วิกฤตน้ำท่วมอีสานเสียหาย8พันล้าน กระทบพื้นที่ศก.-เกษตร2ล้านไร่-4จังหวัดยังอ่วม

กลุ่มหอการค้าภาคอีสานประเมินวิกฤตน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ-พื้นที่เกษตร ปศุสัตว์ ประมง เสียหายหนักกว่า 8,000 ล้านบาท รวมพื้นที่อีสานตอนกลาง-ตอนล่าง-ตอนบนกว่า 2 ล้านไร่ ด้านผู้ว่าฯอุบลฯเผยน้ำท่วมหนักรอบ 20 ปี เบื้องต้นประเมินพื้นที่เกษตรเสียหาย 5 แสนไร่ คาดสูญกว่า 1 พันล้านบาท ขณะที่ร้อยเอ็ดพื้นที่เกษตรเสียหายเฉียด 8 แสนไร่ ยโสธรพื้นที่การเกษตรเสียหาย 1 แสนไร่ ปิดเส้นทางสัญจร กระทบอุตสาหกรรม 40-50 ล้านบาท ด้านอำนาจเจริญ พื้นที่การเกษตรเสียหาย 8 แสนไร่ เร่งระบายน้ำลงแม่น้ำมูล ส่วนร้อยเอ็ด กระทบ 16 อำเภอ เสียหายกว่า 7 แสนไร่ รอการระบายน้ำ

นายมงคล ตันสุวรรณ เลขาธิการกลุ่มหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมจากพายุโพดุลที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการประเมินผลกระทบพบว่า อยู่ในวงจำกัด บางพื้นที่ไม่ได้กระจายไปทั่วทั้งภาคอีสาน โดยผลกระทบส่วนใหญ่เกิดที่ภาคอีสานตอนกลางและตอนล่าง ส่วนภาคอีสานตอนบนได้รับผลกระทบเพียงบางส่วน รวมพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายทั้งหมดประมาณ 1,000,000 ไร่ ขณะเดียวกันมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม เช่น ถนนถูกตัดขาด รวมถึงระบบไฟฟ้าบางแห่งเสาไฟฟ้าโค่นล้ม น้ำท่วมเข้าในเขตพื้นที่เศรษฐกิจของหลายแห่ง โดยประเมินภาพรวมความเสียหายไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท

อุบลฯท่วม 23 อำเภอ 5 แสนไร่

นายสกฤษติ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้ จ.อุบลราชธานีมีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 23 อำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคการเกษตรและประมงได้รับผลกระทบหนัก ส่วนธุรกิจการค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจซื้อขายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอตัว เพราะเส้นทางการคมนาคมสัญจรถูกน้ำท่วม ส่วนด้านอุตสาหกรรมยังไม่มีผลกระทบมากนัก รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นคาดว่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ทางจังหวัดจะมีการดึงงบประมาณจากภาครัฐที่อนุมัติมาเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งกว่า 200 ล้านบาท ปรับมาใช้ดำเนินการแก้ปัญหาผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงนี้

สำหรับ 23 อำเภอที่ได้รับผลกระทบ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 584,709 ไร่ แบ่งออกเป็นนาข้าว 498,911 ไร่, ไม้ผลไม้ยืนต้น 7,680 ไร่, มันสำปะหลัง 78,942 ไร่ มีพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยทั้งหมดรวม 15 อำเภอ 117 ตำบล 1,024 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 33,606 ครัวเรือน 132,920 คน

“ที่มีผลกระทบแน่นอนคือด้านการเกษตรและประมง ในภาคเกษตรหากน้ำลดและพื้นที่ฟื้นตัวเร็วน่าจะกระทบเพียง 1 ใน 4 ของพื้นที่ ส่วนการประมงคาดว่าเสียหายกว่า 1,700 ไร่ แต่ต้องรอประเมินภาพรวมความเสียหายทั้งหมดให้แน่ชัดอีกครั้ง ส่วนภาคปศุสัตว์มีการอพยพสัตว์เศรษฐกิจที่มีปัญหาออกมาแล้ว อย่างไรก็ตาม วันนี้ (12 ก.ย. 62) ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลงประมาณ 15 เซนติเมตร จะทำให้ระบายลงแม่น้ำได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องมีการเร่งผลักน้ำให้ถึงอำเภอโขงเจียม” นายสกฤษติ์กล่าว

อำนาจเจริญกระทบ 8 แสนไร่

ด้านนายวรนิยม วงศ์สุวรรณ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตร 80% ประมาณ 800,000 ไร่ ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดส่วนใหญ่เป็นโรงสีซึ่งมีทั้งหมด 10 โรง น้ำท่วม 2 โรง แต่เนื่องจากยังไม่เข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวจึงส่งผลกระทบไม่มากนัก

นายวินัย มีชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอำนาจเจริญ เปิดเผยว่า ปีนี้จังหวัดอำนาจเจริญได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมค่อนข้างหนัก และมีปัญหาน้ำท่วมขัง ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนลำบาก เพราะประชาชนไม่ออกมาจับจ่ายซื้อของ นอกจากนี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ถ้าหากฝนไม่ตกลงมาเพิ่ม คาดการณ์ว่าภายใน 2-3 สัปดาห์น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ เนื่องจากน้ำส่วนหนึ่งยังสามารถระบายน้ำลงแม่น้ำมูลได้ ทำให้บางพื้นที่มีปริมาณน้ำเริ่มลดน้อยลง

ร้อยเอ็ดเสียหาย 789,498 ไร่

นายสุมาลัย ศริพานิช ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นปัจจุบันส่งผลให้ จ.ร้อยเอ็ดมีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 16 อำเภอ รวม 789,498 ไร่ แบ่งออกเป็น นาข้าว 755,998 ไร่, พืชสวน 2,250 ไร่, พืชไร่ 4,750 ไร่ ขณะเดียวกันยังมีน้ำท่วมขังอยู่ 24 แห่ง ซึ่งปริมาณน้ำในเขื่อนร้อยเอ็ด ส่วนสถานการณ์ในลำน้ำชียังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้มีการแจ้งให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชีอพยพสิ่งของและสัตว์ไปยังพื้นที่ปลอดภัย

นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันประชาชนได้รับความเดือดร้อน 176,763 ครัวเรือน ส่วนเรื่องพื้นที่ตอนบนที่ติดกับจังหวัดมหาสารคามอยู่ระหว่างการปิดเขื่อนไม่ให้มีการการระบายน้ำออกมา เพราะในจังหวัดมีปริมาณน้ำลดลงเพียง 2 เซนติเมตร เนื่องจากต้องมีการผลักน้ำผ่านไปยังจังหวัดยโสธรกับจังหวัดอุบลราชธานี ต้องรอให้ปริมาณน้ำในส่วนของจังหวัดอุบลฯลดลงก่อน ซึ่งคาดว่า จ.อุบลฯวันนี้ (12 ก.ย. 62) ปริมาณน้ำจะมากที่สุดถึง 3.5 เมตร อย่างไรก็ตามหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าภายใน 15 วันจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ยโสธรเกษตรสูญแสนไร่

นายเสถียรพงศ์ ภูคำ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยโสธร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า เนื่องจากเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าปิดการจราจร รวมถึงธุรกิจต่าง ๆ ต้องหยุดให้บริการประมาณ 2 สัปดาห์ รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 40-50 ล้านบาท

ด้านนายสุธา บรรตานึก ประธานหอการค้าจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรมากกว่า 100,000 ไร่ มีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 10,000 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชากรที่เดือดร้อนกว่า 20,000-30,000 คน ขณะเดียวกันเหตุการณ์น้ำท่วมกลับทำให้ร้านค้าที่ขายเครื่องอุปโภค-บริโภคขายดีขึ้น ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในจังหวัดเป็นเงินจำนวนมาก ส่วนเส้นทางในการสัญจร ขณะนี้ถนนสายยโสธร-ร้อยเอ็ด รถเล็กสามารถสัญจรได้ตามปกติ ส่วนสาย ยโสธร-อุบลราชธานียังปิดการจราจร มีระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางเขื่อนยโสธรได้มีการเปิดประตูเขื่อนทั้งหมด 8 บาน เพื่อเร่งการระบายน้ำ ซึ่งในขณะนี้ในเขตเทศบาลอำเภอเมือง ชุมชนที่ติดกับแม่น้ำชี ปริมาณน้ำลดลง คาดการณ์ว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ถึงจะกลับสู่สภาวะปกติ