มอเตอร์ไซค์มือ 2 “ภาคใต้-อีสาน” ขาดตลาดหนัก

มอเตอร์ไซค์
ภาพ pixabay

มอเตอร์ไซค์มือ 2 ภาคใต้-อีสาน ขาดตลาดหนัก บริษัทขายรถ-ไฟแนนซ์เข้มสินเชื่อ ทำยอดขายรถใหม่ร่วง 35-40% ผู้ค้ารถมือ 2 แห่จองล่วงหน้า เผยมีนายหน้ากว้านซื้อลอตใหญ่ในภูเก็ตมาขายต่อป้อนตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑล “ฮอนด้า-ยามาฮ่า” ลั่นตลาดรวมปีนี้แค่ 1.5 ล้านคัน

นางอัญมณี วงศ์กาสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท เกริกไกร เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้ามือ 1 และมือ 2 รายใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากเกิดสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดทำให้รถจักรยานยนต์มือ 2 มียอดขายดีขึ้น อีกทั้งรถมอเตอร์ไซค์มือ 1 ไฟแนนซ์อนุมัติยากกว่าเดิม และตรวจสอบเอกสารเข้มงวดมากขึ้น

ทำให้ลูกค้าหันมาซื้อมือ 2 มากขึ้น อีกทั้งใช้เงินซื้อน้อยกว่า ตอนนี้รถมอเตอร์ไซค์มือ 2 ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า บริษัทต้องประมูลรถที่ถูกยึดจากบริษัทไฟแนนซ์มาจำหน่าย ซึ่งราคาประมูลแต่ละรอบก็จะค่อนข้างสูง โดยยอดการจำหน่ายรถมือ 2 แต่ละเดือนอยู่ที่ประมาณ 30-40 คัน หากมีรถเพียงพอคาดว่าจะมียอดจำหน่าย และความต้องการอีกเป็นจำนวนมาก

ส่วนรถมือ 1 จากเดิมเคยจำหน่ายมากกว่าเดือนละ 2,000 คัน แต่ตอนนี้เหลือเพียงเดือนละ 1,000 คัน โดยรถมือ 1 กับมือ 2 ราคาต่างกันอยู่ที่ 10,000-20,000 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพรถและรุ่นนิยม แต่ที่เข้ามาเสริมรายได้ช่วงนี้จะเป็นยอดขายอะไหล่ และศูนย์บริการลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

อยากฝากถึงรัฐบาลเรื่องปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนมากขึ้น ลดความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อ ให้โอกาสผู้ประกอบการทั้งรายใหม่รายเก่า ส่วนของลูกค้าขอให้ไฟแนนซ์ให้โอกาสลูกค้ามากกว่าเดิม เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ และลูกค้าได้ใช้บริการ

พัทลุงมือ 2 ขาดตลาดหนัก

นายสัญญา ศรีสมพงศ์ เจ้าของร้านแสงอรุณเซอร์วิส ซ่อมมอเตอร์ไซด์ จำหน่ายอะไหล่ และรับซื้อขายรถมือ 2 เทศบาลตำบลควนเสาธง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดรถจักรยานยนต์มือสองเริ่มขาดตลาดมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน สาเหตุมาจากความต้องการที่มีมากขึ้น เพื่อใช้ในงานการเกษตร สวนยางพารา สวนผลไม้ ปลูกพืชผัก และประกอบ 3 ล้อพ่วงข้าง ทำให้มีผู้ไปหาซื้อรถเก่าจากร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งมีรถจักรยานยนต์เก่านำมาขายเป็นเศษเหล็ก

ส่งผลให้ปัจจุบันราคาจักรยานยนต์มือสองขยับสูงขึ้น ราคาขั้นต่ำสุดต้องจ่ายเป็นเงินสด 15,000 บาทสูงสุด 35,000 บาท ประเภทสตาร์ตมือ42,000-45,000 บาท หากเปรียบเทียบราคาเงินสดกับรถจักรยานยนต์ใหม่ 60,000 บาท และเงินผ่อน 80,000 บาทเช่น ฮอนด้าเวฟ 125 เป็นต้น มีส่วนต่างเกือบ 30,000 บาท

ขณะที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ 3 ล้อพ่วงข้างมีอัตราการขยายตัวเติบโตดี ราคาประมาณ 7,000 บาท/คัน บางเดือนขายได้ 10 คัน/เดือน ทั้งนี้ รถจักรยานยนต์มือสองที่นิยมยังเป็นยี่ห้อฮอนด้าเวฟ ซูซูกิ ส่วนคาวาซากิ ยามาฮ่า จะขยายตัวในตลาดรถใหญ่บิ๊กไบก์

นายเอกภัทร ภัทร์รัศมี ประธานกรรมการ บริษัท เอกภัทร สามเอก จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ซูซูกิ ยามาฮ่า จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ปี 2563 ยอดจำหน่ายภาพรวมลดลงกว่าปี 2562 ประมาณ 35-45% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมลดลง ภาพรวมยอดขายรถจักรยานยนต์ จ.พัทลุง ทั้งปีซึ่งปีนี้เป็นรถใหม่ 8,000-10,000 คัน เฉลี่ยขายได้ต่อเดือน 600-800 คัน จากปกติก่อนเกิดโควิดขายได้เฉลี่ย 18,000 คัน/ปี หรือเฉลี่ย 1,500 คัน/เดือน

ส่วนปัญหารถจักรยานยนต์มือสองที่ขาดตลาดนั้น เนื่องจากตลาดรถจักรยานยนต์ใหม่ยอดขายลดลง เพราะบริษัทไฟแนนซ์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น รถที่นำมาคืนหรือถูกยึดคืนจึงมีปริมาณน้อยและรถที่คืนมาทางบริษัทสามารถขายออกได้ภายใน 3-4 วัน โดยกลุ่มผู้ค้ารถมือ 2 จะจองล่วงหน้าเหมาซื้อทั้งหมด

เร่ซื้อรถภูเก็ตป้อนกทม.-อีสาน

แหล่งข่าวจากร้านค้ารถจักรยานยนต์มือสองจังหวัดภูเก็ตหลายร้านให้ข้อมูลตรงกันว่า ร้านขายรถจักรยานยนต์มือสองในภูเก็ตมีเกือบ 100 ร้าน โดยถนนแต่ละเส้นมีร้านขายรถจักรยานยนต์มือสองตั้งอยู่หลายร้าน ปัจจุบันแต่ละร้านต่างประสบปัญหายอดขายตกเหมือนกันหมด เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นที่มาทำงานในภูเก็ต รวมถึงนักท่องเที่ยวที่หดหายไป ส่วนคนต่างถิ่นตกงานก็กลับภูมิลำเนาจึงนำรถมาขายคืน

ขณะที่ธุรกิจให้เช่ารถจักรยานยนต์แก่นักท่องเที่ยว ได้นำรถออกมาประมูลขายลอตใหญ่จำนวนมาก ช่วงแรกที่เปิดประมูลขาย ผู้ประกอบการธุรกิจรถมือสองต่างไปแย่งเสนอราคาประมูลกัน แต่เมื่อขายไม่ได้ แต่ละรายจึงเหลือสต๊อกจำนวนมากเป็น 100 คันขึ้นไป ทำให้การประมูลไม่คึกคักเหมือนก่อน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในเมืองท่องเที่ยวจะมีรถจักรยานยนต์มือสองจำนวนมาก ทำให้ที่ผ่านมามีนายหน้าเข้ามาหาซื้อรถมอเตอร์ไซค์ในภูเก็ตลอตใหญ่ ๆไปขายต่อยังจังหวัดภาคกลางทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงส่งไปขายที่ภาคอีสาน ซึ่งยังต้องการอยู่มากตั้งแต่ 30-100 กว่าคันขึ้นไป

“มีบางร้านที่ภูเก็ตขายรถมอเตอร์ไซค์มือสองผ่านตลาดออนไลน์ มีลูกค้าจากจังหวัดไกล ๆ ทั้งกทม. เพชรบูรณ์ มาติดต่อเพราะได้ราคาถูกกว่า และเลือกรุ่นที่ต้องการได้ ถึงทางร้านจะบวกค่าขนส่งแล้วยังราคาถูกกว่าที่ซื้อจากร้านรถมอเตอร์ไซค์ที่กรุงเทพฯ เพียงแต่ไม่มีการรับประกันการซ่อม ต้องใช้ความเชื่อใจกันในเรื่องคุณภาพ” แหล่งข่าวกล่าว

ยอดขายมือ 2 เชียงใหม่วูบ

นายจำเริญ ยศ เจ้าของร้านลุงเริญมอเตอร์ ตลาดรวมโชค เทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ลดลงตั้งแต่ต้นปีที่เศรษฐกิจไม่ดี ต่อเนื่องด้วยโรคโควิด-19 อีก คนตกงานไม่มีเงินผ่อน ในภาวะปกติยอดขายจะอยู่ประมาณ 50 คันต่อเดือน ปัจจุบันยอดขายเหลือประมาณ 30 คัน ในจำนวนนี้ปรากฏว่า มีอีก 10 คันที่คนซื้อไปแล้วไม่สามารถผ่อนต่อได้ ทำให้ยอดขายจริงเหลือประมาณ 20 คันต่อเดือน

ส่งผลให้ทางร้านเหลือสต๊อกจำนวนมาก ที่ผ่านมามีคนทำธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์ให้นักท่องเที่ยวฝรั่งและคนจีนเช่าขับขี่ แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดโควิดไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้นำรถมาขายให้เต็นท์รถมือสองจำนวนมาก แต่ตอนนี้ทางร้านรับซื้อไม่ไหวแล้ว เพราะสต๊อกเหลือจำนวนมาก

แหล่งข่าวอีกรายจากร้านขายจักรยานยนต์มือสองในตลาดรวมโชค จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตลาดรวมโชคถือเป็นแหล่งใหญ่ที่ขายจักรยานยนต์มือสองในเชียงใหม่ โดยมีผู้ประกอบการประมาณ 10 ร้าน ช่วงเศรษฐกิจดี มีเงินสะพัดนับ 10 ล้านบาท แต่ละร้านมียอดขายไม่ต่ำกว่า 50 คันต่อเดือน ปัจจุบันแต่ละร้านขายได้เฉลี่ยเดือนละ 10 คัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวตกงานไม่มีรายได้ ส่งผลให้ยอดขายรถตกลงมามาก

นายณรงค์ คองประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญมอเตอร์เชียงใหม่ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 ค่อนข้างซบเซา ในส่วนของยามาฮ่าที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่นั้น พบว่ายอดขายรถใหม่ลดลง 15% จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและวิกฤตโควิด ส่งผลให้กำลังซื้อหายไป ประกอบกับการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและไฟแนนซ์ ทำให้ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีลูกค้าจำนวนมากไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อ

ขณะที่ตลาดรถจักรยานยนต์มือสองพบว่า ยอดขายลดลง 10-15% แม้ราคาจะถูกกว่ารถใหม่ แต่การจำหน่ายกลับไม่คึกคัก เพราะตลาดมีกำลังซื้อต่ำและการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มมากของไฟแนนซ์ จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วงถึงสถานการณ์ในระยะต่อไปเมื่อมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากโควิดหมดเวลาการผ่อนผันลง หากยังไม่มีมาตรการขยายความช่วยเหลือต่อ คาดว่าการยึดรถของบริษัทไฟแนนซ์จะเพิ่มสูงขึ้น

ชี้ทั้งตลาดขายได้ 1.5 ล้านคัน

แหล่งข่าวระดับบริหารจากค่ายรถจักรยานยนต์รายใหญ่ทั้งฮอนด้า-ยามาฮ่า กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในทิศทางเดียวกันว่า สภาพตลาดรถจักรยานยนต์ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบโควิดทำให้ดีมานด์-ซัพพลายไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากผู้ประกอบการหยุดผลิตมาระยะหนึ่ง ทำให้ไม่มีรถใหม่ออกสู่ตลาด ขณะที่ความต้องการยังมีต่อเนื่อง ส่งผลให้รถจักรยานยนต์มือสองมีความคึกคัก แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มดีขึ้น คาดว่าทั้งรถมือสองและรถใหม่จะมียอดขายที่สอดคล้องกันไป

“ส่วนหนึ่งที่ตลาดมือสองยังไปได้ ต้องยอมรับว่ารายได้คนลดลงแต่ยังมีความจำเป็นต้องมีรถไว้ใช้งาน บวกกับที่ผ่านมารถใหม่ลดกำลังผลิต ทำให้ภาพรวมของรถมือสองดูบูมขึ้น”

ส่วนตลาดรถจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อ (รถใหม่) ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาลดลง 15% คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางนี้ คือ ยอดขายลดลง 15% จากปีก่อน หรือมียอดรวมทั้งตลาดราว 1.5 ล้านคัน