น้ำท่วมอีสานนาข้าวล่ม 8 แสนไร่ ส่งออก”หอมมะลิ-ทุ่งกุลา” วูบ 20%

มรสุมถล่มอีสาน นาข้าวล่ม 8 แสนไร่ สมาคมผู้ส่งออกกุมขมับ พื้นที่ปลูกหอมมะลิใหญ่ที่สุดของประเทศ-ทุ่งกุลาร้องไห้แล้งซ้ำ ข้าวปี 2560/2561 ต่ำกว่าคาดการณ์ 40-50% ครึ่งปีแรกส่งออกตลาดสำคัญ จีน ฮ่องกง ลดลง 20%

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ข้อมูลของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ล่าสุด (16 ส.ค. 61) ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2561-10 สิงหาคม 2561 เกิดฝนตกหนักและน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับสูงจนหนุนเข้าตามลำห้วยสาขาต่าง ๆ ทำให้จังหวัดหนองคายมีพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 4 อำเภอ 9 ตำบล 30 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 732 ราย พื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วม 2,926 ไร่ พืชอื่น ๆ 70 ไร่ บ่อปลา 12 บ่อ

อีสานเหนืออ่วม 2 แสนไร่

นายเกษม รักสุจริต เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในจังหวัดมีจำนวน 188,885 ไร่

ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า รวมถึงพืชผักริมโขงได้รับความเสียหายอีก 2,500 ไร่ หากบริเวณที่มีน้ำท่วมขังและไม่สามารถระบายได้หลายวัน อาจทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มกว่า 140,000 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ แบ่งเป็นนาข้าว 1,113 บาท/ไร่ พืชไร่ 1,148 บาท/ไร่ พืชสวน 1,690 บาท/ไร่ และหากเกษตรกรทำประกันพืชผลกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะได้รับค่าประกันชดเชยอีก 1,111 บาท/ไร่ด้วย

อีสานกลางท่วมเฉียด 5 แสนไร่

นายทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า น้ำท่วมเกิดจากลำน้ำที่ไหลลงลำน้ำชีมีมาก ส่งผลให้ล้นสปิลเวย์และพนังกั้นน้ำเดิมเสียหาย แตกต่างจากสถานการณ์น้ำท่วมปกติ มีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบประมาณ 44,000 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด แบ่งเป็นข้าวนาปีที่เริ่มปลูกปลายเดือนเมษายน และพื้นที่นาปรังบางส่วนของ อ.เสลภูมิ อีกกว่า 1,000 ไร่ที่กำลังจะเก็บเกี่ยว

นายเอนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า กาฬสินธุ์มีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 1,440,000 ไร่ มีพื้นที่ได้ผลกระทบ 16 อำเภอ นาข้าวได้รับผลกระทบ 476,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียว คาดเสียหาย 39,372 ไร่ และพืชอื่น ๆ ได้รับผลกระทบ 487,399 ไร่ คาดความเสียหายรวม 40,000 ไร่

อีสานใต้คาดเสียหาย 1.2 แสนไร่

นายทวี มาสขาว เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จังหวัดอุบลฯได้รับผลกระทบแล้ว 7 อำเภอบริเวณลำน้ำโขง รวมพื้นที่ประมาณ 33,000 ไร่ แบ่งเป็นกระทบนาข้าวเสียหายประมาณ 30,000 ไร่ ที่เหลือเป็นพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง

นายกังสดาล สวัสดิ์ชัย เกษตรจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า ภาวะน้ำท่วมจากพายุเซินตินมีผลกระทบในเขตลุ่มน้ำต่าง ๆ เช่น ลำน้ำชี ลำน้ำยัง และลำน้ำเซบาย ที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดยโสธร 8 อำเภอ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 110,000 ไร่ แยกเป็นนาข้าว 90% ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ และพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง 10% คาดการณ์ว่าจะเสียหาย 90,000 ไร่

มะลิอีสานอ่วมเจอทั้งท่วม-แล้ง

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ห่วงปัญหาสภาพอากาศในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิปี 2561/2562 เพราะพื้นที่นาภาคอีสานตอนเหนือถูกน้ำท่วมกว่า 800,000 ไร่ หากท่วมขังเกิน 2 สัปดาห์ จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปีได้

โดยโซนนี้จะมีทั้งการปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งคือพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิใหญ่ของประเทศในส่วนของทุ่งกุลาร้องไห้ ไล่ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ ก็ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายเช่นกัน

“โดยปกติในภาคอีสานมีพื้นที่นารวมทั้งหมด 35-36 ล้านไร่ แต่ในปีที่ผ่านมาราคาข้าวหอมมะลิสูงมากเป็นประวัติการณ์ จึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาปลูกมากขึ้นในปีนี้ และยังมีการขยายพื้นที่ปลูกเป็นข้าวหอมจังหวัดไปยังภาคกลาง และภาคเหนือหลายจังหวัด เช่น พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และอ่างทอง”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่องคือการส่งออกข้าวหอมมะลิในช่วงครึ่งปีแรก ตลาดสำคัญ เช่น จีน ฮ่องกง ลดลง 20% เพราะช่วงนี้วัตถุดิบข้าวสารหอมมะลิเพื่อการส่งออกหาซื้อยากและไม่มีในตลาด ทั้งที่ข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลก็ระบายมาหมดแล้ว ข้าวเปลือกจากสต๊อกโครงการชะลอขายในยุ้งฉางก็ระบายออกมาหมด ตัวเลขผลผลิตที่แท้จริงของปี 2560/2561 น่าจะลดลงต่ำกว่าคาดการณ์ 40-50%

“สถานการณ์ราคาข้าวหอมมะลิสูงมากในช่วงต้นปี ส่วนหนึ่งจากอัตราแลกเปลี่ยน ราคาสูงสุดเคยไปถึงตันละ 1,300 เหรียญสหรัฐ ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ราคาจะลงมาอยู่ที่ตันละ 1,100 เหรียญสหรัฐแล้ว แต่ก็ยังสูง ทำให้แข่งขันได้ยาก ไทยต้องเร่งทำการตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง และต้องไม่ตัดราคากันเอง ราคาที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 800-900 เหรียญสหรัฐต่อตัน”