แล้งยาวทุบเกษตร-ส่งออก รากหญ้าอ่วมเขื่อนยักษ์วิกฤต!

แฟ้มภาพ
เขื่อนอุบลรัตน์-สิรินธร-จุฬาภรณ์วิกฤตหนัก เหลือน้ำใช้แค่ 5-8% กรมอุตุฯเตือนปีนี้ฤดูร้อน-แล้งมาเร็วและนานกว่าทุกปี อุณหภูมิจะพุ่งอีก 1-2 องศา ขอนแก่นหนักสุด น้ำเหลือน้อยมาก สภาอุตสาหกรรมหารือด่วนกระทรวงพาณิชย์ “ข้าว-มัน-น้ำตาล” ผลผลิตลดหวั่นกระทบเป้าส่งออก 1.6 หมื่นล้านเหรียญ เกษตรฯสั่งงดทำนาปรังรอบ 3

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทยปี 2562 จะเริ่มในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ไปจนกระทั่งถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 โดยฤดูร้อนปีนี้จะร้อนมากกว่าปี 2561 และร้อนมากกว่าปกติอีก 1-2 องศาเซลเซียส โดยฤดูร้อนจะมาเร็วและนานมากกว่าทุกปี ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เขื่อนอีสานวิกฤต

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้จัดประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเมื่อเร็ว ๆ นี้และได้มีการรายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (เขื่อน) ทั่วประเทศขณะนี้ อยู่ที่ 48,280 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 24,738 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52) เทียบกับปี 2561 (52,142 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74) หรือน้อยกว่าปี 2561 จํานวน 3,862 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจํานวน 14.96 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจํานวน 118.64 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 22,646 ล้าน ลบ.มสภาพน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะมีผลต่อพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครปรากฏมีปริมาตรน้ำในเขื่อนรวมกัน 14,751 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุ ปริมาตรน้ำใช้การได้อยู่ที่ 8,055 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุ เขื่อนที่มีปริมาณน้ำ “ต่ำกว่า” เกณฑ์ปกติ (LRC) 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์-เขื่อนสิรินธร และเขื่อนจุฬาภรณ์ที่มีสถานการณ์น้ำน่าเป็นห่วงมากและจะเข้าสู่วิกฤตในเดือนเมษายน หากยังไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนอีก

โดยเขื่อนจุฬาภรณ์มีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่เพียง 53 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32 ของความจุน้ำใช้การ เขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำใช้การได้ 112 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5 และเขื่อนสิรินธรเหลือน้ำใช้การได้ 150 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 8 เท่านั้น ที่สำคัญก็คือน้ำไหลเข้าเขื่อนทั้ง 3 แห่งคิดเป็นร้อยละ 0 หรือไม่มีน้ำไหลเข้าเลย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้งเต็มที่ในเดือนเมษายนนี้

แล้งลากยาวถึงพฤษภาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานชลประทานที่ 7 ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประเมินน้ำต้นทุนของเขื่อนสิรินธร (ปริมาตรน้ำปัจจุบันอยู่ที่ 997 ล้าน ลบ.ม.) โดยทางกรมชลประทานได้ขอสนับสนุนน้ำจากเขื่อนไป 200 ล้าน ลบ.ม. เพื่อจัดส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร อ.พิบูลมังสาหาร 90,000 ไร่ ประกอบกับ กฟผ.มีปัญหาเรื่องระบบสายส่งจำเป็นต้องใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลงและให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน

ส่วนแผนการรับมือภัยแล้งเบื้องต้นกรณีที่ฤดูแล้งอาจจะยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม 2562 มีความจำเป็นต้องเก็บน้ำในแม่น้ำมูลไว้ที่ระดับประมาณ 107.50 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง-รทก.) ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำก้อนสุดท้ายที่ต้องเก็บไว้เพื่อให้พ้นฤดูแล้ง หากเทียบกับทุกปีที่ผ่านมาระดับน้ำที่เก็บไว้จะอยู่ที่ระดับ 106.5-106.7 เมตร (รทก.) เท่านั้น โดยการเก็บน้ำที่ระดับ 107.50 เมตรดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับแหล่งท่องเที่ยวบริเวณแก่งสะพือ-หาดคูเดือย และจะไม่มีการระบายน้ำเพื่อเล่นสงกรานต์ด้วย

หน่วยนาคราชมาแล้ว

นางสาวจงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นว่า ได้มีการจัด “หน่วยนาคราช (หน่วยซ่อมบำรุงรักษา)” ทั้งหมด 37 ชุด และได้เตรียมจุดจ่ายน้ำถาวรอีก 83 แห่งทั่วประเทศ รถปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 ชุด รถเจาะบ่อบาดาล 85 ชุด และสร้างระบบขอความช่วยเหลือภัยแล้งออนไลน์ ในขณะที่การใช้น้ำบาดาลในประเทศอยู่ที่ 14,741 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยพบว่าภาคกลางมีการใช้น้ำมากที่สุด

ขณะที่นายธงชัย ระยะกุญชร ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ผู้ว่าการ กปภ.ได้มอบหมายให้ผู้จัดการสาขา กปภ.ในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยแล้งเร่งสำรองน้ำ โดยประสานกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดในทุกสัปดาห์ หากคาดว่า “น้ำดิบ” ไม่พอให้หาแหล่งน้ำสำรอง “ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนในภาคอีสานซึ่งยังไม่วิกฤต” แต่ในจังหวัดขอนแก่นเห็นได้ชัดว่าจะต้องสำรองน้ำและเฝ้าระวังมากที่สุดเพราะ เป็นเมืองเศรษฐกิจมีการใช้น้ำในปริมาณมาก ส่วนภาคตะวันออกและภาคเหนือตอนล่างยังอยู่ในช่วงที่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำ “ตอนนี้เรายังไม่มีการลดแรงดันน้ำ ถ้าฝนยังไม่ตกอย่างแรกคือหาแหล่งน้ำสำรอง หากไม่ได้ก็ต้องลดแรงดันน้ำ-ลดกำลังผลิตเพื่อให้มีน้ำใช้ไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม ถ้ายังไม่พออีกก็ต้องใช้วิธีผันน้ำจ่ายเป็นโซน แต่จากการประชุมกับกรมชลประทานมั่นใจว่าสามารถผันน้ำให้เพียงพอได้”

ขอนแก่นหนักสุด

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด กล่าวว่า จังหวัดได้รณรงค์รับมือภัยแล้งมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ด้วยการให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยและข้าวโพดหลังฤดูกาลทำนา ทำฝายเก็บกักน้ำ ในขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ก็มีปริมาณน้ำเหลือน้อยมาก (น้ำใช้การได้ 112 ล้าน ลบ.ม.หรือ 5% ของความจุอ่าง) ทางจังหวัดได้ยื่นเรื่องขอทำฝนเทียมจากกองบินฝนหลวงในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนทางจังหวัดมหาสารคามก็ได้ขอให้ปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ไปตามลำน้ำชีเพื่อบรรเทาภัยแล้งในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ผลการสรุปในที่ประชุมยังไม่สามารถทำได้เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อไปในอนาคตได้

“ตอนนี้ต้องกันน้ำไว้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนให้เดือดร้อนน้อยที่สุด”

นายสุเทพ รื่นถวิล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ผู้ว่าโคราชได้มอบนโยบายไว้ว่า “โคราชต้องไม่ขาดแคลนน้ำ”

ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามี 32 อำเภอ พบว่ามี 13 อำเภอ 37 ตำบล 101 หมู่บ้าน มีหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำบริโภค 400 กว่าตำบล 3,000 กว่าหมู่บ้าน “ถือว่ายังน้อย” หรือประมาณ 10% ของพื้นที่ทั้งหมด ขณะนี้ได้ทำการแก้ไขไปแล้ว 7 อำเภอ 24 ตำบล 50 หมู่บ้าน นอกนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขและมอบหมายให้เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ แต่ละพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ห้ามไม่ให้มีการปลูกข้าวนาปรังและหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย

“สถานการณ์ในโคราชไม่น่าเป็นห่วง คาดว่าจะมีผลกระทบไม่มาก แต่ต้องดูสถานการณ์เดือนต่อเดือน”

นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงคือโซนใต้ ได้แก่ อำเภอแม่วาง, จอมทอง, ฮอด, ดอยหล่อ, สะเมิง, แม่แจ่ม และดอยเต่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บนภูเขาที่ต้องอาศัยน้ำฝนและพื้นที่เชิงเขาที่ระบบชลประทานเข้าไปไม่ถึง ด้านนายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ได้มีการเตรียมพื้นที่สำหรับเก็บกักน้ำไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอนครไทย, บางระกำ, วัดโบสถ์ และพรหมพิราม มีการจัดสรรรอบเวรแบ่งจ่ายน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเพื่อใช้ทำการเกษตร ตอนนี้พบอำเภอที่ประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว 3 อำเภอ ได้แก่ นครไทย, ชาติตระการ และพื้นที่ ต.ทับยายเชียง ต.ดงประคำ อ.พรหมพิราม

“ขณะนี้มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายไปแล้ว 3,500-4,000 ไร่”

ข้าว-มัน-น้ำตาล-ผักผลไม้กระทบ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการประชุมประเมินสถานการณ์ส่งออกในกลุ่มประชารัฐ D4 ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการหารือถึงผลกระทบภัยแล้งจากภาวะเอลนิโญ ว่าอาจส่งผลกระทบให้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในช่วงครึ่งปีหลังของการส่งออกปีนี้โดยเฉพาะข้าว, มันสำปะหลัง, น้ำตาล, ผักและผลไม้ “อาจจะมีปริมาณลดลง” และหากผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงก็จะทำให้ภาพรวมการส่งออกในปี 2562 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ (ขยายตัว 5%) โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรและอาหารซึ่งคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5% ก็อาจจะต้องมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้

“ในที่ประชุมมีการพูดถึงกลุ่มข้าวน่าห่วงมากที่สุดเพราะไม่เพียงแต่แล้งจนต้องเลิกปลูกข้าวนาปรังแล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากข้าวพันธุ์ใหม่ และเงินบาทที่แข็งค่าทำให้เสียเปรียบ ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลก็ให้ความเห็นว่า การส่งออกน้ำตาลปีนี้อาจจะเติบโตลดลงถึง 7% เพราะต้องแข่งขันรุนแรง โดยสินค้ากลุ่มหลัก ๆ เหล่านี้คิดเป็นมูลค่าส่งออกถึง 16,592 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากรวมอุตสาหกรรมอาหารก็จะมีมูลค่าการส่งออกรวม 21,339 ล้านเหรียญ เราคงต้องมาดูผลผลิตและทบทวนกันอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้”

โดยขอให้รัฐบาลบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันก็ต้องหาแผนสำรองโดยการอาศัยจังหวะที่ประเทศไทยเป็นประธานประชุมอาเซียนในปีนี้สร้างความร่วมมือจับคู่พันธมิตรในอาเซียนเพื่อเชื่อมโยงวัตถุดิบและพยายามสร้างมาตรฐานสินค้าขึ้นมาใช้ร่วมกันให้ได้

ห้ามปลูกข้าวนาปรังรอบ 3

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้ขอความร่วมมือไม่ให้ชาวนาปลูกข้าวนาปรังรอบ 3 แล้ว ซึ่งโดยปกติจะเริ่มปลูกในเดือนเมษายน-มิถุนายน โดยแจ้งว่า กรมชลประทานจะไม่ปล่อยน้ำ ตอนนี้ชาวนาส่วนใหญ่กำลังอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบ 2 ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน “ยังไม่ได้เริ่มปลูกรอบที่ 3” สำหรับปริมาณผลผลิตนาปรังรอบ 3 มีสัดส่วนไม่มากนัก หากเทียบกับนาปีที่มีปริมาณข้าวเปลือก 24 ล้านตัน ขณะที่นาปรังรอบ 2 จะมีปริมาณ 8 ล้านตัน ดังนั้นการลดปริมาณการปลูกนาปรังรอบ 3 จึงไม่น่าจะมีผลต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศมากนัก

รายงานข่าวจากกลุ่มโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือระบุว่า การสั่งให้ชาวนาหยุดทำนาปรังจะมีผลทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังในอีสานภาพรวมลดลงประมาณ 40-50% ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด แต่ด้วยเหตุที่ภาคอีสานส่วนใหญ่จะเน้นการทำข้าวนาปีเป็นหลัก จึงมองว่ากระทบไม่มากนัก และจะมีบางจังหวัดที่ยังสามารถปลูกข้าวได้ แต่เฉพาะจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับเขื่อนอุบลรัตน์จะได้รับผลกระทบสูงสุดเพราะ ภาพรวมน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคเหลือเพียง 5% เท่านั้น ถือว่า “แล้งมาเร็วมากจนน่าจะต้องมีการดึงน้ำส่วนที่สำรองไว้เพื่อความมั่นคงของเขื่อนมาใช้ทำประปาด้วย”

ดังนั้นการปลูกข้าวนาปรังในจังหวัดขอนแก่นอาจเสียหายประมาณ 60-70% จากที่เคยปลูกได้หลัก 100,000 ตัน ส่วนจังหวัดใกล้เคียงอย่างกาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม ยังสามารถใช้น้ำจากเขื่อนลำปาวได้ ด้านพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดนครราชสีมาก็เริ่มจะได้รับผลกระทบแล้วจากการไม่ปล่อยน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิง

“ข้าวนาปรังที่ปลูกในภาคอีสานส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเหนียวและข้าวขาว โดยราคาข้าวเปลือกข้าวสารเหนียวนาปรังสูงขึ้นเป็น กก.ละ 11-12 บาท หรือสูงกว่าข้าวเจ้า กก.ละ 7 บาท ส่วนราคาข้าวสารเหนียวเฉลี่ย กก.ละ 23-24บาท โดยข้าวเหนียวส่วนใหญ่บริโภคในประเทศเป็นหลัก ส่วนที่ส่งออกก็มีส่งออกไปจีนเป็นตลาดหลัก ราคาส่งออกปรับสูงขึ้นจาก 720-750 เหรียญสหรัฐเป็น 820-850 เหรียญต่อตัน เมื่อราคาดีขึ้นอาจจะจูงใจให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวเหนียวมากขึ้นในฤดูต่อไป”

คลิกอ่าน >>> โรงแรมภูเก็ต8พันห้องวิกฤตขาดน้ำ ซื้อน้ำดิบขุมเหมือง-ต่อท่อจากพังงา

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!