นาใต้ลุยปลูกข้าวเมล็ดสั้น ส่งออกทำอาหารไก่ราคาดี

นาข้าว

ชาวนาภาคใต้ลุยปลูกข้าวเมล็ดสั้น “อาหารไก่” ส่งออกทั้งในและต่างประเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ ราคามั่นคง ข้าวเมล็ดยาววูบวาบ เหลือ 8,700 บาท จาก 10,500 บาท/ตัน สวนทางข้าวพื้นเมืองราคาดี ปัจจัยอินเดียผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ ส่งเสริมการส่งออกไม่มีมาตรการภาษีกำกับ อนาคต “ผวา” ภาคใต้ เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร เหตุทยอยเลิกการทำนาเหลือ 300,000-500,000 ไร่/ปี

นายประจวบ เกตุนิ่ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะการค้าข้าวราคาทยอยลงมาประมาณ 2 เดือน ขณะนี้เหลือมาอยู่ที่ 8,500-8,700 บาท/ตัน จากราคาเดิม ประมาณ 10,500 บาท/ตัน เนื่องจากมีปริมาณข้าวจากภาคอื่นนำเข้ามาขายในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวยอดนิยมของผู้บริโภค มีการนำเข้ามาปริมาณมาก และมีระดับหลายเกรดราคาที่ไม่สูงมากนัก

ส่งผลให้ราคาข้าวของภาคใต้ต้องปรับราคาตามลงมาประมาณ 2 เดือน และคาดว่าภายในปี 2568 ราคาอาจจะผันผวนอีก ดังนั้นในกลุ่มนาแปลงใหญ่ ไม่สนับสนุนปลูกข้าวเมล็ดยาวเพื่อจำหน่าย นอกจากปลูกเพื่อไว้บริโภคเอง แต่จะสนับสนุนให้ปลูกข้าวเมล็ดสั้น กข.81 และ กข.91 เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารไก่

นายประจวบกล่าวอีกว่า อาหารไก่เป็นข้าวเมล็ดสั้นเป็นราคาที่ยั่งยืนไม่ผันผวน ราคาประมาณ 12,000 บาทต่อตัน สำหรับอาหารไก่ยังมีการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ นอกจากส่งให้กับพ่อค้ารายย่อยในภาคใต้แล้ว

ส่วนสถานการณ์การทำนาข้าวนาปีในปี 2567/2568 เริ่มปลูกมาตั้งแต่เดือนกันยายน สำหรับ จ.พัทลุง ปีนี้ข้าวได้ผลสมบูรณ์ดี

นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์โรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาวะราคามีการเปลี่ยนแปลงปรับฐานเฉพาะในส่วนของข้าว กข. ข้าวนุ่ม ชนิด 5% มาเคลื่อนไหวในราคาระดับประมาณ 12,000-12,400 บาท/ตัน จากราคาฐานเดิมประมาณ 14,000-15,000 บาท/ตัน จากปัจจัยผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก คือ ประเทศอินเดีย ได้มีการส่งเสริมการส่งออกเสรี โดยระบบไม่มีภาษีกำกับ จึงส่งผลต่อการค้าทั่วโลก

Advertisment

“แต่ถึงอย่างไรในการปรับฐานราคาลงในระดับนี้ ไม่ได้มีผลกระทบต่อชาวนาไทยแต่อย่างใด เพราะราคาในระดับนี้ถือว่ายังไปได้ แต่ข้าวที่ยังคงมาตรฐานทางด้านคุณภาพและราคา คือ ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ เช่น ข้าวพันธุ์หยด ข้าวเฉี้ยง และข้าวพันธุ์เล็บนก ยังราคาระดับ 14,000-15,000 บาท/ตัน ส่วนที่ต้องการมาก คือ ข้าวเล็บนก และข้าวเฉี้ยง ข้าวในส่วนนี้นอกจากบริโภคแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะขนมจีน เป็นต้น

“แต่ที่น่าเป็นห่วงมาก คือ พื้นที่ทำนาทางภาคได้ทยอยลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมเฉลี่ยประมาณ 10% ยังคงมีการทำนาข้าวทั้งนาปี นาปรัง เหลือประมาณ 300,000-500,000 ไร่/ปี ปัจจุบันมีผลผลิตประมาณกว่า 200,000 ตัน/ปี มูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท/ปี จากพื้นที่ทำนาขนาดใหญ่ของภาคใต้ คือ จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา และ จ.พัทลุง ซึ่งในอดีตเคยมีพื้นที่ปลูกข้าวนับล้านไร่

Advertisment

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่มีการดูแลส่งเสริม อนาคตทางภาคใต้ก็คงจะขาดแคลนข้าว และจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารในภาคใต้ และอาจจะต้องมีการนำเข้าข้าว 100% ซึ่งปัจจุบันภาคใต้ก็มีการนำเข้าประมาณ 70% อยู่แล้ว” นายสุทธิพรกล่าว