงทุนปี 2561 ท้องถิ่นต้องจับตาว่า แผนที่ทำตรงเป้าหมายหรือไม่

ทำเพื่อคนตราดหรือไม่ รวมทั้งจัดการปัญหาขยะที่มีอยู่และ 5.ด้านผลผลิตทางการเกษตร ปัญหาด้านเสถียรภาพราคา และคู่แข่งเพื่อนบ้าน ตราดมีรายได้หลักปีละกว่า 10,000 ล้านบาท คิดเป็น 34% แต่ปัญหาคือ ราคาสินค้าเกษตรไม่แน่นอน ทางออกต้องแปรรูป สร้างมูลค่า รวมทั้งปัญหาจากคู่แข่ง เช่น กัมพูชา เวียดนาม ที่ขยายการลงทุน นำเทคโนโลยีมาใช้ และอยู่ใกล้ตลาดจีน สังเกตจากตัวเลข 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2560) เวียดนามส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 42% มูลค่าเกือบ 1,400 ล้านเหรียญ ตราดต้องปรับตัว โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอนาคตการแข่งขันจะยากขึ้น

มองโอกาสธุรกิจในอนาคต

“ดร.ชัชชาติ” มองโอกาสของจังหวัดตราดในธุรกิจ ใน 5 เรื่อง คือ 1.ด้านนวัตกรรม ต้องพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปผลไม้ อาหาร ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า

2.การรวมตัวของภาคเอกชน ตราดมี “ร้านสหกรณ์” ที่เข้มแข็ง อนาคตภาคเอกชนควรรวมกันเป็นภาพใหญ่ทั้งจังหวัด เพื่อพัฒนาเมือง กำหนดนโยบายสร้างอำนาจต่อรองภาครัฐ

3.ภาคเกษตรกรรม ต้องพัฒนาผ่านระบบสหกรณ์ โดยสหกรณ์ 35 แห่งในจังหวัดตราด ทำกำไรให้ 45 ล้านบาท

อนาคตภาคเกษตรกรรมต้องนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเป็นเกษตรอัจฉริยะ ใช้นวัตกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ แพ็กเกจจิ้ง สร้างแบรนด์มาตรฐานของจังหวัดตราด ส่งจำหน่ายตลาดภายในและต่างประเทศ เช่น ตลาดสุขภาพอย่างตลาดเกษตรอินทรีย์และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

4.การท่องเที่ยว แบรนดิ้งและโพซิชั่นนิ่งของจังหวัดตราดต้องชัดเจนและใช้โลกโซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวาง 5.คุณภาพชีวิตจังหวัดตราดเตรียมตัวให้พร้อม อนาคตตราดขึ้นอยู่กับคนเป็นผู้กำหนด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรถไฟความเร็วสูง หรือโครงสร้างพื้นฐาน