ททท.ใต้หนุน “ล่องกินถิ่นใต้” ฟื้นท่องเที่ยว-ลุ้นรายได้สิ้นปี 3 แสนล้าน

เกาะห้า จ.กระบี่
เกาะห้า จ.กระบี่

หลังจากเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างปรากฏการณ์ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศไทยให้ชะลอตัวลงและถดถอยเป็นหน้ากระดาน แม้ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลายเป็นไปในทิศทางบวก แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่กลุ่มคนระดับฐานรากไปยังยักษ์ใหญ่ระดับประเทศยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง

หลายจังหวัดพยายามพลิกฟื้นวิกฤตให้กลับมา ด้วยการร่วมมือกับหลายหน่วยงานจัดโปรโมตการท่องเที่ยวอย่างเต็มกำลัง เช่นเดียวกันกับภาคใต้ที่เปิดตัวโครงการ The Localicious โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จับมือกับบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ชูอาหารท้องถิ่นมากระตุ้นการท่องเที่ยวในธีม “ล่องกิน ถิ่นใต้”

“นิธี สีแพร” ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ภาคใต้มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำลำธาร หาดทราย สายลม แสงแดด มีวิถีชีวิตชุมชนที่สวยงาม และสิ่งหนึ่งที่คิดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดีคือเรื่องอาหารการกินที่มีความหลากหลาย เช่น แกงไตปลา แกงเหลือง คั่วกลิ้ง ข้าวยำปักษ์ใต้ เป็นอาหารใต้แท้ที่มีส่วนประกอบของสมุนไพร ทำให้มีสุขภาพดี และอาหารจีนที่หาทานได้ยาก เช่น หมี่ฮกเกี้ยน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอาหารทะเลสด กุ้งมังกร 7 สี สาหร่ายพวงองุ่น หอยนางรมสด มองว่าเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้เลย

นิธี สีแพร
นิธี สีแพร

ทั้งนี้ ทาง ททท.มีโครงการ “คิด…แล้วไปให้ถึง” อยู่แล้วจึงมองต่อยอดว่าทำอย่างไรจะไปให้ถึงภาคใต้ และได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่มีความพร้อม มีการเชื่อมโยงเครือข่ายในออนไลน์อย่าง KTC ซึ่งมีความเข้มแข็งการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ง่ายต่อการเข้าถึงของลูกค้า ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ มียอดผู้ถือบัตรเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพค่อนข้างสูง และมีการเชื่อมต่อกับร้านอาหาร โดยได้คัดเลือกร้านอาหารเบื้องต้น 20 ร้านจากเมืองที่มีอาหารอร่อย มีอาหารเด่นประจำท้องถิ่น มีความพร้อมด้านสายการบินและที่พัก

เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช ผู้ที่สนใจสามารถรับสิทธิพิเศษซื้อบัตรกำนัล (voucher) อาหารในราคา 500 บาท ทานได้ 1,000 บาท ผ่าน KTC World สามารถรับโค้ดส่วนลดการจองที่พัก/เที่ยวบินเส้นทางภาคใต้ 100 บาท จำนวน 200 สิทธิ์ ส่วนลูกค้าทั่วไปรับส่วนลดการจองที่พักเส้นทางภาคใต้ 100 บาท จำนวน 500 สิทธิ์ ผ่านเว็บไซต์หรือแอป Traveloka ที่จะได้ส่วนลดทั้งสายการบินและที่พักกว่า 10-20%

“เราตั้งเป้าคนเข้าร่วมโครงการขั้นต่ำ 1,000 คน โดยมียอดใช้จ่ายคนละประมาณ 5,500 บาท คาดว่าจะสามารถกระจายรายได้ในโครงการนี้ประมาณ 5-6 ล้านบาท เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างการรับรู้ให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในภาคใต้ได้อย่างกว้างขวาง และในช่วงนี้เรามองว่าเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายให้ลูกค้าได้จองก่อนตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 และสามารถรับ voucher ได้ถึงเดือนธันวาคม 2563 เราจะค่อย ๆ เร่งฟื้นฟูการเดินทางของนักท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ โดยไม่กำหนดไฮซีซั่น โครงการนี้เราจะดูผลตอบรับในช่วงสิ้นเดือนกันยายนนี้ หากผลตอบรับดีน่าจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2563 คาดว่าน่าจะมีคนเข้าร่วม 15,000-20,000 คน”

“นิธี” บอกว่า ภาคใต้อาจจะเสียเปรียบการท่องเที่ยวในเรื่องระยะทางและขึ้นชื่อเรื่องราคาแพง แต่ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีส่วนลดมากมาย สายการบินราคาลงมาเกินครึ่ง ที่พักราคาลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ไปจนถึงชุมพร ขณะเดียวกัน กระบี่ พังงาก็ค่อนข้างดี อาจจะมีภูเก็ตที่คนค่อนข้างบางตาอยู่พอสมควร เพราะสถานประกอบการค่อนข้างมาก โดยจะเร่งพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวในส่วนนี้ให้มากขึ้นด้วยการชูแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

สำหรับโครงการ “ภูเก็ตโมเดล” ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกันทั้งภาครัฐ ภาคประชาคมในท้องถิ่นและผู้ประกอบการ มีความเป็นไปได้ว่าภูเก็ตจะเป็นพื้นที่นำร่องพื้นที่แรก แต่ต้องคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยด้านการควบคุมโรคเป็นอันดับแรก ถัดมาคือคนในท้องถิ่นต้องได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และทุกคนต้องมีความเห็นร่วมกันว่าจะยอมรับให้โครงการนี้เกิดขึ้น โดยต้องมีมาตรการกำหนดพื้นที่จำกัด 100% เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ภายในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น พร้อมตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวด

ภูเก็ต

สำหรับรายได้การท่องเที่ยวในภาคใต้ปี 2562 มีมูลค่าเกือบ 9 แสนล้านบาท แต่จากช่วงโควิด-19 ที่ธุรกิจการท่องเที่ยวกลายเป็น 0 จนถึงตอนนี้เริ่มกระเตื้องขึ้นมา 15-20% และพยายามจะดันให้ถึง 30% คาดว่าปี 2563 รายได้จะอยู่ที่ 2-3 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 2564 จะฟื้นขึ้นมาอยู่ที่ 50% หรือรายได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท หากมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นมาอาจจะมีโอกาสที่รายได้จะเพิ่มขึ้นอีก แต่ตอนนี้ได้มุ่งเป้าหมายไปยังนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นหลัก พยายามเรียกร้องให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหันมาทำตลาดคนไทยมากขึ้น

“ตามปกติค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวเฉลี่ยรวม 7,500 บาท/คน นักท่องเที่ยวคนไทยอยู่ที่ 5,500 บาท/คน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 13,000 บาท/คน แต่ตอนนี้เราอยากให้นักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวกันจริง ๆ ตามโครงการเราไม่ได้ตั้งเงื่อนไขอะไรมาก เพราะตอนนี้สู้ภาคอื่นไม่ได้ ต้องบอกว่าภาคใต้เล่นตัวไม่ได้ กลุ่มลูกค้าในกรุงเทพฯ มักเลือกไปจังหวัดใกล้ ๆ มากกว่า


สำหรับผู้ประกอบการนับตั้งแต่ปิดตัวล็อกดาวน์ก็เริ่มทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว อย่างชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เปิดทำการเกือบ 100% กระบี่ ตรัง พังงาประมาณ 50% ส่วนภูเก็ตเริ่มเปิดแล้ว 10-20% หลายคนบอกว่าจะขอกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งหลังเดือนตุลาคม เพราะมองว่าเป็นช่วงไฮซีซั่น และเตรียมการเพื่อให้ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยเครื่องหมาย SHA”