“เชียงใหม่” งัดแผนสยบควันปี’64 วางกลยุทธ์ดึงชุมชนร่วม

นับถอยหลังอีกไม่ถึง 2 เดือน พื้นที่ภาคเหนือกำลังจะเข้าสู่ฤดูแห่งการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งประเด็นปัญหานี้ไม่ได้คลี่คลายตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นวิกฤตฝุ่นควันในพื้นที่เชียงใหม่และภาคเหนือรุนแรงขั้นสูงสุด โดยเฉพาะค่า PM 2.5 ของเชียงใหม่ที่ช่วงหนึ่งเคยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 275-500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีค่า PM สูงที่สุดในโลกต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุหลักเกิดมาจากการลักลอบเผาป่า เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่กระทบการท่องเที่ยว แต่ยังกระทบต่อสุขภาพของคนในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

มีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาฝุ่นควันพิษ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว และด้านสุขภาพ พบว่าได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ในระดับจังหวัดเชียงใหม่และระดับภาคเหนือ โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาผลกระทบจากเรื่องของ PM 2.5 สร้างความเสียหายให้แก่จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่ากว่า 48,400 ล้านบาท และในระดับภาคเหนือ 1.6 แสนล้านบาทต่อปี จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไป 16% ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป18% ขณะที่ปี 2562 ในช่วง 3 เดือนกระทบไปถึง 6 พันล้านบาท และผลกระทบในปี 2563 ตัวเลขก็ไม่แตกต่างกัน

ความท้าทายวิกฤตฝุ่นควันในปีนี้ได้มีการตื่นตัวและเตรียมรับมืออย่างเข้มข้นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประชาสังคมในพื้นที่ ล่าสุดจังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศกรอบแนวทางแผนการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2564 ที่ได้วางแผนงานเชิงกลยุทธ์ มุ่งการลดพื้นที่เผาไหม้ลงไม่น้อยกว่า 3 แสนไร่ ควบคู่กับเป้าหมายลดจุดความร้อน hot spots ลง 25% พร้อมกับจัดทำแผนระดับหมู่บ้านให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563 เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

โดยการใช้ข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงคือ พื้นที่รักษาเหมือนไข่ในหิน60% พื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิง40% พื้นที่ทำแนวกันไฟ ระยะทาง 2,020 กิโลเมตร พื้นที่จัดทำฝายถาวรจำนวน 98 แห่ง และพื้นที่ปลูกฟื้นฟู แนวกันไฟป่าเปียก 1,500 ไร่

นอกจากนั้นคือการกำหนดโซนจัดการไฟเหนือ-ใต้ โดยกำหนดโควตาพื้นที่จัดการเชื้อเพลิงไม่ให้เกิน 5 แสนไร่ พร้อมกับกำหนดพื้นที่ไร่หมุนเวียนข้าวไร่ ให้สำรวจข้อมูลพื้นที่ให้เสร็จภายในเดือนมกราคม 2564 ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าวไร่เดิมมีประมาณ 64,000 ไร่ ในเขตอำเภออมก๋อย อำเภอแม่แจ่ม อำเภอกัลยาณิวัฒนา และอำเภอสะเมิง โดยให้บริหารจัดการระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564

เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การรับมือกับฝุ่นควันในปี 2564 ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและเข้มข้น โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเต็มที่จากหลายส่วนทั้งงบฯปกติของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง งบฯของ อปท. และงบฯจากหน่วยงานภาคเอกชน โดยจะนำลงสู่ชุมชนแต่ละพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนในการแก้ปัญหาฝุ่นควันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วโรดม ปิฏกานนท์ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ และประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้หอการค้าไทยได้เร่งการผลักดันพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เป็นฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วต่างมีกฎหมายนี้ เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษ พร้อมทั้งวางบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามด้วย ทั้งนี้ ยังต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีที่กฎหมายนี้จะประกาศใช้

จุดยืนของภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าในระยะยาวทุกภาคส่วนควรสร้างกลไก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม จึงได้นำเสนอแนวทาง เร่งแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการ 5 ส่วนหลักเป็นไปในเชิงนโยบาย คือ 1.การทบทวนปัญหาหมอกควันเชิงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ

อาทิ การประมวลงานวิจัยทั้งหมดและประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่ตรงประเด็น 2.การสำรวจผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำภาคเอกชน และผู้นำภาคประชาสังคม พร้อมทั้งจัดเวทีประชุมกลุ่มย่อย ส่วนราชการระดับภูมิภาค/จังหวัด ผู้นำภาคเอกชนระดับภูมิภาค/จังหวัด และผู้นำภาคประชาสังคมระดับภูมิภาค เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม

3.จัดทำร่างแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการแก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนืออย่างยั่งยืน และการขยายโมเดลที่ประสบความสำเร็จให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด 4.การใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาแก้ไขปัญหา และ 5.การสื่อสารประเด็นของผลกระทบสู่สาธารณชน เป็นต้น

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า การดำเนินงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ในช่วงระยะ 1 ปี ที่ได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาฝุ่นควันเชียงใหม่อย่างจริงจัง กล่าวได้ว่า ได้ทำให้การแก้ปัญหามีการเตรียมตัวมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่ได้ทำเฉพาะหน้าในช่วงสถานการณ์ฝุ่นควันเหมือนในอดีต

ซึ่งเดิมทีการแก้ปัญหาใช้วิธีสั่งการ ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม บูรณาการทุกภาคส่วน ซึ่งเราพบว่าการห้ามเผา ชาวบ้านไม่รับ แต่กลับทำให้เกิดการเผาใต้ดินคือลักลอบเผาเพิ่มมากขึ้น จึงต้องปรับใหม่คือ ไฟไม่จำเป็นทั้งหมดต้องห้ามเผา ส่วนไฟที่จำเป็นให้ทำแนวกันไฟ ต้องเตรียมป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหาด้วยการดับไฟเฉพาะหน้า

“เราคาดหวังว่าฝุ่นควันในปี 2564 จะลดลง เพราะตอนนี้การขับเคลื่อนของสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้ทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นเป้าหมายตรงกัน ผนึกกำลังกันได้พอสมควร”

บัณรส บัวคลี่ กรรมการสภาลมหายใจเชียงใหม่ ฝ่ายสื่อมวลชน กล่าวว่า รูปธรรมของการทำงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาของสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้เน้นหนักเรื่องการรณรงค์เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการทำแอนิเมชั่นเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นควัน ให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาในปี 2564

ถือเป็นปีแรกที่หน่วยงานภาครัฐทั้งระดับจังหวัด และ อปท.จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาในระดับชุมชน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1 พันหมู่บ้าน แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาฝุ่นควันปี 2564 จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในภาพใหญ่ กล่าวคือ หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่นจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังต่อปัญหานี้

นับเป็นความท้าทายที่ต้องก้าวผ่านเพื่อขับเคลื่อนสยบปัญหา “ฝุ่นควันเชียงใหม่ ปี 2564” ให้ลดระดับความรุนแรงลง