หลังจากที่ประเทศไทยได้ดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างได้ผล และได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า “ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุข การแพทย์ การพยาบาลและการดูแลรักษาที่ดีที่สุด” อันดับต้น ๆ ของโลก จังหวัดเชียงใหม่นับเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและประกาศตัวเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Medical-Wellness Hub) เช่นเดียวกัน
เศรษฐกิจโต 3 หมื่นล้าน
นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้เร่งเตรียมประสานงานการเปิดตลาดกับต่างประเทศหลังจากสถานการณ์ด้านโควิด-19 ของประเทศไทยคลี่คลาย รวมถึงการเปิดการท่องเที่ยวแบบ bubble travel โดยเชียงใหม่จะชูจุดเด่นด้านการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ หรือ medical-wellness tourism เนื่องจากเชียงใหม่มีเทคโนโลยีแพทย์เฉพาะทางเฉพาะด้านที่มีชื่อเสียง และมีโรงพยาบาลระดับมาตรฐานในระดับนานาชาติ ตลอดจนธุรกิจบริการด้านสุขภาพที่ครบวงจร
โดยศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของเชียงใหม่ มีสถานบริการโดยรวมมากถึง 1,534 แห่ง แบ่งเป็น 1.บริการด้านการแพทย์ (medical tourism hub) มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เป็นของภาครัฐจำนวน 22 แห่ง ภาคเอกชน 15 แห่ง ศูนย์บริการผู้สูงอายุ 4 แห่ง มีบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ จำนวนราว 3,500 คน 2.บริการสุขภาพ (wellness hub) มีสถานประกอบการสปา 48 แห่ง ร้านนวด 648 แห่ง บุคลากรมากกว่า 5,000 คน โรงเรียนนวดแผนไทย 14 แห่ง โดยแต่ละปีมีชาวต่างชาติให้ความสนใจมาเรียนมากกว่า 10,000 คน 3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพ (product hub) และ 4.บริการการศึกษา อบรม วิจัย (academic hub) มากกว่า 10,000 คน ส่วนผู้ทำธุรกิจด้าน long stay ด้านสุขภาพ บริการที่พัก ท่องเที่ยว มีประมาณ 150 กิจการ ซึ่งคาดว่าได้สร้างเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี จึงมั่นใจว่าเชียงใหม่จะเป็นเมืองที่รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมารักษาสุขภาพ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19
ธุรกิจดาวรุ่ง-เติบโตหลังโควิด
นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ คณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) กล่าวว่า หากโฟกัสที่ GPP 250,000 ล้านบาท ของจังหวัดเชียงใหม่ สามารถชี้ให้เห็นภาพรวมด้านเศรษฐกิจของจังหวัดได้ เป็นการประมวลผลรวมรายได้ที่มาจากกิจกรรมการผลิตทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแยกออกเป็น 7 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.กลุ่มอาหารเครื่องดื่ม เกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป สมุนไพร-smart farm มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 50,000 ล้านบาท 2.กลุ่มหัตถกรรมผ้า เครื่องประดับ ของที่ระลึก-creative city มีสัดส่วนรายได้ 20,000 ล้านบาท 3.กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว-MICE city, green city สัดส่วนรายได้ 60,000 ล้านบาท 4.กลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพ-medical hub & wellness city มีสัดส่วนรายได้ 30,000 ล้านบาท 5.กลุ่มธุรกิจการศึกษา-international education hub สัดส่วนรายได้ 15,000 ล้านบาท 6.กลุ่มธุรกิจยานยนต์ อสังหาฯ ก่อสร้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า โลจิสติกส์ คมนาคม สัดส่วนรายได้ 50,000 ล้านบาท 7.ธุรกิจอื่น ๆ รายได้ 25,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ medical hub และ wellnesscity คือกลุ่มธุรกิจที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต(New S-curve) ซึ่งเชียงใหม่มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์รวมของการสร้างนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ มีบริการของโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายด้าน ขณะเดียวกัน เชียงใหม่ยังเป็นเมืองสุขภาวะดี (wellness city) ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งคาดว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจนี้จะมีการเติบโตอย่างมาก และจะเป็นธุรกิจดาวรุ่งของเชียงใหม่ที่น่าจับตา และเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ได้ต่อไป
“วี กรุ๊ป” รุกท่องเที่ยวสุขภาพ
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของกลุ่มทุนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ตื่นตัวและรับกระแสธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต คือ กลุ่มวี กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มทุนบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ที่ลงนามความร่วมมือ “โครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” กับโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม พร้อมด้วยโรงแรมฟูราม่า เชียงใหม่, โรงแรมคุ้มพญารีสอร์ทแอนด์สปา เซ็นทาราบูติคคอลเล็กชั่น และไวท์ บูติค โฮเทล แอนด์ สปา ซึ่งโรงแรมทั้ง 3 แห่งเป็นโรงแรมในเครือวี กรุ๊ป โดยได้จัดโครงการ “Health and Wellness Program” ที่จะให้บริการทางด้านสุขภาพและที่พักให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
นายวัชระ ตันตรานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท วี กรุ๊ป จำกัด (V Group) กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำระดับโลก มีชาวต่างชาติเดินทางใช้บริการมากที่สุดทั้งการบริการทางการแพทย์และบริการสุขภาพเชิงป้องกัน โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อนำเสนอความสะดวกสบายทางด้านที่พัก ร่วมกับโปรแกรมการตรวจสุขภาพ ซึ่งแม้ขณะนี้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ตามปกติ แต่ความร่วมมือของเครือวี กรุ๊ป กับโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าราวปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มกลับมา โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะตอบโจทย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้จะมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวคนไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก
สำหรับ “Health and Wellness Program” เป็นโปรแกรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าพักโรงแรมฟูราม่า เชียงใหม่, โรงแรมคุ้มพญารีสอร์ทแอนด์สปา เซ็นทาราบูติคคอลเล็กชั่น และไวท์ บูติค โฮเทล แอนด์ สปา (3 วัน 2 คืน ราคา 4,400 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563-เดือนมิถุนายน 2564) ซึ่งเป็นราคาที่รวมห้องพัก อาหารเช้า และโปรแกรมตรวจสุขภาพแบบละเอียดของโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม
ด้าน ทันตแพทย์ศิระ ฮั่นตระกูล กรรมการบริหาร โรงพยาบาลเชียงใหม่ รามกล่าวว่า โครงการนี้เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้รักสุขภาพได้มาตรวจสุขภาพกับหลากหลายโปรแกรมตามความต้องการ ในราคาเริ่มต้นที่ 4,400 บาทต่อท่าน รวมห้องพักและบริการต่าง ๆ ของโรงแรมพร้อมทั้งโปรแกรมการตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม
ถือเป็นแนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ที่จะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นหลังการคลี่คลายของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ และส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต นับเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่น่าจับตามอง