“แบงก์ชาติ”ชี้ ศก.เหนือไตรมาส 2 ดี ท่องเที่ยวโต รายได้เกษตรกรพุ่ง 90%

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า แบงก์ชาติภาคเหนือเผยเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2 ท่องเที่ยวเติบโตดีต่อเนื่อง 5 ท่าอากาศยานผู้โดยสารทะลุกว่า 3 ล้านคน ชี้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าเชียงใหม่เพิ่มขึ้น 66% ขณะที่ผลผลิตและรายได้เกษตรกรขยายตัวกว่า 90% หวั่นการผลักดันโครงการเมกกะโปรเจ็กต์ไม่เป็นรูปธรรม และภาระหนี้ครัวเรือนจะเป็นความท้าทายเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี

นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยว่า
ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสก่อน ผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมาก ทำให้รายได้เกษตรกรขยายตัว วัตถุดิบภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการจากต่างประเทศที่ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรมในหมวดอาหารและหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวและเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงเล็กน้อย การลงทุนภาคเอกชนในส่วนของการก่อสร้างยังอยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกับไตรมาสก่อน แต่การลงทุนเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกยังดีต่อเนื่อง

สำหรับภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นปัจจัยบวกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคเหนือให้ขยายตัวต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ จากจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่าน 5 ท่าอากาศยานในภาคเหนือ มีจำนวน 3,400,094 คน เพิ่มขึ้นกว่า 12% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีจำนวน 270,820 คน โดยนักท่องเที่ยวชาวจีน ยังเป็นกลุ่มหลักที่ขยายตัว มีสัดส่วนมากถึง 66%

นางนวอร กล่าวว่า ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้เกษตรกร เป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจของภาคเหนืออีกด้านที่ชัดเจน กล่าวคือ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 93.6% ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นมาก ถึง 82.0% ตามผลผลิตอ้อยโรงงานและข้าวนาปรัง เนื่องจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำเอื้ออำนวย โดยผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น 16.7% อ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น 5 เท่า ด้านราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 40.5% และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 112% สำหรับราคาอ้อยโรงงานลดลงตามผลผลิตที่มากขึ้น 15%

นอกจากนี้ ผลผลิตอุตสาหกรรมก็ขยายตัว 9.3% โดยผลผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เพิ่มขึ้น 11.9% อุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้น 54.5% ส่วนผลผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับลดลง
ด้านการบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนหดตัว 1.1% โดยการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทนในหมวดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลชะลอลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากการส่งเสริมการขายของบริษัทผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย และบริษัทเช่าซื้อให้เงื่อนไขที่ผ่อนปรนที่มีต่อเนื่อง ส่วนการใช้จ่ายเพื่อซื้อรถจักรยานยนต์ลดลง 6% เนื่องจากกำลังซื้อฐานรากยังไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะกำลังซื้อจากภาคเกษตรกร แม้ว่าโดยภาพรวมรายได้ของเกษตรกรจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อาจนำเงินไปใช้จ่ายในด้านอื่นแทนการซื้อรถใหม่ เช่นการนำไปชำระหนี้เดิม เป็นต้น

สำหรับการลงทุนภาคเอกชน เป็นที่น่าสังเกตว่าการลงทุนภาคก่อสร้างยังอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับไตรมาสก่อน สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างลดลง 12.7% เนื่องจากอุปทานคงค้างอยู่ ทั้งอาคารแนวราบและห้องชุดยังเหลืออยู่มาก ส่งผลให้โครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่มีน้อย บ้านแนวราบลดลง 2.9% และอาคารชุดลดลง 43.8%

นางนวอร กล่าวต่อว่า ทิศทางของเศรษฐกิจภาคเหนือในระยะต่อไปคือ ไตรมาสที่ 3 และ 4 มีปัจจัยสนับสนุนที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเป็นไปในเชิงบวกคือ เศรษฐกิจโลกที่ดีต่อเนื่อง การท่องเที่ยวและการผลิตเพื่อการส่งออกมีแนวโน้มดี รวมถึงผลผลิตเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ก็มีปัจจัยที่ท้าทาย อาทิ การผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐ หากไม่มีการลงทุนที่เป็นรูปธรรม และภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงและฉุดรั้งการบริโภค ก็อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจภาคเหนือในช่วงระยะสุดท้ายของปีนี้