อบต.ไม้รูดร้องแก้ผังเมือง SEZ ตราด ขอสิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินเท่าพร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค

ขึ้นป้าย - เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ผู้เช่าพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด โดยเสนอโครงการ "GOLDEN GATEWAY" มูลค่า3,000 ล้านบาท ได้ขึ้นป้ายโครงการติดไว้บริเวณด้านหน้าโครงการ หลังจากผ่านไปกว่า 2 ปียังไม่เห็นภาพการลงทุนใด ๆ เกิดขึ้น

ชาวบ้านตำบลไม้รูด จ.ตราด ยื่นกรมโยธาธิการและผังเมือง ร้องขอสิทธิประโยชน์การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ท้องถิ่น อบต.ไม้รูด เช่นเดียวกับที่ให้ “บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” เช่าพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด 895 ไร่ “นายก อบต.ไม้รูด” เผย 2 ปีบริษัทไม่มีการเคลื่อนไหว ชาวบ้านไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาท้องถิ่นในทุกด้าน ชาวบ้านลุยพัฒนาเอง

หลังจาก คสช.ประกาศเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ตั้ง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด” (Trat Special Economic Development Zone) พื้นที่ของ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ทั้งหมด 3 ตำบล คือ ต.ไม้รูด ต.คลองใหญ่ ต.หาดเล็ก รวมพื้นที่ 50.2 ตารางกิโลเมตร หรือ 31,375 ไร่ และประกาศ คสช. 17/2558 เพิกถอนที่ดินของรัฐในตำบลไม้รูดจำนวน 895-0-44 ไร่ ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยให้กรมธนารักษ์จัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เอกชนประมูลเช่า และบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ยื่นซองเพียงรายเดียว เป็นคู่สัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559 โดยนำเสนอโครงการ “GOLDEN GATEWAY” ศูนย์กลางการท่องเที่ยวนานาชาติ เมืองอาหารปลอดภัย และเมืองบริการการค้าระหว่างประเทศครบวงจร มูลค่าลงทุนจำนวน 3,000 ล้านบาท แต่ผ่านไปกว่า 2 ปียังไม่มีการลงทุน เพียงแต่จ่ายค่าเช่าตามสัญญา 845 ไร่ 44 ตาราวา จำนวน 20,282,640 บาท ต่อมาบริษัทเสนอขอปรับสัญญาและขอสิทธิประโยชน์การลงทุนเทียบเท่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ตั้งคณะกรรมการกำกับสัญญาขึ้นมาเจรจา และเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 62 ได้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) พิจารณารับเงื่อนไขการปรับแผนการลงทุนตามที่บริษัทเสนอมา ส่วนเรื่องการขอสิทธิประโยชน์การลงทุนเทียบเท่า EEC ไม่ได้มีการพิจารณานั้น

นายสุรศักดิ์ อินทรประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม้รูด (อบต.ไม้รูด) อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ฯยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านมองไม่เห็นประโยชน์ของการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพราะไม่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาท้องถิ่นในทุกด้าน ดังนั้น ล่าสุดชาวบ้านบริเวณตำบลไม้รูด จำนวน 100 คน จึงได้รวมตัวกันยื่นคำร้องขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งกำลังดำเนินการจัดทำผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด ให้สิทธิการใช้พื้นที่ตามข้อกำหนด และการใช้ประโยชน์ที่ดินกับชาวบ้านในท้องถิ่น อบต.ไม้รูดเช่นเดียวกับการได้รับการยกเว้นให้บริษัทเอกชนที่เช่าพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 895 ไร่ รวมถึงการยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณเขตทางหลวงแผ่นดิน เนื่องจากเป็นพื้นที่มีการพัฒนา มีการขยายตัวของชุมชน และมีปัญหาเรื่องการกำจัดขยะต้องมีโรงงานคัดแยก

การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและการใช้ประโยชน์ที่ดินใน อบต.ไม้รูดนั้น เป็นความจำเป็นเนื่องจากพื้นที่ อบต.ไม้รูดมีทั้งหมด 1,700 ไร่เท่านั้น พื้นที่เช่าเปรียบเสมือนไข่แดง รอบ ๆ พื้นที่ชาวบ้านเป็นไข่ขาว เมื่อพื้นที่เช่าได้รับสิทธิตามเขตผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่รอบ ๆ ควรได้รับเหมือนกัน อย่างน้อยในหมู่บ้านที่ติดกัน คือ หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 5

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องพื้นที่บ่อขยะ 50 ไร่ที่เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด ตอนแรกน่าจะกันออกมาไม่ควรรวมให้เอกชนเช่า เพราะปัญหาขยะเป็นเรื่องสำคัญ และไม่มีพื้นที่ไหนต้องการ แต่เมื่อรวมเป็นพื้นที่เช่าไปแล้วต้องมีการปรับขอใช้พื้นที่อุตสาหกรรม (สีม่วง) ที่บริเวณตะกาดคลองเจดีย์ เพื่อสร้างโรงงานคัดแยกขยะแห่งใหม่รวมของทั้ง 4 อปท. โดยโรงคัดแยกขยะแห่งใหม่นี้เป็นแบบทันสมัยจะสามารถรองรับปริมาณขยะได้ถึงวันละ 30 ตัน แต่ทุกวันนี้ต้องนำไปทิ้งบ่อขยะเทศบาลเมืองตราดทั้ง 3 แห่งเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 350,000 บาท ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ยื่นขอใช้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่บริษัทเช่าต่ออีก 1 ปี ระหว่างที่โรงคัดแยกแห่งใหม่ยังดำเนินการไม่เสร็จ แต่ล่าสุดคาดว่าจะสามารถคืนพื้นที่บ่อขยะ 50 ไร่ บริเวณ อบต.ไม้รูดได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้

แหล่งข่าวระดับสูงสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตราด กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด ครอบคลุมพื้นที่ ต.ไม้รูด ต.คลองใหญ่ ต.หาดเล็ก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 8 การจัดทำร่างกฎกระทรวง ซึ่งในช่วงการขอยื่นคำร้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงมีประชาชนใน อบต.ไม้รูดยื่นคำร้องด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3 เรื่อง คือ ขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ที่ดินจากเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ในเขตตำบลไม้รูด เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) ขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ที่ดินให้กำหนดพื้นที่จากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3269 และถนนร่วมสุข-ถนนสุขุมวิท ระยะ 500 เมตร เป็นที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ขอยกเลิกที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ (สีม่วงอ่อน) บริเวณหมายเลข อ.1 และที่ดินประเภทคลังสินค้า (สีเม็ดมะปราง) บริเวณหมายเลข อ.3-1 (บริเวณด่านศุลกากร) และกำหนดพื้นที่บริเวณตะกาดคลองเจดีย์เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมแทน

และด้านข้อกำหนด 3 เรื่อง คือ ขอแก้ไขที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) บริเวณหมายเลข ก.2 ให้สามารถตั้งโรงงานลำดับที่ 53 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติก) ได้ ขอกำหนดสัดส่วนพื้นที่ว่างสำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการต่าง ๆ โดยให้กำหนดต่ำกว่าร้อยละ 30 ในการใช้ที่ดินทุกประเภท และขอแก้ไขข้อกำหนดในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) บริเวณหมายเลข ย.3-1 ให้สามารถตั้งโรงงานลำดับที่ 64 (12) การตัด พับ หรือม้วนโลหะตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณาให้ยกเลิกคำร้องทั้งหมด เพราะผังเมืองรวมได้ออกแบบไว้เหมาะสมแล้วและไม่ให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

 

กทท.เร่งบูม “ท่าเรือคลองใหญ่” ทุ่ม 15 ล้านพลิกโฉมเปิดปลายปี’63

โครงการ Golden Gateway ในพื้นที่ SEZ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ของบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคได้เสนอแผนพัฒนาด้านการค้าชายแดนจะเพิ่มมูลค่าการค้าการส่งออกสินค้าเกษตรจากอีสเทิร์นซีบอร์ดไปกัมพูชาและเวียดนามมากขึ้น ผ่าน “ท่าเรือคลองใหญ่” เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร เป็นผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มติคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. ให้ กทท.เตรียมความพร้อมการเข้าบริหารและประกอบการท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด โดยขอรับการสนับสนุนจากกรมธนารักษ์ในการขอยกเว้นค่าเช่าเป็นระยะเวลา 10 ปี และขอให้กรมเจ้าท่า (จท.) ขุดร่องน้ำหน้าท่าให้ลึกขึ้นจากเดิม 500 เมตร เป็น 550 เมตร

หลังได้ข้อยุติแล้วในเดือน ก.ย.นี้จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่อนุมัติให้ กทท.เป็นผู้บริหารโครงการต่อไป ปัจจุบันท่าเรือคลองใหญ่ที่กรมเจ้าท่าสร้างเสร็จเป็นท่าเรือว่างเปล่ายังไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์และทรุดโทรมมากต้องเข้าไปปรับปรุงโครงสร้างใหม่ เบื้องต้นเตรียมงบประมาณไว้ 15 ล้านบาท เพื่อซ่อมแซม คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปลายปี 2563

นอกจากนี้ จะต้องทำแผนการตลาดจูงใจให้ผู้ขนส่งสินค้ามาใช้บริการ เนื่องจากในการศึกษาผลการดำเนินงานจะขาดทุนอย่างน้อย 10 ปี กว่าจะคืนทุนในปีที่ 20 ทั้งนี้ กทท.คงจะไม่บริหารเองทั้งหมด 100% จะให้เอกชนมาช่วยดำเนินการด้วย ซึ่งในจ.ตราดมีเอกชนท้องถิ่นที่ทำธุรกิจนี้อยู่ แต่เนื่องจากมีการคิดค่าเช่าเอกชนแพง จึงทำให้เอกชนไม่สนใจ

“ท่าเรือคลองใหญ่จะรองรับเรือขนาดเล็ก 500 ตันกรอส เป้าหมายให้เป็นท่าเรือมัลติ คือ เป็นทั้งท่าเรือท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างภูมิภาค จากแหลมฉบัง คลองใหญ่ไปเชื่อมกับท่าเรือสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา หากเอกชนที่ประมูล SEZ จะมาขอใช้ก็ยินดี”

สำหรับสะพานท่าเทียบเรือคลองใหญ่เดิมอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ พื้นที่มีความชำรุดทรุดโทรมกรมเจ้าท่าจึงขอใช้และรื้อถอนโครงสร้างสะพานท่าเทียบเรือเดิม และก่อสร้างท่าเทียบเรือคลองใหญ่ขึ้นใหม่ ใช้เงินลงทุน 1,295 ล้านบาท