
จันทบุรีจัดมหกรรม Big Cleaning Day ทุเรียนภาคตะวันออก ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของทุเรียนไทย ตามมาตรการ 4 ไม่ พร้อมมอบใบประกาศแก่ผู้ผ่านมาตรการป้องกันสารปนเปื้อน Basic Yellow 2 และส่งเสริมสุขอนามัยในอุตสาหกรรมทุเรียน
รายงานข่าวจากจังหวัดจันทบุรี ที่ห้องเย็นเกาฟง ตลาดทุเรียนจันท์ ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี นายรพีภัทร จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยนายธวัชชัย นามสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสมาคมต่าง ๆ
อาทิ สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด สมาคมการค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก สมาคมทุเรียนไทย สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และเกษตรกร ร่วมกิจกรรม มหกรรม Big Cleaning Day ทุเรียนภาคตะวันออก ยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของทุเรียนไทยให้สอดคล้องกับมมาตรการควบคุมคุณภาพเพื่อการส่งออก
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยกิจกรรม Big Cleaning Form Farm, กิจกรรม Big Cleaning Form Packing House, พิธีมอบใบประกาศ Big Cleaning Form Packing House, กิจกรรมปล่อยขบวนรถ Big Cleaning และร่วมกัน Big Cleaning ณ โรงคัดบรรจุเกาฟง และโรงคัดบรรจุรอบบริเวณ ตามมาตรการป้องกันสารปนเปื้อน Basic Yellow 2 หรือ BY2 เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียนส่งออกและเกษตรกร ในการป้องกันการปนเปื้อนสาร BY2 ในทุเรียนผลสดก่อนเปิดฤดูกาลทุเรียนตะวันออก
ทั้งนี้ กิจกรรม Big Cleaning Day แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย Cleaning Day ในสวนทุเรียน เกษตรกรต้อง “ตรวจพร้อมตัด จัดระเบียบสวน กระบวนการผลิตปลอดภัย มั่นใจคุณภาพทุเรียนไทย” 1.ตรวจพร้อมตัด ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ ใบ และผล เข้าตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารแคดเมียม และ Basic Yellow 2 (BY2) 2.จัดระเบียบสวน ตามมาตรฐาน GAP 8 ข้อกำหนด
และ 3.กระบวนการผลิตปลอดภัย งดการใช้สารต้องห้ามที่ประเทศคู่ค้ากำหนด งดพ่นสารที่มีสีผสมมา หรือเนื้อสารที่มีสีเหลืองจัด เพื่อลดปัญหาการเกิดคราบบนผลผลิต และ Cleaning Day ของโรงคัดบรรจุ ทุกโรงคัดบรรจุทุเรียนต้องปฏิบัติการ Big Cleaning ตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนสารตกค้าง Basic Yellow 2 ก่อนเปิดดำเนินการ โดยไม่ใช้สีทุกชนิด ในกระบวนการผลิตทุเรียนสด ห้ามใช้สารห้ามใช้
ในกระบวนการผลิตทุเรียนสด เปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อป้องกันการปนเปื้อนสีย้อม เช่น พาลเลต ภาชนะบรรจุ ตะกร้า กะละมัง มีด ทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น พัดลม และบริเวณผลิตก่อนและหลังการผลิต น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องสะอาด ทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ก่อนการบรรจุทุกครั้ง การสุ่มเก็บตัวอย่าง และการขนส่งไปยังห้องปฏิบัติการต้องสามารถป้องกันการปนเปื้อนข้าม กล่องกระดาษบรรจุตัวอย่าง ต้องปิดช่องให้สนิทเพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามระหว่างตัวอย่าง
ซึ่งผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุภาคตะวันออก ได้เริ่มทำ Big Cleaning มาตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 ดำเนินการแล้ว จำนวน 35 แห่ง
โดยผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุบางส่วนยังไม่เปิดรับซื้อผลผลิต คาดว่าหลังจากนี้จะมีจำนวนโรงคัดบรรจุที่ทำ Big Cleaning มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหลังโรงคัดบรรจุปฏิบัติการ Big Cleaning กรมวิชาการเกษตรจะลงตรวจสอบ ด้วยการ Swop ตรวจเช็กผลการปนเปื้อน และดำเนินการตรวจประเมินตามมาตรการ หากผ่านจะได้รับเอกสารรับรองผ่านการดำเนินมาตรการ Big Cleaning ก่อนเริ่มการผลิตทุเรียนส่งออก
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เน้นย้ำ ให้ร่วมใจ ร่วมมือ Set Zero ยกระดับคุณภาพทุเรียนไทย ตามมาตรการ 4 ไม่ คือ 1.ไม่อ่อน ไม่ตัด ไม่ซื้อ ไม่ขาย ทุเรียนอ่อน 2.ไม่หนอน ปราศจากการทำลายของศัตรูพืช (เพลี้ย หนอน เชื้อรา ฯลฯ) 3.ไม่สวมสิทธิ์ ไม่อ้างใช้ใบรับรอง GAP GMP DOA ของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 4.ไม่มีสี ไม่มีสาร ไม่ใช้สีทุกชนิด ห้ามใช้สารในกระบวนการผลิตทุเรียนสด เพื่อรักษาคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยทุเรียนไทย และสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้า