โรงแรมภูเก็ต8พันห้องวิกฤตขาดน้ำ ซื้อน้ำดิบขุมเหมือง-ต่อท่อจากพังงา

โรงแรมภูเก็ต 8,000 ห้องวิกฤต “หาดกะตะ-หาดกะรน-หาดป่าตอง” ขาดน้ำกิน-น้ำใช้มากว่า 2 เดือนแล้ว “ผู้ว่าฯ-กปภ.” นั่งไม่ติด เหตุน้ำในอ่างเหลือน้อยไม่พอผลิตประปา งัดแผนระยะสั้น-ยาว ซื้อแหล่งน้ำดิบขุมเหมืองเอกชน ตั้งสถานีผลิตเพิ่ม 7 จุด ลงทุน 3 พันล้านต่อท่อส่งน้ำ 60 กม.จากพังงาเข้าภูเก็ต

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ และเจ้าของโรงแรมเดอะวิจิตร รีสอร์ทภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมหลายแห่ง น้ำประปาไม่ไหล และไหลอ่อน โรงแรมต้องซื้อน้ำจากเอกชน ทำให้ภาวะต้นทุนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้การจราจรติดขัดมากขึ้น เพราะมีปริมาณรถขนน้ำบนถนนสายต่าง ๆ ทั่วจังหวัด

“ผมเป็นเจ้าของโรงแรมเดอะวิจิตร รีสอร์ทภูเก็ต โรงแรมระดับ 5 ดาว มีรถน้ำใช้เอง ซื้อที่ดินไว้ขุดบ่อน้ำขนน้ำใช้เอง วางแผนจัดการปัญหาขาดแคลนน้ำไว้หลายปีแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกโรงแรมต้องวางแผนแก้ปัญหาเพื่อให้น้ำเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของแต่ละโรงแรม ปัจจุบันมีการซื้อน้ำเพิ่ม มีการสัมปทานบ่อน้ำของเอกชนอยู่แล้ว หากต้องมีบ่อเสริมค่าใช้จ่ายสูงกว่าราคาบ่อหลักถึง 2 เท่า”

ขณะนี้ทางภาครัฐได้เร่งบริหารจัดการขุมเหมืองจำนวน 8 ขุมเหมือง ซื้อน้ำเข้ามาใช้ในการประปาภูมิภาค ขณะที่กรมชลประทานได้แจ้งว่า ยังมีน้ำใช้ถึงเดือนพฤษภาคม 2562

นายก้องศักดิ์กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐวางโครงการระยะยาว ในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยว และปริมาณโรงแรมเติบโตขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ภูเก็ตยังไม่มีโครงการขนาดใหญ่แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำปัจจุบันมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ และมีน้ำจากเขื่อนบางวาดที่ส่งเข้าทำน้ำประปา แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี คาดว่าภายในปี 2575 ต้องการใช้น้ำถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุของอ่างเก็บน้ำไม่เพียงพอ ควรดำเนินการต่อท่อส่งน้ำจากสุราษฎร์ธานี หรือส่งน้ำจากจังหวัดข้างเคียงเพื่อให้มีน้ำประปาใช้ในภูเก็ตได้แบบยั่งยืน

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ต และภาคใต้ ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ถือว่าดีมาก อัตราเข้าพักอยู่ที่ 90% แม้ไม่มากกว่าปีที่แล้ว ส่วนเดือนมีนาคม-เมษายนคาดว่าทรงตัว ถ้าลดลงไม่เกิน 5% อัตราเข้าพักจะอยู่ที่ 70-80% โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่จะมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น

หวั่น รร. 8 พันห้องวิกฤตน้ำ

นายบุญ ยงสกุล ประธานกรรมการ บริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด และบริษัท โบ๊ท แอสเซท แมนเนจเมนท์ จำกัด ในเครือภูเก็ต โบ๊ท ลากูน ผู้ประกอบการธุรกิจมารีน่า โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ จ.ภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้พื้นที่ จ.ภูเก็ต เริ่มเข้าสู่ภาวะแล้งมาตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพราะฝนไม่ตก เทียบกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เช่น บริเวณหาดป่าตอง อ.กะทู้, อ.ถลาง มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้

ขณะที่ปริมาณนักท่องเที่ยวเริ่มมียอดจองเข้ามาเต็มทุกเทศกาลที่ผ่านมาและปริมาณโรงแรมเพิ่มขึ้นมาก จาก 8,000 ห้อง เป็น 9,000 ห้องในปี 2563 เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ หลายหน่วยราชการเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลายแห่งต้องซื้อน้ำจากแหล่งน้ำของเอกชนไปให้บริการประชาชน ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีความพยายามให้ กปภ.เดินท่อส่งน้ำใหญ่เพื่อดึงน้ำจาก จ.พังงาเข้ามาใช้ คาดว่าจะใช้การได้ในหน้าแล้งปี 2563

กปภ.วางท่อดึงน้ำพังงามาใช้

แหล่งข่าวจากการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ภูเก็ตเกิดวิกฤตภัยแล้งค่อนข้างมากตั้งแต่ช่วงต้นปี เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำคลองบางเหนียวดำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบมีปริมาณน้อย คาดว่าจะไม่เพียงพอจะมาผลิตน้ำประปาได้ ดังนั้นทาง กปภ.จำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือ ด้วยแผนระยะสั้นเร่งซื้อน้ำดิบจากเอกชน และขุมเหมืองต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

ส่วนแผนระยะกลาง ได้เตรียมแผนสำรองไว้ 2 ส่วน คือ จะตั้งสถานีผลิตน้ำของเอกชนเพิ่มขึ้นอีก 7 จุด เพื่อมาเสริมกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ หากภาวะแล้งฝนทิ้งช่วงยาวไปถึงเดือนมิถุนายน ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนที่จะนำแหล่งน้ำใน จ.พังงา เข้ามาผลิต และต้องการซื้อน้ำดิบเพิ่มจากบริษัทเอกชนอีก 7 ราย ที่วางท่อจากจ.พังงา เข้ามาเสริม เนื่องจากแผนการตั้งสถานีผลิตน้ำ 7 แห่ง ต้องใช้เวลาการจัดซื้อจัดจ้างและระยะเวลาก่อสร้างจะแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะไม่ทันรองรับภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น

ทุ่ม 3 พันล้านต่อท่อ 60 กม.

ส่วนแผนระยะยาวได้เตรียมโครงการวางท่อส่งน้ำ ระยะทาง 60 กม. มูลค่า 3,000 ล้านบาท เพื่อจะดึงน้ำจากคลองพังงา อ.เมือง จ.พังงา เข้ามาที่สถานีเก็บน้ำบริเวณสะพานสารสิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างประสานงานเรื่องที่ดินกับประชาชนที่ท่อจะพาดผ่าน และอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับการก่อสร้างจะแบ่งเป็น 2 เฟส คาดว่าปริมาณน้ำที่ได้จะเพียงพอใช้ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ประมาณ 10-20 ปี โดยมีตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำ ปี 2570 ประมาณ 78 ล้าน ลบ.ม. และปี 2580 เพิ่มเป็น 101 ล้าน ลบ.ม. แต่ตามโครงการจะเริ่มก่อสร้างโครงการโดยใช้งบประมาณปี 2565

เตรียมแก้แล้งรับนักท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ ภูเก็ตมีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 17 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น แต่หลายปีที่ผ่านมา กปภ.ภูเก็ตไม่มีแหล่งน้ำดิบมาผลิตน้ำประปาให้บริการได้เพียงพอกับความต้องการใช้ ปี 2560 ความต้องการน้ำประมาณ 61 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี แต่ กปภ.ภูเก็ตผลิตน้ำได้ประมาณ 48,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีเท่านั้น

ดังนั้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ซื้อน้ำจาก 2 บริษัท คือ บริษัท REQ จำกัด ซึ่งนำน้ำมาจาก 2 แหล่ง คือ 1) น้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำ RO ประมาณ 12,000 ลบ.ม./วัน ราคา 50 บาท/คิว ราคาซื้อน้ำที่ กปภ.ต้องรับภาระประมาณ 120 ล้านบาทต่อปีเพื่อเสริมให้กับแหล่งท่องเที่ยวหาดกะตะหาดกะรน และหาดป่าตอง 2) จากแหล่งน้ำผิวดิน 16,000 ลบ.ม./วัน ราคา 14 บาทต่อคิว เพื่อเสริมให้กับแหล่งท่องเที่ยวบริเวณหาดป่าตอง อ.กะทู้ และ ต.ฉลอง รวมถึงการซื้อน้ำจากบริษัท อัลฟาโฟร์ จำกัด ซึ่งนำน้ำจากขุมเหมืองเจ้าฟ้ามาผลิตน้ำอีกประมาณ 3,000 คิว/วัน ทำให้ กปภ.ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการซื้อน้ำดิบค่อนข้างมากมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว

คลิกอ่าน >>> แล้งยาวทุบเกษตร-ส่งออก รากหญ้าอ่วมเขื่อนยักษ์วิกฤต!

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!