ไกด์เถื่อนต่างชาติภูเก็ตนับพัน ชมรมมัคคุเทศก์จี้รัฐกวาดล้างทั้งเครือข่าย

กระทบอาชีพ - ชมรมมัคคุเทศก์ภาษาจีน จ.ภูเก็ต ซึ่งมีสมาชิก เกือบ 2 พนั คนกำลังได้รับ ผลกระทบอย่างหนกั จากการที่บริษัท นำเที่ยวต่างชาติ ไม่ใช้บริการมัคคุเทศก์ชาวไทย และหันไปลักลอบนำคนชาติเดียวกันเข้ามาเป็นไกด์เถื่อนแทน

ชมรมมัคคุเทศก์ฯภูเก็ต 2,000 คน ยื่นหนังสือด่วน “นายกฯประยุทธ์” จี้กวาดล้างกระบวนการเครือข่ายบริษัทนำเที่ยว ดึง “ไกด์เถื่อนต่างชาติ” 1,200 คนเข้าไทย ลักลอบถือ “วีซ่านักศึกษา-นักท่องเที่ยว” เข้ามาประกอบอาชีพ แถมหัวหมอ ใช้ “ซิตติ้งไกด์” คนไทยบังหน้า หวั่นทำลายภาพพจน์ท่องเที่ยวไทย

นายจีระวัฒน์ นาวัง เครือข่ายชมรมมัคคุเทศก์ภาษาจีน จังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายองอาจ แซ่จัง ประธานชมรมมัคคุเทศก์ภาษาจีน จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 2,000 คน ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องเรียนถึงผลกระทบที่ได้รับจากการประกอบอาชีพมัคคุเทศก์อย่างรุนแรง และต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมามีไกด์เถื่อน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก คาดว่าจะมีถึง 1,200 คน เข้ามาแย่งอาชีพของมัคคุเทศก์ไทยที่มีบัตรไกด์ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่อาชีพนี้ถือเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทยตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 มาตรา 40 (1) ดังนั้นจึงขอให้ภาครัฐต้องมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลเหล่านี้ รวมถึงดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับมัคคุเทศก์เถื่อน และธุรกิจต่าง ๆ ที่ไม่ถูกกฎหมายเหล่านี้

“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนได้เข้ามาลงทุนทำร้านค้า รถบริการ ภัตตาคาร บริษัทนำเที่ยว ฯลฯ และได้นำชาวจีนมาเป็นมัคคุเทศก์ และมีการนำมัคคุเทศก์ไทยบางกลุ่มมาทำหน้าที่เป็นซิตติ้งไกด์ (คือ บุคคลที่มีบัตรไกด์ แต่พูดภาษาไม่ได้) นั่งไปบนรถเพื่อเป็นฉากหน้า คุ้มกันเวลาถูกตรวจ นอกจากนี้ยังมีคนต่างชาติถือวีซ่านักศึกษาจากหลายประเทศเข้ามาประกอบอาชีพด้วย จนส่งผลกระทบต่อมัคคุเทศก์ของไทย โดยเฉพาะชมรมมัคคุเทศก์ภาษาจีนฯ ที่มีสมาชิกประมาณ 2,000 คน แต่คาดว่าตอนนี้เหลือประมาณ 1,600 คน เพราะผู้ประกอบการนำเที่ยวไม่มอบงานให้ทำ ขณะที่มัคคุเทศก์นอกระบบที่มีกว่า 1,200 คน จะได้รับงานทัวร์ทำตลอด จนส่งผลให้มัคคุเทศก์นอกระบบ มีความต้องการมากขึ้น โดยมีการเดินทางเข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยว แล้วทำงานอยู่กับบริษัทท่องเที่ยวบางแห่ง

เลี่ยงถือวีซ่า น.ศ.-นทท.เข้าไทย

นอกจากนี้ มัคคุเทศก์ได้รับผลกระทบจากการทำตลาดของเว็บไซต์ต่างประเทศซึ่งขายสถานที่ท่องเที่ยว แนะนำนักท่องเที่ยวให้ใช้รถบริการนำเที่ยว ทัวร์ ร้านอาหาร รวมถึงมัคคุเทศก์ภายในเครือข่ายของกลุ่มตนเอง สำหรับประเด็นนี้ค่อนข้างจะรุนแรงมาก จึงขอให้หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) บังคับใช้กฎหมายมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากมีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งมีการเดินทางเข้า-ออก จ.ภูเก็ต โดยเสรี ผ่านบริษัทนำเที่ยวทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และอีกส่วนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องการให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมาย มิให้นำชาวต่างชาติมาประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ เพราะเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย ซึ่งประสบปัญหาหนักในขณะนี้ และให้ทุกคนต้องมีใบอนุญาตและแสดงต่อเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน

“การทำตลาดของเว็บไซต์ต่างชาติ นอกจากอาชีพมัคคุเทศก์จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแล้ว ในส่วนผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวของคนไทยได้รับผลกระทบ เพราะมีการแข่งขันราคาจนทำให้ตลาดธุรกิจท่องเที่ยวไทยได้รับความเสียหายอย่างมาก จนส่งผลกระทบผู้ประกอบการไทยไม่สามารถประกอบได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำหนดมาตรการราคากลางการทำธุรกิจการท่องเที่ยวที่เหมาะสมด้วย

นายจีระวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมัคคุเทศก์ไทยที่ถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับงานจากกลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยวประมาณ 1-2 กรุ๊ปทัวร์/เดือน และงานที่ได้เป็นกรุ๊ปทัวร์ขนาดเล็ก 4-8 คน ส่วนกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่จะโยนงานให้กับมัคคุเทศก์นอกระบบทั้งหมด และที่ได้รับผลกระทบรุนแรงหนักมาก คือ ที่ผ่านมามัคคุเทศก์ไทยจะต้องซื้อค่าหัวนักท่องเที่ยวชาวจีน จากกลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยว ซึ่งจะให้จ่ายเงินสำรองไปก่อนล่วงหน้าประมาณ 3 เดือน วงเงินค่อนข้างสูงแล้วแต่ปริมาณกรุ๊ปทัวร์ ตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท จนถึงหลักล้านบาท/ครั้ง เมื่อถึงเวลาเก็บเงิน บางรายมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข บางรายมีการหลบหนีไปก็เคยเกิดขึ้น

ต่างชาตินำเงินกลับ 50%/ปี

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวปีละหลายแสนล้านบาท แต่ต้องถูกผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวชาวต่างชาติ และเครือข่าย รวมถึงเว็บไซต์ออนไลน์นำเงินกลับไปประมาณ 50% โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่เข้ามาจำนวนมาก จะมีระบบบริหารจัดการเครือข่าย มีการพาไปซื้อสินค้าและรับประทานอาหารกับร้านชาวจีนในเครือข่าย ซึ่งแต่ละรายจะมีการตั้งราคาขายสูงเกินความเป็นจริง ยกตัวอย่าง หมอนและที่นอนยางพารา ปกติในประเทศไทยขายชุดละ 2,500 บาท คนจีนจะตั้งราคา 8,000 บาท/ชุด รวมถึงการรับประทานอาหารในระดับ 600 บาท/ชุด จะทำราคาเป็น 3,000 บาท/ชุด ฯลฯ

“เมื่อเกิดปัญหาก็โยนว่าเป็นผู้ประกอบการและมัคคุเทศก์ไทยจนส่งผลกระทบ และเป็นภาพลบต่อผู้ประกอบการและมัคคุเทศก์ไทย และการท่องเที่ยวไทย และในที่สุดก็ขาดความเชื่อมั่น จนทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มนี้ไม่อยากเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีก แต่ด้วยความที่จีนมีประชากรจำนวนมาก ผู้ประกอบการนำเที่ยวพร้อมหานักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามาทดแทน ก่อนหน้านั้นสภาพนี้ได้เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี ซึ่งมีการทำการปั่นราคารูปแบบเดียวกัน เหมือนทำกับนักท่องเที่ยวชาวจีน และท้ายสุด นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น และเกาหลีถดถอยไปในบางพื้นที่

“สำหรับแนวทางแก้ไข รัฐบาลต้องมีนโยบายมาตรการทางด้านภาษี จัดเก็บภาษีการค้าเว็บไซต์ต่างประเทศ หรือการค้าออนไลน์ เช่น สั่งจองห้องพักให้โรงแรมเป็นผู้จัดเก็บเอง ส่วนรถแกร็บ อูเบอร์ ที่มาจากต่างประเทศ ก็ให้มีการออกแบบจัดเก็บเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การประกอบอาชีพของชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในภูเก็ตจะเข้ามาในรูปแบบการร่วมทุน หรือจะมีนอมินีคนไทยถือหุ้นแทน ส่งผลให้ยากต่อการควบคุม และตรวจสอบของเจ้าหน้าที่