ความพยายามในการทำข้อตกลงร่วมกันของ 3 ประเทศ คือ เวียดนาม กัมพูชา ไทย ผ่าน “โครงการ Cambodia-Vietnam-Thailand Economic Corridor Coopertion Conference : CVTEC” เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง การท่องเที่ยวและไมซ์ ในพื้นที่แนวฝั่งทะเลระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ผ่านไป 8 ปี ติดปัญหาอุปสรรคมากมาย
ล่าสุดในการประชุมนานาชาติ CVTEC 2024 ที่โรงแรมอัยยะปุระ เกาะช้าง จ.ตราด ที่ไทยเป็นเจ้าภาพภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (TCEP) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ จ.ตราด ทุกอย่างเริ่มลงตัว
นักท่องเที่ยวพุ่งสะพัด 3 พันล้าน
นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) กล่าวว่า กลไกไมซ์จะเป็นเครื่องมือในการผลักดัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและการยกระดับการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน โลจิสติกส์การท่องเที่ยวและไมซ์ ขึ้นในพื้นที่เส้นทางเชื่อมโยงชายฝั่งทะเลของ 3 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ระนอง จันทบุรี ตราด กัมพูชา 4 จังหวัด คือ เกาะกง สีหนุวิลล์ กำปอต แกป และเวียดนาม 2 จังหวัด คือ เกียนยาง และก่าเมา
ซึ่งแต่ละจังหวัดมีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เชื่อมโยงกันได้ทั้งทางบกและทางเรือ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการจัดประชุมสัมมนาที่ได้มาตรฐาน เป็นโอกาสที่จะทำตลาดในรูปแบบ 1 Marketing 3 Destinations รองรับกลุ่มนักเที่ยวคุณภาพสูงและนักเดินทางกลุ่มไมซ์ โดยจะมีการทดสอบการเดินเรือเส้นทาง CVTEC ปลายปี 2567
“หลังจากนี้ ทั้ง 3 ประเทศต้องนำเสนอรายงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้เตรียมพร้อมรับโครงการ ส่วนท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด จะรายงานอธิบดีกรมเจ้าท่า และในเดือนสิงหาคม 2567 ทาง สสปน.จะมีการประชุมที่จังหวัดก่าเมา ประเทศเวียดนาม เพื่อศึกษาเส้นทาง ความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวก ข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่อทำข้อตกลงร่วมกัน และภาคเอกชนจะประชุมกัน
ถ้าไม่มีอะไรติดขัด การทดลองเที่ยวปฐมฤกษ์เส้นทางจะเริ่มจากคลองใหญ่ จ.ตราด-สีหนุวิลล์ อาจจะไปถึงก่าเมา คาดว่าเส้นทางนี้ใช้ระยะเวลา 3-4 ปี จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออก ทาง จ.ตราด ประมาณ 300,000 คน และสร้างรายได้ปีละประมาณ 3,100 ล้านบาท” นายภูริพันธ์กล่าว
นำร่อง “ตราด-สีหนุวิลล์”
นางวิยะดา ซวง ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การท่องเที่ยวทางเรือที่จะเชื่อมโยงกันใน 3 ประเทศ หารือกันมาตั้งแต่ 2558 แต่ติดด้วยปัญหา อุปสรรคข้อจำกัดทางด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ
มาถึงการประชุมครั้งนี้หารือกันว่า จะมีการเดินเรือจากสีหนุวิลล์ถึงท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ ทั้งบริษัทเดินเรือและเอเย่นต์ทัวร์ 16 บริษัท หน่วยงานภาครัฐกัมพูชา เวียดนาม เห็นร่วมกันที่จะเปิดเส้นทางเชื่อมโยงให้เร็วที่สุด หลังจากนี้ผู้ประกอบการจะเร่งหารือกันในรายละเอียดเรื่องเส้นทาง ตารางการเดินเรือ อัตราราคาท่าเทียบเรือ การบริหารจัดการเข้า-ออก เพื่อเตรียมการเปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ให้ได้ภายในปลายปี 2567
“ตอนนี้ผู้ประกอบการกัมพูชามีความพร้อมมาก บริษัท G.T.V.C.SPEEDBOAT ของกัมพูชา แนะนำเส้นทางการเดินเรือระหว่างเกาะต่าง ๆ ด้วย ขณะที่บริษัทยูเนี่ยนกรุ๊ป ผู้บริหารท่าเรือดาราซากอร์ จ.เกาะกง จะให้บริการแบบ One Stop Service สำหรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออก ส่วนท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด จะทดลองใช้งาน
ขณะที่ผู้ประกอบการเรือของไทยมีความพร้อม ทั้งบริษัทที่เข้าไปให้บริการในท่าเรือดาราซากอร์-เกาะรง สีหนุวิลล์อยู่แล้ว และมีบริษัทเรือที่ให้บริการระหว่างเกาะต่าง ๆ ใน จ.ตราด สนใจลงทุน ซึ่งทั้ง 3 ประเทศต้องมาตกลงทำตลาดร่วมกัน อนาคตมีแผนขยายจากสีหนุวิลล์ไปถึงฟูก๊วกต่อไป” นางวิยะดากล่าว
กัมพูชา-เวียดนามขานรับ
นายลอง เดมองต์ (Mr.Long Dimanche) รองผู้ว่าราชการจังหวัดสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า 4 จังหวัดชายทะเลของกัมพูชามีความพร้อม โดยเฉพาะจังหวัดสีหนุมีท่าเทียบเรือ 3 แห่ง มีท่าเรือ AUTONOME DE SIHANOUKVILLE เพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ให้บริการสะดวก รวดเร็ว เรือที่เข้ามาต้องได้รับใบอนุญาตขาเข้า (Enter Permit) มีบริษัทชิปปิ้งเอเยนซี่บริการส่งเอกสารด้วย QR Code ผ่านลิงก์
หากส่งเอกสารนักท่องเที่ยวเข้ามาก่อน จะจัดเจ้าหน้าที่ไปให้บริการบนเรือก่อนเทียบท่า รวมทั้งพัฒนาระบบขนส่งทางบก รถไฟ เครื่องบิน เชื่อมกับเมืองอื่น ๆ การประชุมครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้มีนักท่องเที่ยวจากนานาชาติเข้ามาท่องเที่ยวใน CVTEC ต่อไปการค้า การลงทุนจะตามมา
นายเหวียน มิน ลูน (Mr.Nguyen Minh Luan) รองผู้ว่าราชการจังหวัดก่าเมา ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะทำข้อตกลงร่วมมือกันลงทุน การค้าและพัฒนาท่องเที่ยวในเส้นทางนี้ ก่าเมามีประชากร 1.5 ล้านคน มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ก๊วก ฮาเตียน เกียนยาง โดยก่าเมาเป็นอีก 1 แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในเส้นทาง CVTEC อยู่ตอนใต้ของประเทศ ล้อมรอบด้วยทะเล 3 ด้าน มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอันดับต้น ๆ ของโลก อุดมด้วยอาหารซีฟู้ด
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เส้นทางเชื่อมโยงจากสีหนุวิลล์-ตราด (คลองใหญ่-เกาะกูด-เกาะหมาก-เกาะช้าง) เป็นเส้นทางที่มีศักยภาพที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจ มีธรรมชาติที่สวยงาม และสดใหม่มาก ๆ ตรงกับการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนตามเทรนด์ของโลก แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพร้อมของภาคเอกชน
ซึ่งต้องมองถึงจุดคุ้มทุน จึงควรตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ ในอนาคตอาจได้นำเสนอเส้นทางนี้ในงานระดับโลก เช่น ITB ที่เบอร์ลิน ที่ฮ่องกง เชื่อว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจ 3 ประเทศเติบโตขึ้น
จี้รัฐแก้ท่าเรือคลองใหญ่
ด้าน นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าว่า จ.ตราดพร้อมสนับสนุนและผลักดันเพื่อให้เกิดเส้นทางการเดินเรือ เชื่อมโยง 3 ประเทศและอำนวยความสะดวกการข้ามแดน และจากการประชุมจะมีการทดสอบเส้นทาง ตราด-สีหนุวิลล์ และอนาคตจะเชื่อมถึงฟูก๊วก คาดว่าปี 2568 เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม CVTEC จะมีความชัดเจนขึ้น เส้นทางนี้ไม่ใช่มองแค่เพียงจำนวนประชากรที่มีความได้เปรียบ-เสียเปรียบ กัมพูชา 20 ล้านคน เวียดนาม 98 ล้าน
หากแต่ต้องการให้เป็นหุ้นส่วนกันเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวจากประชากรโลก 8,000 ล้านคน ส่วนแบ่ง 5-10% เข้ามาในเส้นทาง CVTEC ให้โตขึ้น ขึ้นอยู่กับศักยภาพการรองรับของแต่ละประเทศ เริ่มต้นทำได้เร็วมากเท่าไร ยิ่งมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
“ทั้งนี้ ได้หารือกับสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคตราด เพื่อศึกษากฎหมายการจดทะเบียนเรือโดยสารเข้า-ออกต่างประเทศให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว และท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด มีภาคเอกชนสนใจยื่นข้อเสนอขอเช่าจากกรมธนารักษ์ 1 ราย” นายณัฐพงษ์กล่าว
ผลการประชุมออกแบบการพัฒนาเส้นทางการเดินเรือทางน้ำ CVTEC ร่วมกันใน 6 ข้อ ดังนี้ 1) ภาคเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเส้นทางตราด-สีหนุวิลล์-ฟูก๊วก ให้เกิดขึ้นจริง 2) ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง 3) บริษัทเดินเรือต้องมีความพร้อม ในการเดินเรือไปต่างประเทศและขับเคลื่อน
4) การตลาดและการประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง 5) ภาคเอกชนต้องมาคุยกันเพราะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่จะรู้ผลกำไร ขาดทุน และ 6) ต้องมีการประชุมต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนแผนระยะสั้น และดึงแผนระยะยาวมาเป็นระยะสั้น
“บุญศิริ-เสือดำโก” จ่อลงทุน
นางสาววิยะดา อมรเพชรกุล ผู้บริหารระดับสูง บริษัท บุญศิริเดินเรือ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อปลายปี 2566 บริษัทเริ่มเดินเรือจากท่าเรือดาราซากอร์ไปเกาะรง ด้วยเรือไฮสปีด คาตามารัน มาตราฐานสูง แต่ยังต้องใช้ทางรถยนต์ด้วย
เนื่องจากสภาพถนนไม่สะดวก ใช้เวลาถึง 2.30 ชั่วโมง จากจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก ไปท่าเรือดาราซากอร์ ต่อไปเกาะรง กัมพูชา ใช้เวลาเพียง 30 นาที หากเดินเรือทางน้ำ จากท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ไปท่าเรือดาราซากอร์ไปเกาะรง จะทำให้สะดวกรวดเร็วขึ้น
“สนใจเส้นทางใหม่ ตราด-สีหนุวิลล์ แต่ต้องรอดูรายละเอียดที่ชัดเจนของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา เพื่อคำนวณจุดคุ้มทุน ทั้งเส้นทางเดินเรือ ท่าเทียบเรือที่ให้ใช้บริการตามจุดต่าง ๆ อัตราค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และค่าบริหารจัดการเข้า-ออก ของนักท่องเที่ยวต่อหัว และการอำนวยความสะดวกในการใช้ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด
รวมทั้งระยะเวลาการเดินทาง ซึ่งต้องชัดเจน เพราะมีความสำคัญในการคำนวณต้นทุน การวางแผนทำตลาด เพราะลูกค้าจะเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเดินเรือกับทางบก เพื่อเลือกราคาถูกและรวดเร็วกว่า แต่เส้นทางนี้จะถึงจุดคุ้มทุนได้ต้องใช้เวลา”
ผู้บริหารบริษัท เลียวพาสด์ ทรานสปอร์เทชั่น จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจบริการและเจ้าของเรือ “เสือดำโก” (Speedboat “Seudamgo”) ที่ให้บริการนักท่องเที่ยวไปเกาะกูด เกาะหมาก จ.ตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มองเห็นศักยภาพของนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่จะเดินทางในเส้นทางเชื่อมโยง 3 ประเทศ มีความสนใจที่จะร่วมทำรูตการเดินเรือจากคลองใหญ่ จ.ตราด-สีหนุวิลล์
รวมทั้งในอนาคตที่จะเชื่อมถึงเกาะฟูก๊วก คาดว่าจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่จะได้รับความนิยมในตลาดโลก เพราะเป็นเส้นทางธรรมชาติสมบูรณ์ มีความสดใหม่ สวยงาม และอยู่ไม่ไกลจาก กทม.มากนัก หากอนาคต CVTEC จะเชื่อมกับพัทยา ชลบุรี
“การทำการตลาดต้องทดสอบเส้นทางและสร้างการรับรู้ การเดินทางที่สะดวก โดยศักยภาพทางเรือบริษัทมีความพร้อมที่จะให้บริการอยู่แล้ว และมีเรือลำใหม่ขนาด 400 ที่นั่ง และขนาด 1,000 ที่นั่ง พร้อมที่จะให้บริการ แต่ทั้งนี้ต้องรอดูความชัดเจนในข้อกฎหมายของการเดินเรือ ข้อกำหนดต่าง ๆ ของทั้ง 3 ประเทศก่อน”