“นครชัยแอร์” ทุ่ม 200 ล้านปรับแผนธุรกิจ

ปรับแผน - นางเครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด นครชัยแอร์ได้ปรับแผนธุรกิจหลายด้าน เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่ภาพรวมผู้ประกอบการรถโดยสารทั่วประเทศมีรายได้ลดลง 10%

“นครชัยแอร์” ปรับแผนธุรกิจ ทุ่ม 200 ล้านซื้อรถโดยสารใหม่เพิ่ม 40 คัน เดินหน้าเปิดเส้นทางเดินรถเมืองรองใหม่ “กรุงเทพฯ-อ.สนม จ.สุรินทร์” และอีก 2 เส้นทางในภาคอีสาน พร้อมจับมือพันธมิตรกลุ่มโรงแรม-ททท.จัดแพ็กเกจทัวร์ “สมบัติเมืองกรุง” ดึงคนต่างจังหวัดเที่ยว กทม. เปิดทริปแรกต้นเดือนมิถุนายนนี้ ตั้งเป้าปี 2562 โต 5% จากผลประกอบการปี 2561 อยู่ที่ 1,700 ล้านบาท

นางเครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2562 นครชัยแอร์ตั้งเป้ารายได้เติบโต 5% จากยอดผู้โดยสารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5% ทั้งนี้ บริษัทได้มีการปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 8% หรือคิดเฉลี่ยประมาณ 30-40 บาทตามนโยบายของรัฐ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2562 นอกจากนี้ นครชัยแอร์ยังได้สั่งซื้อรถใหม่เข้ามาให้บริการเพิ่มจำนวน 40 คัน รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท เป็นรถโดยสารขนาด 32 ที่นั่ง คาดว่าจะทยอยออกมาให้บริการได้ภายในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ประมาณเดือนละ 4 คัน และจะส่งรถเข้ามาครบภายในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อมาทดแทนรถโดยสารที่วิ่งให้บริการในปัจจุบัน ซึ่งมีอายุครบ 15 ปี ที่รอปลดระวางและกระจายตัวอยู่หลายเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางหลัก เช่น บุรีรัมย์ เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น

“การปรับราคาค่าโดยสารขึ้นน่าจะทำให้ผู้ประกอบการหายใจได้สะดวก เพราะค่าใช้จ่ายหลายอย่างปรับตัวสูงขึ้นมาก ทั้งค่าแรงงาน ค่าอาหาร แต่ทุกครั้งที่มีการปรับค่าโดยสารขึ้นรายได้จะลดลงในระยะแรก อาจจะทำให้รายได้ชะงักลงเล็กน้อย แต่ในที่สุดลูกค้าจะกลับมาใช้บริการเพราะดีกว่าการใช้รถส่วนตัวหรือเดินทางด้วยวิธีอื่น เพราะราคาเครื่องบินปรับราคาขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนเราอยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่นของลูกค้า ทั้งรถที่ให้บริการมีคุณภาพและมีการบริการที่ดี”

นอกจากนี้ นครชัยแอร์ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร กลุ่มโรงแรม ที่พัก รถเช่า รวมไปถึงจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยกรมการท่องเที่ยวตั้งเป้าจะดึงผู้โดยสารจากต่างจังหวัดเข้ามาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯให้มากขึ้น โดยจัดเป็นแพ็กเกจทัวร์ เริ่มต้น 2 เส้นทาง ในชื่อ “สมบัติเมืองกรุง” (TREASRU BANGKOK) ได้แก่ เส้นทางที่ 1 (1 Day Trip) คือเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จุดที่ 1.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ประกอบไปด้วย พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จุดที่ 2.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร จุดที่ 3.มิวเซียมสยาม (Museum Siam)

และเส้นทางที่ 2 (1 Day Trip) เป็นโปรแกรมท่องเที่ยว TREASURE BANGKOK สมบัติเมืองกรุงไปยัง 1.วัดอรุณฯ 2.พระราชวังเดิม สมัยกรุงธนบุรี 3.walking tour ย่านชุมชนสุดคลาสสิกที่ชุมชนกะดีจีนหรือกุฎีจีน ได้แก่ ศาลเจ้าเกียนอันเกง วัดซางตาครู้ส พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน วัดกัลยาณมิตร 6.วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และ 7.ICONSIAM, เยาวราช โดยบริษัท เอ็น ซี เอ โปรเฟสชันแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวอย่างถูกต้อง จะนำรถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส 16 ที่นั่ง) มาให้บริการ กำหนดเดินทางทริปแรกต้นเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งนี้ ปี 2561 นครชัยแอร์มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,700 ล้านบาท ด้วยจำนวนผู้โดยสาร 4.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 2% ซึ่งรายได้ส่วนนี้มาจากการเปิดเส้นทางใหม่ ได้แก่ กรุงเทพฯ-ยโสธร, อำนาจเจริญ และกรุงเทพฯ-เขมราฐ หรืออยู่ในเส้นทางเมืองรอง ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม อุตรดิตถ์ ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยเติบโตขึ้นกว่า 10% เป็นผลมาจากนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล ขณะเดียวกัน เส้นทางหลักอย่างเชียงใหม่ เชียงราย รอบเดินทางกลับลดลง และสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง โดยเส้นทางสายเหนือจะคึกคักในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เท่านั้น

ปัจจุบันนครชัยแอร์มีรถโดยสารที่วิ่งให้บริการทั้งสิ้น 362 คัน จากเส้นทางทั้งหมด 39 เส้นทาง ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยจะเปิดเส้นทางใหม่ล่าสุด คือ กรุงเทพฯ-อ.สนม จ.สุรินทร์ ไป-กลับรวม 6 เที่ยวรถ ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 และได้วางโครงข่ายไปยังจังหวัดอื่นอีกเพื่อเชื่อมเมืองหลักและเมืองรองต่อไป

นางเครือวัลย์กล่าวต่อไปว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้รายงานภาพรวมข้อมูลการเดินรถโดยสารทั่วประเทศว่า มีรายได้ลดลงมากกว่า 10% ขาดทุนมานานกว่า 2-3 ปี เพราะเที่ยวรถของหลายบริษัทลดลงตามจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางโดยใช้บริการรถโดยสารน้อยลงตามไปด้วย