“ตั้งงี่สุน” ฮึดสู้ค้าปลีก-ส่ง หวั่นเศรษฐกิจดิ่ง

ตั้งงี่สุนเดินหน้าค้าปลีก-ค้าส่งเต็มกำลังพร้อมตั้งเป้าผลประกอบการให้ใกล้เคียงจุดเดิมหลังโควิด-19 ชี้กำลังซื้อผู้บริโภคหายจากระบบ หวั่นเศรษฐกิจหดตัวมากกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ลุ้นเงิน 4 แสนล้านของรัฐบาลช่วยกระตุ้นระบบ

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหารตั้งงี่สุน จังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของประเทศไทยที่เห็นตามข่าวในปัจจุบันดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะหดตัวและแย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 แม้รัฐบาลจะป้องกันการระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่ด้านเศรษฐกิจเริ่มมีอาการไม่ดี ถึงจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกแต่สิ่งที่น่ากังวลคือหนี้ครัวเรือนในประเทศมีอยู่เป็นจำนวนมาก ธุรกิจการค้าไม่มีความคึกคัก เงินจึงหายไปจากระบบ เพราะลูกค้าผู้บริโภคลดน้อยลงเพราะถูกเลิกจ้างหรือถูกตัดเงินเดือน

“ตอนนี้ประเทศไทยน่ากลัวมาก จากข่าวที่ออกมาเหมือนคำทำนายว่า เศรษฐกิจที่หดตัวในวิกฤตต้มยำกุ้ง 7.2% จะกลายเป็น 8.1% ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านคือหลังจากการระบาดของโควิดคือการค้าขายไม่ดี ทำให้ธุรกิจเริ่มดาวน์ลง ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องทำให้คำทำนายเป็นบวก ถึงจะมีนโยบายรัฐบาลเข้ามาส่งเสริมธุรกิจแต่ก็ต้องตื่นตัวเริ่มที่ตัวเอง อาจจะทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ติดลบก็ได้ ในมุมของผมใครรอดหรือไม่รอด แต่ผมต้องรอด ต้องแข่งกับตัวเองล้วน ๆ ผู้บริหารกับพนักงานต้องกอดคอกันไว้ แม้จะลดรายจ่ายก็ต้องตัดที่ตัวหลัก ส่วนลูกจ้างเป็นฟันเฟืองตัวเล็กที่วิ่งต่อ ไม่ควรหักและรายได้ต้องมีอยู่มีกิน”

ทั้งนี้ หลังปลดล็อกควบคุมโควิด-19 ธุรกิจบางอย่างก็หยุดไป การค้าในระดับภูธรหรืออย่างจังหวัดอุดรธานี ตอนนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท 1.ผู้ประกอบการที่ฮึดสู้และเดินหน้าต่ออย่างเต็มกำลัง 2.ชะลอตัวเพราะผลกระทบจากการกลัวโควิด-19 และ 3.ขายของตามปกติแต่ใช้วิกฤตโควิดเป็นข้ออ้างเพื่อลดตัวเลขลงไม่ให้เกิดผลกระทบกับตนเองฉะนั้น ผู้ประกอบการร้านค้าประเภทที่ 1 ซึ่งเหลืออยู่เพียงไม่กี่รายจึงรับอานิสงส์จากบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่ต้องการตัวเลขดันยอดขายให้คงอยู่ เพราะบริษัทต้องเดินหน้าไปหาร้านค้าที่ไปต่อ รายได้อาจจะหายไปเพียงเล็กน้อย ถึงจะไม่ได้ยอดขายตามเดิมแต่ก็ไม่ได้ตกลงไปมาก และตั้งงี่สุนก็เป็นหนึ่งในร้านค้าที่ฮึดสู้อย่างสุดกำลัง ทำให้ลูกค้ายังคงอยู่ และเพิ่มขึ้นมาได้จากหลายจังหวัดใกล้เคียง

นายมิลินทร์เปิดเผยว่า ปัจจุบันตั้งงี่สุนต้องบริหารจัดการขายให้ดีและเป็นระบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายหน้าร้าน การขายปลีก การขายส่ง ต้องสำรวจสต๊อกให้ดี รวมไปถึงกระแสเงินสด (cash flow) ด้วย ถึงเศรษฐกิจจะไม่ดีไม่ว่าจะด้วยเหตุผลการระบาดของโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม ต้องพยายามทำตัวเลขให้ได้ใกล้เคียงกับจุดเดิม ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าเดินหน้าต่อ เพราะเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านของรัฐบาลไม่รู้ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้มากน้อยแค่ไหน ภายในระยะเวลา 4-5 เดือนก่อนจะถึงสิ้นปี หากเป็นไปได้ด้วยดีก็ดี แต่ถ้าร่วงผู้ประกอบการคนไหนร่วงน้อยกว่าก็ถือว่าได้เปรียบ

อย่างไรก็ตาม ภาพธุรกิจค้าปลีกค้าส่งระดับภูธร เช่น จังหวัดอุดรธานี ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต เพราะร้านค้าแต่ละรายถือว่ามีแพลตฟอร์มการค้าขาย และมีภาพลักษณ์เป็นของตัวเอง ผู้ประกอบการแต่ละรายมีวิธีการทำกำไรและสร้างภาพลักษณ์แตกต่างกันไปฉะนั้นตอนนี้อาจจะมีบางรายที่กำลังพยายามประคับประคองตัวเองอยู่ ถึงจะล้มไปบ้างและพยายามไม่ออกอาการ คาดว่าในปี 2563 นี้ น่าจะเห็นว่าใครจะอยู่รอด

“ในระยะช่วงเวลา 2 ปีนับจากนี้ ตั้งงี่สุนต้องทำงานหนักกว่าเดิม ผมแนะนำลูกน้องเลยว่าภายใน 2 ปีนี้ต้องกอดเงินไว้ก่อนในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอถ้าสู้ตลอดเวลา อุปสรรคเป็นสิ่งที่ต้องแก้และต้องฝ่าไป ห้ามถอย ภาวะไม่ดีต้องระวังตัว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไปต่อไม่ได้”