นาข้าว-โรงสีใต้อ่วมแสนไร่น้ำเค็มหนุนผลผลิตหาย 4 พันล้าน

น้ำเค็ม - น้ำในทะเลสาบสงขลาเค็มเกินขนาดจนไม่สามารถทำนา การเกษตรปศุสัตว์ อุปโภคบริโภคได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อปากน้ำจืดอีกหลายชนิด

นาข้าว โรงสี สะเทือน “น้ำเค็มทะเลสาบสงขลา” วิกฤตหนัก ชาวนาระโนด สงขลา-นครศรีธรรมราช ไม่มีน้ำจืดทำนา คาดฤดูผลิตปี 2562/2563 เสียหนักกว่า 100,000 ไร่ สูญเงินกว่า 4,000 ล้านบาท เผยโรงสีข้าว-ชาวนาหวั่นกระทบเงินที่กู้แบงก์มาลงทุน ทางรอดลุ้นฝนตกหนักเดือนกุมภาพันธ์นี้ พร้อมจี้รัฐบาลเร่งผันน้ำจากลุ่มน้ำปากพนัง นครศรีธรรมราช มาดันน้ำเค็ม

นายสมศักดิ์ พานิชย์ เจ้าของนาข้าวและโรงสีทิพย์พานิช ในฐานะประธานชมรมโรงสีข้าวระโนด จ.สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ชาวบ้านที่อาศัยน้ำจืดจากทะเลสาบสงขลากำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก เนื่องจากมีน้ำเค็มหนุนสูงขึ้นมาไล่น้ำจืดในทะเลสาบสงขลา ทำให้มีความเค็มเกินขนาดไม่สามารถทำนา เลี้ยงปศุสัตว์ และอุปโภคบริโภคได้ จึงส่งผลกระทบต่อการทำนาข้าวปี 2563 ประมาณ 100,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อำเภอระโนด ประมาณ 70,000-80,000 ไร่ และที่เหลือเป็นพื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอสิงหนคร

ส่วนพื้นที่นาข้าวที่ได้รับผลกระทบประมาณ 100,000 ไร่ ปกติสามารถให้ผลผลิตข้าวได้ประมาณ 700 กิโลกรัม/ไร่ ดังนั้น คาดว่าผลผลิตข้าวประมาณ 70,000 ตันจะต้องหายไป ส่งผลต่อนาข้าว โรงสีข้าว การค้าข้าวทั้งในประเทศ และการส่งออกไปต่างประเทศได้รับผลกระทบไปด้วย ฯลฯ เท่ากับเม็ดเงินจากการค้าข้าวจะหายไปประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท รวมไปถึงภาคเกษตร พืชผัก ปศุสัตว์ ประมง เช่น การเลี้ยงวัว ควาย แพะ และปลาน้ำจืด

“ภาวะน้ำเค็มในทะเลสาบสงขลานอกจากส่งผลกระทบต่อชาวนาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำจืด เช่น กุ้งก้ามกราม ปลากด ปลาดุก ปลาสลิด ปลาตะเพียน ปลาหมอ แม้กระทั่งปลาบึก ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ปรากฏว่าเริ่มสูญหายไป ดังนั้น ทางออกที่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ในระดับหนึ่ง คือ ระดมผันน้ำจากลุ่มน้ำอ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และแหล่งน้ำจืดในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง และลุ่มน้ำทะเลน้อย พรุควนเคร็ง จ.พัทลุง ประการสำคัญภาครัฐบาลควรจะต้องวางมาตรการระยะยาวในการบริหารจัดการน้ำในทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน” นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากสภาพความสูญเสียเช่นนี้จะส่งผลต่อสินเชื่อโรงสีข้าว เกษตรกรที่กู้จากสถาบันการเงินมาประกอบกิจการ ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นที่จะชำระต้องกลายเป็นภาระที่จะต้องลงมาช่วยกันดูแลแก้ไขในเรื่องนี้

นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ และอุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ชัดเจนว่าเกิดภาวะขาดแคลนน้ำจืดเพื่อใช้ทำนาบริเวณพื้นที่ทำนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวรายใหญ่ นอกจากนี้แล้วยังมีพื้นที่นาข้าว จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณกว่า 100,000 ไร่ จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

“ชาวนาภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาร่วม 2 ปี รวม 4 รอบผลิต ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ และกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทางรอดต้องรอฝนตกหนักลงมาระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และหากฝนไม่ตกลงมา รัฐบาลเร่งดำเนินการระดมผันน้ำ ให้ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา”

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานตัวเลขพื้นที่และผลผลิตการปลูกข้าวนาปีในปี 2561 ที่ความชื้น 15% ว่า ภาพรวมภาคใต้มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งหมด 780,513 ไร่ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 778,580 ไร่ มีผลผลิตรวมกัน 373,598 ตัน เฉพาะจังหวัดสงขลามีเนื้อที่เพาะปลูก 201,942 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 201,869 ไร่ ผลผลิต 112,681 ตัน ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่เพาะปลูก 252,075 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 250,846 ไร่ผลผลิต 120,141 ตัน

ขณะเดียวกัน ได้มีรายงานสถานการณ์การผลิตข้าวปีการผลิต 2562/63 ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 คาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งหมด 59.93 ล้านไร่ ซึ่งมีผลผลิตทั้งหมด 24.32 ล้านตัน ซึ่งจะมีผลผลิตต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยกำหนดไว้ 1.15 ล้านตันข้าวเปลือก ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ เพราะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 ก็ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุลและคาจิกิ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด มีการระบาดของโรคไหม้คอรวงทำให้เกิดผลเสียหาย