ส.ป.ก.ยันอ.บ่อไร่ตั้งโรงงานไม้กฤษณาได้แต่ไร้คนขออนุญาต

ธุรกิจน้ำมันกฤษณา จ.ตราดเตรียมเฮ ผังเมืองเร่งถอนโรงงานสกัดน้ำมันกฤษณาออกจากบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง ให้ตั้งโรงงานในพื้นที่สีชมพูได้ คาดคลอดผังใหม่ได้ปีนี้ ด้าน ส.ป.ก.ยันพื้นที่ อ.บ่อไร่ ตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรได้ แต่ไม่มีใครมาขออนุญาต

สืบเนื่องจากผู้ประกอบการน้ำมันกฤษณาที่เป็นสมาชิกของสมาคมสกัดน้ำมันไม้กฤษณาจังหวัดตราดบางส่วนที่มีหม้อต้มกลั่นขนาด 3 หม้อขึ้นไป (เกิน 5 แรงม้า) ไม่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งโรงงาน และขอใบอนุญาต รง.4 ได้ เนื่องจากติดพื้นที่อนุรักษ์สีเขียวพาดขาว และบางส่วนเป็นพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทำให้ต้องขายสินค้าผ่านโรงงานที่มีใบอนุญาต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งหลายหมื่นบาท โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอบ่อไร่มีผู้ประกอบการไม้กฤษณาจดทะเบียนได้ก่อนประกาศผังเมืองรวมจังหวัดปี 2556 ประมาณ 35% อีก 65% ไม่สามารถจดทะเบียนได้ แบ่งเป็น 1) กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยต้มกลั่นไม่เกิน 3 หม้อ (1 หม้อเปรียบเทียบประมาณ 1.8 แรงม้า) ไม่เข้าข่ายโรงงานขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 5 แรงม้า มีเพียง 5% ที่ต้องจดทะเบียน 2) 60% เป็นกลุ่มผู้ประกอบการหม้อต้มกลั่นที่ต้องจดทะเบียน เป็นขนาด 4-10 หม้อ จำนวน 35% และขนาด 10-50 หม้อ จำนวน 25% ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. 5% ผู้ประกอบการต้องขอจดทะเบียน เพราะไม่สามารถระบุที่ตั้งโรงงาน ทางสมาคมจึงเตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ปลดล็อกผังเมือง

นายอดิศักดิ์ อุรเคนทร์ อุตสาหกรรมจังหวัดตราด กล่าวว่า ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตราดได้ผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ ประกอบการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดตราดรูปแบบใหม่ตามบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดตราด พ.ศ. 2556 ปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินชนบทและเกษตรกรรมตามประเภทและชนิดของโรงงาน 7 ประเภท เนื่องจากการกำหนดประเภทหรือชนิดโรงงานที่ห้ามประกอบกิจการไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน แต่ระหว่างนี้ให้ใช้ผังเมืองรวมจังหวัดฉบับเดิมปี 2556 ซึ่งตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ไม่ได้กำหนดขนาดของโรงงาน แต่กำหนดตามจำนวนหม้อต้มกลั่น 3 หม้อขึ้นไปเทียบเท่ากับ 5 แรงม้าหรือคนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไปจะเข้าเกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนในพื้นที่ ส.ป.ก.ให้ดำเนินการขออนุญาตกับ ส.ป.ก.และยื่นเรื่องขอจดทะเบียนโรงงานจากอุตสาหกรรมจังหวัด

นายพฤทธิ์ ประภาสะโนบล ปฏิรูปที่ดินจังหวัดตราด กล่าวว่า พื้นที่ ส.ป.ก.ที่มีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 หากนำมาใช้เพื่อประกอบกิจการโรงงานอันเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมสามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาตเช่าที่ดินได้คราวละ 3 ปีต่อสัญญา โดยต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดตราด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้ขอจดทะเบียนจัดตั้งโรงงานจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ตาม พ.ร.บ.โรงงานและต้องไม่ขัดกับผังเมืองรวมของจังหวัดตราดด้วย ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ประกอบการน้ำมันกฤษณามาขออนุญาตใช้พื้นที่ ส.ป.ก.จัดตั้งโรงงานแม้แต่รายเดียว

แหล่งข่าวระดับสูงสำนักงานโยธาและผังเมืองจังหวัดตราด กล่าวว่าขณะนี้จังหวัดตราดมีผังเมืองรวมที่เข้ามาเกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ 1) ผังเมืองรวมจังหวัดตราด พ.ศ. 2556 ที่ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว) ข้อมูลเขต ส.ป.ก.ยังไม่ชัดเจน แต่สามารถตั้งโรงงานสกัดน้ำมันกฤษณาได้ในพื้นที่สีเขียว 2) ปลายปี 2556-2557 มีการปรับแก้ไขเล็กน้อย ตามมาตรา 26 วรรค 3 โดยปรับพื้นที่ ส.ป.ก.ออกจากป่าไม้ รวมทั้งถอนโรงงานสกัดน้ำมันกฤษณาออกจากบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงให้ใช้ข้อกำหนดและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้ดูแล มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ทำโรงงานสกัดน้ำมันกฤษณาได้ในเขตชุมชน (สีชมพู) ซึ่งกระบวนการแก้ไขนี้อยู่ในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะมีผลใช้บังคับ คาดว่าจะเสร็จในปี 2561 นี้

และ 3) ผังเมืองรวมรูปแบบใหม่ ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำขึ้นใหม่ เป็นผังเมืองที่จัดทำครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่ มีการกำหนดโซนนิ่งชัดเจนต่างจากผังเมืองเดิม ซึ่งผังเมืองรูปแบบใหม่นี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ว่าจ้างบริษัท เมกก้าเทค จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษากำหนดใช้เวลา 2 ปีเดิมกำหนดเสร็จสิ้นปี 2560 แต่ต้องเลื่อนระยะเวลาออกไป เพราะยังอยู่ในระหว่างส่งงานอีก 2 งวด คาดว่าหลังจากนั้นจะนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาตามกระบวนการ 18 ขั้นตอนเพื่อประกาศใช้ผังเมืองน่าจะใช้เวลาต่อจากนี้อีก 2 ปี หลังจากบริษัทที่ปรึกษาส่งงานให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเรียบร้อย

“ตามผังเมืองฉบับปรับปรุงแก้ไขเล็กน้อยปี 2557-2558 จะมีประกาศใช้ประมาณปี 2561 โรงงานสกัดน้ำมันกฤษณา สามารถขอจดทะเบียนจัดตั้งได้ในพื้นที่สีเขียวที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม สีชมพูเขตชุมชนและเขตพื้นที่ ส.ป.ก. แต่ต้องตรวจสอบกับพื้นที่ ในผังเมืองรวมและในเขต ส.ป.ก.ต้องขออนุญาต ส.ป.ก. จากนั้นจึงไปขอจดทะเบียนโรงงานกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ส่วนในผังเมืองรวมรูปแบบใหม่ ทางสมาคมสกัดน้ำมันกฤษณาขอปรับพื้นที่ผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมานั้น ได้ส่งให้บริษัทที่ปรึกษาแล้ว จะต้องดูอีกครั้งว่าเมื่อประกาศผังเมืองรูปแบบใหม่ออกมาแล้วจะปลดออกจากบัญชีท้ายกฎกระทรวงผังเมืองรวมหรืออยู่ในข้อกำหนด

ทั้งนี้ พื้นที่ อ.บ่อไร่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อนุรักษ์เขียวพาดขาว แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสภาพป่า เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. เป็นสีเขียวคาดน้ำตาล แนวการปฏิบัติการใช้พื้นที่ขึ้นอยู่กับกฎหมายของ ส.ป.ก. การปรับแก้ไขผังเมืองนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองมีหน้าที่ประสานรับข้อเสนอของฝ่ายพัฒนา มีการขอปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่และฝ่ายอนุรักษ์ที่ต้องการคงพื้นที่ไว้ การอนุญาตขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา