ธัญญานุภาพ อานันทนะ แม่ทัพ STeP มือปั้น Startup ดัน ศก.ภาคเหนือโต 2.4 หมื่นล้าน

สัมภาษณ์

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park) อาคารรูปทรงรีเมล็ดข้าวมูลค่า 500 ล้านบาท บนเนื้อที่ 22 ไร่ ภายในพื้นที่การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดบริการตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 เป็นสะพานเชื่อมองค์ความรู้งานวิจัยจากภาคมหาวิทยาลัยสู่ผู้ประกอบการ SMEs และ startup เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเกิด tech startup มากถึง 700 ธุรกิจ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจภาคเหนือได้กว่า 24,000 ล้านบาท “ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ” ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ”

เชื่อมงานวิจัยสู่ธุรกิจหมื่นล.

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพกล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เป็นหน่วยงานในส่วนงานวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีพันธกิจหลักในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างองค์ความรู้และอาจารย์นักวิจัยจากภาคมหาวิทยาลัยสู่ภาคอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า University Industry Linkage : UIL เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มศักยภาพต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีเริ่มต้น (tech startups) บนพื้นฐานของการบูรณาการทรัพยากรของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ เป็นแม่ข่ายดำเนินงานร่วมกับอีก 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างและพัฒนาธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการให้บริการนวัตกรรมครบวงจรแบบ total innovation solutions พร้อมให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับภูมิภาคที่ครบครันแห่งแรกของประเทศ

ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2556 ก่อนอุทยานวิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้นได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาใช้บริการกว่า 700 บริษัท และสร้างผู้ประกอบการ startup กว่า 140 บริษัท โดย 40 บริษัทเป็นสัดส่วน startup ในจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท

ตลอดช่วง 8 เดือนหลังเปิดให้บริการได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชนกว่า 45,100 คน เข้ามาศึกษาดูงานในฐานะองค์กรต้นแบบด้านการพัฒนานวัตกรรม สามารถผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนผ่านบริการต่าง ๆ ก่อให้เกิดการจ้างงานเพื่อสนับสนุนการทำวิจัยพัฒนา 108 อัตรา สร้างมูลค่าการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนกว่า 120 ล้านบาท และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 328 ล้านบาท

“เราคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2567) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือจะสามารถผลักดันให้เกิดการจ้างงานระดับบัณฑิตศึกษาสู่ภาคอุตสาหกรรมกว่า 5,640 อัตรา เกิดการจ้างงานสำหรับนักวิจัยในภาคมหาวิทยาลัย 1,636 อัตรา สร้าง tech startup ที่มีความเชี่ยวชาญได้ถึง 700 ธุรกิจ เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเพื่อการทำ R&D กว่า 546 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 24,240 ล้านบาท

ปั้น Startup ปีละ 100 ราย

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพกล่าวต่อว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือสนับสนุนให้เกิดการสร้างและพัฒนาธุรกิจแก่ภาคเอกชน 6 ด้าน ได้แก่ 1.การให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยให้บริการห้องปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบ ทั้งทดสอบ สอบเทียบ วิเคราะห์ และด้านอื่น ๆ ที่ภาคเอกชนต้องการ 2.การให้บริการด้วยโปรแกรมการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี พร้อมให้คำปรึกษาตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจไปจนถึงการนำธุรกิจออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ 3.การให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดการใช้งานได้จริงในภาคธุรกิจ 4.การจับคู่ทางธุรกิจและแนะนำแหล่งทุนที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดการลงทุนของภาคเอกชน 5.การให้บริการพื้นที่สำนักงานและห้องประชุมหลากหลายขนาดที่เหมาะกับทุกธุรกิจ และ 6.การให้บริการด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่ช่วยเติมเต็มสภาพแวดล้อมนวัตกรรม (innovation eco-system) ตอบสนองไลฟ์สไตล์การทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

“ที่ผ่านมาเราสร้าง startup ปีละ 30 ราย ประสบความสำเร็จเป็นผู้ประกอบการได้ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 15 บริษัท แต่เมื่อมีอาคารและเครื่องไม้เครื่องมือที่มีความพร้อมในปัจจุบัน ภายในปี 2562 เราตั้งเป้าสร้าง startup 100 ราย ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าจะประสบผลสำเร็จเป็นผู้ประกอบการได้ 25 ราย หรือ 1 ใน 4”

โดยความน่าสนใจของ startup ที่ผ่านการบ่มเพาะจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ คือ โดดเด่นและมีจุดขายสำคัญเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาทางการตลาดได้ตรงจุด เช่น ผลงานของ 2 สตาร์ตอัพ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สร้างชื่อจากการใช้เทคโนโลยีสร้างระบบบริหารงานหอพัก อพาร์ตเมนต์ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ HORGANICE ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของหอพักและผู้เช่าได้อย่างครอบคลุม ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 3,000 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะนี้มีนักลงทุน (investor) สนใจมาร่วมลงทุนด้วยหลายราย และสตาร์ตอัพอีกราย คือ plastech เป็นผู้สร้างนวัตกรรมเครื่องต้นแบบ Micro PAW System ด้วยการนำเทคโนโลยีพลาสม่าช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุค 4.0 ซึ่งเป็นการนำผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาต่อยอดสู่ธุรกิจ startup

ขยายเฟส 2 เชื่อม EEC

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพกล่าวว่า ครม.สัญจรที่จังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 14-15 มกราคม 2562 มีมติให้ดำเนินโครงการส่วนต่อขยายอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอนุมัติงบประมาณ 385 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างในปี 2563 บนเนื้อที่ราว 7 ไร่ติดกับอาคารเดิมเพื่อเร่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม และตั้งเป้าสนับสนุนและเชื่อมโยงเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) รองรับการขยายตัวของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม และรองรับโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และนำไปสู่ย่านนวัตกรรม (innovation district) ในพื้นที่ โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก คือ การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมไอทีซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ เทคโนโลยีพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมวัสดุ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าเมื่ออาคารโครงการนี้เกิดขึ้นภายใน 3 ปี เฉพาะอาคารส่วนขยายแห่งนี้จะสามารถสร้างสตาร์ตอัพที่ใช้นวัตกรรมและเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมได้ราว 155 ราย เกิดมูลค่าเศรษฐกิจราว 3,800 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ startup จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคเหนือที่จะดันมูลค่าเศรษฐกิจแตะ 24,000 ล้านบาท ด้วยแรงผลักสำคัญของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park)

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!